ระบบการเขียน ของ ภาษาจีนหมิ่น

เมื่อมีการใช้อักษรจีนเขียนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาจีนกลางจะใช้ตัวอักษรที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาที่ใช้ และประดิษฐ์อักษรใหม่สำหรับคำที่ไม่มีในภาษาจีนดั้งเดิม ในบางกรณีมีการออกเสียงต่างไป หรืออาจจะมีความหมายต่างไป ซึ่งการเขียนภาษาจีนกวางตุ้งได้ใช้การเขียนในลักษณะนี้ ในที่สุด การเขียนแบบนี้จะไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับผู้พูดภาษาจีนกลาง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของไวยากรณ์ คำศัพท์ และใช้ตัวอักษรที่ไม่มีในภาษาจีนกลางจำนวนมาก

ภาษาหมิ่นได้พัฒนาด้วยระบบนี้เช่นกัน แต่ไม่มีระบบมาตรฐานสำหรับภาษาหมิ่น แม้จะมีการออกแบบอักษรเฉพาะ ซึ่งจะมีคำยืมจากภาษาอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษาจีน เช่น คำในภาษาท้องถิ่นของในเกาะไต้หวัน ที่มีในภาษาไต้หวัน รวมทั้งคำยืมจากภาษาญี่ปุ่น ในสิงคโปร์ มาเลเซีย ภาษาจีนหมิ่นจะมีคำยืมจากภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และอื่น ๆ การเขียนภาษาหมิ่นด้วยอักษรจีนล้วนๆจึงไม่แสดงการพูดภาษาหมิ่นจริง ๆ แต่จะเป็นรูปแบบของภาษาจีนกลางอยู่มาก

มีความพยายามใช้อักษรละตินในการเขียนภาษาหมิ่น บางกลุ่มใช้อักษรละตินแบบที่ใช้โดยมิชชันนารีหรือเจียวฮุย ลัวมาจือ (ภาษาจีน: 教會羅馬字; พินอิน: Jiaohui Luomazi) สำหรับภาษาหมิ่นใต้ จะใช้ระบบการเขียนด้วยอักษรละตินที่เรียก เปะอั่วจี (Pe̍h-ōe-jī; POJ) และระบบสำหรับภาษาหมิ่นตะวันออกที่เรียก ปั้งอั๋วเส (Bàng-uâ-cê; BUC) ทั้งสองระบบคิดค้นโดยมิชชันนารีขาวต่างชาติในพุทธศตวรรษที่ 24 มีการเขียนแบบไม่เป็นทางการที่ใช้อักษรจีนควบคู่กับอักษรละตินสำหรับคำที่ไม่มีอักษรจีนกำกับ