การจัดจำแนกและสำเนียง ของ ภาษามองโกเลีย

ภาษามองโกเลียจัดเป็นภาษาในกลุ่มภาษามองโกล ซึ่งสมาชิกในกลุ่มนี้รวมทั้งภาษามองโกลคามนิกันและภาษาดากูร์ ที่ใช้พูดทางตะวันออกของมองโกเลียและในซินเจียงอุยกูร์ ภาษาชิรายูกูร์ ภาษาบอนัน ภาษาต้งเซี่ยง ภาษามองเกอร์ และภาษากังเจีย ที่ใช้พูดในบริเวณชิงไห่และกานซู และอาจรวมถึงภาษาโมโฆลที่เป็นภาษาตายไปแล้วในอัฟกานิสถาน เส้นแบ่งระหว่างการเป็นสำเนียงและเป็นภาษาเอกเทศภายในกลุ่มภาษามองโกลยังเป็นที่โต้เถียงกัน

สำเนียงคอลคาถือเป็นสำเนียงมาตรฐานของภาษามองโกเลีย แต่การกำหนดสำเนียงย่อยยังมีความเห็นต่างกัน Sanžeev (1953) เสนอว่าภาษามองโกเลียมี 3 สำเนียงคือ คอลคา ชาคาร์ และออร์ดอส ส่วนบูร์ยัตและโอยรัตเป็นภาษาเอกเทศ Luvsanvandan (1959) เสนอต่างไปว่าภาษามองโกเลียประกอบไปด้วยกลุ่มสำเนียงกลาง (คอลคา ชาคาร์ ออร์ดอส) กลุ่มสำเนียงตะวันออก (คาร์ชิน คอร์ชิน) กลุ่มสำเนียงตะวันตก (โอยรัต คาลมึกซ์) และกลุ่มสำเนียงเหนือ (ภาษาบูร์ยัตทั้งสองสำเนียง) นักวิชาการตะวันตกบางกลุ่มแยกภาษาออร์ดอสออกมาเป็นภาษาเอกเทศ ในมองโกเลียใน แบ่งภาษามองโกเลียเป็น 3 สำเนียงคือ สำเนียงมองโกเลียใต้ สำเนียงโอยรัต และสำเนียงบาร์ฆู-บูร์ยัต