ระบบการเขียน ของ ภาษาตุรกี

ภาษาตุรกีปัจจุบันใช้อักษรละตินที่ดัดแปลงเป็นแบบของตนเอง โดยอักษรรูปแบบดังกล่าวได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2471 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปวัฒนธรรมของอตาเติร์ก เดิมภาษาตุรกีเขียนด้วยอักษรอาหรับแบบตุรกี แต่อักษรแบบดังกล่าวมีรูปเขียนสำหรับเสียงสระยาวเพียงแค่สามรูป ทั้ง ๆ ที่ภาษาตุรกีมีเสียงสระถึงแปดเสียง และยังมีอักษรบางตัวที่แทนเสียงที่ซ้ำกันในภาษาตุรกี (แต่ไม่ซ้ำกันในภาษาอาหรับ คล้ายกับอักษรไทยที่มีทั้ง ศ ษ และ ส ซึ่งมาจากอักษรที่แทนเสียงที่แตกต่างกันในภาษาสันสกฤต) การปฏิรูปดังกล่าวจึงทำให้ได้ตัวเขียนที่เหมาะสมกับภาษาตุรกีมากกว่าอักษรแบบเดิม

การปฏิรูประบบเขียนจึงเป็นก้าวสำคัญในช่วงการปฏิรูปวัฒนธรรม การจัดเตรียมตัวอักษรแบบใหม่รวมทั้งการเลือกอักษรที่พิ่มเติมจากอักษรละตินแบบมาตรฐานนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการภาษา ซึ่งประกอบด้วยนักภาษาศาสตร์ นักวิชาการ และนักเขียน ระบบการเขียนแบบใหม่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การศึกษาของรัฐตามภูมิภาคต่าง ๆ และยังได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งความพยายามของอตาเติร์กเอง ที่ได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อสอนระบบการเขียนแบบใหม่นี้[17] ซึ่งทำให้อตราการรู้หนังสือของตุรกีเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก[18]

อักษรละตินสำหรับภาษาตุรกีประกอบด้วยอักษรทั้งหมด 29 ตัว โดยอักษรที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ Ç Ğ I İ Ö Ş และ Ü และไม่มี Q W และ X โดยอักษร I จะมีสองแบบ คือแบบมีจุด (İ,i) และแบบไม่มีจุด (I,ı) ซึ่งต่างจากอักษรละตินมาตรฐาน ที่ตัวพิมพ์เล็กจะมีจุด แต่ตัวพิมพ์ใหญ่จะไม่มีจุด

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาษาตุรกี http://www.ethnologue.com/show_family.asp?subid=90... http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=t... http://www.tns-opinion.com http://www.zft-online.de http://www.lmp.ucla.edu/Profile.aspx?LangID=67&men... http://ec.europa.eu/public_opinion/archives/ebs/eb... http://links.jstor.org/sici?sici=0032-4701(195804)... http://www.jstor.org/journals/00324701.html%7Clays... http://www.transoxiana.org/Eran/Articles/alyilmaz.... http://www.tusiad.org/haberler/basin/ab/9.pdf