การกระจายตามเขตภูมิศาสตร์ ของ ภาษาบีซู

มีผู้พูดภาษาบีซูทั้งหมดราว 3,000 คน โดยในประเทศจีนมี 2,000 คน (พ.ศ. 2542) โดยเป็นผู้ที่พูดได้ภาษาเดียว 500 คน พบบริเวณสิบสองปันนา ในมณฑลยูนนานตะวันตกเฉียงใต้ หมู่บ้านเหมิ่งเจอ (勐遮乡, Mĕngzhē) ในอำเภอเหมิงไห่ (勐海县, Mĕnghǎi) ในเขตหมู่บ้านจิ่งซิ่น (景信乡, Jǐngxīn) ฟู่หยาน (富岩镇, Fùyán) และหนานหย่า (南雅乡, Nányǎ) ในอำเภอเมิ่งเหลียน (孟连县, Mènglián) และบางส่วนของอำเภอซีเหมิง (西盟县, Xīméng) ผู้พูดภาษานี้ในจีนกำลังเปลี่ยนไปใช้ภาษาละหู่หรือภาษากะได ส่วนใหญ่ใช้ในหมู่ผู้ใหญ่ และเด็กใช้ภาษานี้กับผู้ใหญ่ ผู้พูดภาษานี้ในจีนร้อยละ 80 พูดภาษาละหู่ ภาษากะได หรือภาษาจีนได้ด้วย และมีร้อยละ 10 ที่พูดภาษาเหล่านี้ได้ทั้งหมดรวมทั้งภาษาฮานี

ผู้พูดภาษาบีซูได้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณประเทศลาว พม่า และไทยเนื่องจากภัยสงครามในสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง ปัจจุบันในไทยมีประชากรที่พูดภาษาบีซูทั้งสิ้นประมาณ 500 คน[2] ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้าน 3 หมู่บ้านของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ บ้านดอยชมภู หมู่ที่ 7 ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว, บ้านปุยคำ หมู่ที่ 14 ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย และบ้านผาแดง ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านผาจ้อ หมู่ที่ 10 ตำบลสันกลาง อำเภอพาน[3] ภาษาบีซูในแต่ละหมู่บ้านมีคำศัพท์และการออกเสียงต่างกันเล็กน้อย[2]