ประวัติศาสตร์ ของ ภาษาตุรกี

จารึกของภาษากลุ่มเตอร์กิกเก่าสุดพบในบริเวณที่เป็นประเทศมองโกเลียปัจจุบัน จารึกบูคุตเขียนด้วยอักษรซอกเดียมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 .[6][7]จารึกอักษรออร์คอนมีอายุย้อนหลังไปได้ราว พ.ศ. 1275 – 1278 จารึกที่พบบริเวณหุบเขาออร์คอนจำนวนมากจัดเป็นภาษาเตอร์กิกโบราณเขียนด้วยอักษรออร์คอนที่มีลักษณะคล้ายอักษรรูนส์ในยุโรป [8]

ผู้คนที่พูดภาษากลุ่มเตอร์กิกได้แพร่กระจายออกจากเอเชียกลางในยุคกลางตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16) โดยกระจายอยู่ตั้งแต่ยุโรปตะวันออก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงไซบีเรีย กลุ่มโอคุซเติร์กได้นำภาษาของตนคือภาษาเตอร์กิกแบบโอคุซเข้าสู่อนาโตเลียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 .[9] ในช่วงนี้ได้มีนักภาษาศาสตร์ Kaşqarli Mahmud เขียนพจนานุกรมของภาษาเตอร์กิก

ภาษาตุรกีออตโตมัน

เมื่อศาสนาอิสลามแพร่มาถึงบริเวณนี้ เมื่อราว พ.ศ. 1393 ชาวเซลจุกเติร์กซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมออตโตมันได้ปรับการใช้ภาษาโดยมีคำยืมจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียเข้ามามาก วรรณคดีในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซียมาก ภาษาในการเขียนและภาษาราชการในยุคจักรวรรดิออตโตมันเป็นภาษาผสมระหว่างภาษาตุรกี ภาษาอาหรับ และภาษาเปอร์เซีย ซึ่งต่างจากภาษาตุรกีที่ใช้ในประเทศตุรกีปัจจุบันและมักเรียกว่าภาษาตุรกีออตโตมัน

การปรับรูปแบบของภาษาและภาษาตุรกีสมัยใหม่

ลักษณะเด่นของภาษาตุรกี คือใช้ตัว I ทั้งสองแบบเป็นอักษรคนละตัวกัน ได้แก่แบบมีจุด ออกเสียง อี และแบบไม่มีจุด ออกเสียง อือ หรือ เออ

อัตราการรู้หนังสือก่อนการปรับรูปแบบภาษาในตุรกี (พ.ศ. 2470) ในผู้ชายคิดเป็น 48.4% และผู้หญิงเป็น 20.7% [10] หลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีและเปลี่ยนระบบการเขียน มีการตั้งสมาคมภาษาตุรกีเมื่อ พ.ศ. 2475 สมาคมได้ปรับรูปแบบของภาษาโดยแทนที่คำยืมจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียด้วยคำดั้งเดิมของภาษาตุรกี [11] มีการสร้างคำใหม่โดยใช้รากศัพท์จากภาษาตุรกีโบราณที่เลิกใช้ไปนาน

ผลจากการเปลี่ยนแปลงภาษาโดยกะทันหันนี้ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ในตุรกีใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน คนรุ่นที่กิดก่อน พ.ศ. 2483 ใช้ศัพท์ที่มาจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย ส่วนคนที่เกิดหลังจากนั้นใช้คำศัพท์ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ การปราศัยของอตาเติร์กในการเปิดประชุมสภาครั้งใหม่เมื่อ พ.ศ. 2470 ใช้ภาษาแบบออตโตมันซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกไปจากภาษาในปัจจุบันจนต้องมีการแปลเป็นภาษาตุรกีสมัยใหม่ถึงสามครั้งคือเมื่อ พ.ศ. 2506, 2529 และ 2538 [12]

นอกจากนี้ สมาคมภาษาตุรกียังมีการเพิ่มศัพท์เทคนิคทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งโดยมากมาจากภาษาอังกฤษ แต่ก็มีคำศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาแล้วแต่ไม่เป็นที่นิยม เช่น bölem (พรรคการเมือง) ถูกกำหนดให้ใช้แทนคำเดิมคือ firka แต่คำที่ใช้โดยทั่วไปเป็น parti จากภาษาฝรั่งเศส หรือบางคำใช้ในความหมายที่ต่างไปจากที่กำหนด เช่น betik (หนังสือ) ปัจจุบันใช้ในความหมายของระบบการเขียนในคอมพิวเตอร์ คำบางคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่ยังใช้ควบคู่กับศัพท์เดิมโดยคำศัพท์เดิมเปลี่ยนความหมายไปเล็กน้อย เช่น dert (มาจากภาษาเปอร์เซีย dard หมายถึงเจ็บปวด) ใช้หมายถึงปัญหาหรือความยุ่งยาก ส่วนความเจ็บปวดทางร่างการยใช้ ağrı ที่มาจากภาษาตุรกี ในบางกรณี คำยืมมีความหมายต่างไปจากคำในภาษาตุรกีเล็กน้อยแบบเดียวกับคำยืมจากภาษากลุ่มเยอรมันและภาษากลุ่มโรมานซ์ในภาษาอังกฤษ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาษาตุรกี http://www.ethnologue.com/show_family.asp?subid=90... http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=t... http://www.tns-opinion.com http://www.zft-online.de http://www.lmp.ucla.edu/Profile.aspx?LangID=67&men... http://ec.europa.eu/public_opinion/archives/ebs/eb... http://links.jstor.org/sici?sici=0032-4701(195804)... http://www.jstor.org/journals/00324701.html%7Clays... http://www.transoxiana.org/Eran/Articles/alyilmaz.... http://www.tusiad.org/haberler/basin/ab/9.pdf