ความเป็นมาของชาวผู้ไทในสยาม ของ ภาษาผู้ไท

เมื่อ พ.ศ. 2369 (ก่อนสงครามเจ้าอนุวงศ์) ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เมืองวังมีความวุ่นวาย เกิดขัดแย้งภายในของกลุ่มผู้ไท ที่มีเมืองวังเป็นเมืองหลัก ได้มีไทครัวผู้ไทกลุ่มหนึ่งอพยพมาตั้งบ้านเรือนในฝั่งขวาแม่น้ำโขง มีนายไพร่ รวม 2,648 คน ต่อมาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย ในปี พ.ศ. 2373 พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมืองยโสธร ว่าราชการอยู่เมืองนครพนมได้มีใบบอกขอตั้งบ้านดงหวายเป็นเมือง "เรณูนคร" ต่อมา ร.3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านบุ่งหวาย ขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร และตั้งให้ ท้าวสาย หัวหน้าไทครัวผู้ไทเป็น "พระแก้วโกมล" เจ้าเมืองเรณูนคร คนแรก ขึ้นเมืองนครพนม(ในปี พ.ศ. 2387) ซึ่งคือท้องที่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนมในปัจจุบันนั่นเอง (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ) ชาวผู้ไทเรณูนคร จึงเป็นชาวผู้ไทกลุ่มแรกที่อพยพมาอยู่ในเขตฝั่งขวาแม่น้ำโขง(หมายถึงผู้ไทที่เป็นบรรพบุรุษของคนผู้ไทในอิสานปัจจุบัน)

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2387 ผู้ไทจากเมืองวังอ่างคำและเมืองใกล้เคียง ก็อพยพตามมา เป็นกลุ่มที่ 2 แล้วไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพรรณานิคม (จังหวัดสกลนคร) เมืองคำชะอี หนองสูง (จังหวัดมุกดาหาร) เมืองกุดสิมนารายณ์ (อำเภอเขาวงและอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์)ตามลำดับ โดยผู้ไทกลุ่มจากเมืองกะป๋องได้อพยพมาตั้งที่เมืองวาริชภูมิเป็นกลุ่มผู้ไทที่ข้ามมาฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลุ่มล่าสุด (ในปี พ.ศ. 2420 ในสมัยรัชกาลที่ 5)