ประวัติ ของ ภาษาอ็อบเจกทีฟ-ซี

ในช่วงต้นของปี 1980s วิศวกรรมซอฟต์แวร์นิยมออกแบบโปรแกรมแบบโครงสร้าง เรานิยามการออกแบบโปรแกรมแบบโครงสร้างขึ้นเพื่อแยกย่อยโปรแกรมขนาดใหญ่ลงเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการเมื่อโปรแกรมมีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ดี โปรแกรมแบบโครงสร้างก็มีประโยชน์น้อยลงเมื่อขนาดของปัญหาใหญ่ขึ้น เพราะต้องเขียน procedure จำนวนมากเพื่อรองรับปัญหาที่ใหญ่ขึ้น และทำให้รหัสคำสั่งมีความซับซ้อนและยุ่งเหยิง

ทางเลือกหนึ่งสำหรับแก้ปัญหาดังกล่าวคือการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ ที่จริงแล้วภาษาสมอลล์ทอล์กก็ได้แก้ไขข้อบกพร่องในกระบวนการวิศวกรรมซอฟต์แวร์เหล่านี้ แต่ในอดีตสมอลทอล์คก็มีปัญหาในแง่ของความเร็วและการใช้หน่วยความจำมากเนื่องจากคอมพิวเตอร์ในสมัยก่อนมีข้อจำกัดมากกว่าในปัจจุบัน

ในต้นยุค 80 Brad Cox และ Tom Love ได้ให้พัฒนาภาษาอ็อบเจ็กทีฟ-ซีขึ้นที่บริษัท Stepstone ของพวกเขา โดยพวกเขาได้เรียนรู้ภาษาสมอลล์ทอล์กจาก Programming Technology Center ของบริษัท ITT Corporation ในปีค.ศ. 1981 Cox ให้ความสนใจกับปัญหาเรื่องการนำรหัสมาใช้ซ้ำ (reusability) ในกระบวนการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ เขาคิดว่าภาษาสมอลล์ทอล์กไม่เหมาะจะใช้พัฒนา development environment สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบที่ ITT Cox เริ่มแก้ไขคอมไพเลอร์ภาษาซี โดยเพิ่มความสามารถด้านการจัดการเชิงวัตถุของภาษาสมอลล์ทอล์กเข้าไป โดยเขาเรียกมันว่า "OOPC" หมายถึง Object-Oriented Programming in C ในขณะนั้น Love ซึ่งทำงานให้กับ Schlumberger Research ในปี 1982 ก็ได้มีโอกาสใช้งาน Smalltalk-80 ซอฟต์แวร์ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาภาษาอ็อบเจกทีฟ-ซีในเวลาต่อมา

และเพื่อแสดงประสิทธิภาพ Cox ได้แสดงให้เห็นว่าการปรับปรุงเครื่องมือที่มีอยู่แล้วเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำ software component ให้ปรับเปลี่ยนได้ง่ายๆ โดยการทำ object ให้ยืดหยุ่นและสนับสนุนด้วยชุดไลบรารีซึ่งประกอบด้วยรหัสและรีซอร์ส ที่รวมกันอยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ข้าม platform ได้

Cox และ Love ได้ก่อตั้ง Productivity Products International (PPI) เพื่อขายคอมไพเลอร์ภาษาอ็อบเจกทีฟ-ซีและคลาสไลบรารีในเวลาต่อมา

ในปีค.ศ. 1986 Cox ได้ตีพิมพ์หนังสือที่อธิบายถึงภาษาอ็อบเจกทีฟ-ซีชื่อ Object-Oriented Programming, An Evolutionary Approach ซึ่งแม้ว่า Cox จะได้พยายามชี้ให้ว่าปัญหาหลักคือการนำรหัสมาใช้ซ้ำ (reusability) มากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้วยภาษา แต่กระนั้น Objective-C ก็ยังถูกนำไปเรียบเทียบแบบฟีเจอร์ต่อฟีเจอร์กับภาษาอื่นๆอยู่ดี

แพร่หลายเพราะ NeXT

ในปีค.ศ. 1988 บริษัท NeXT ซึ่งตั้งขึ้นโดย Steve Jobs ได้ลิขสิทธิ์จาก StepStone (เจ้าของเครื่องหมายการค้าภาษาอ็อบเจกทีฟ-ซีในขณะนั้น) โดยได้พัฒนาคอมไพเลอร์ภาษาอ็อบเจกทีฟ-ซีและชุดไลบรารี ของตัวเองโดยนำมาใช้พัฒนาระบบติดต่อผู้ใช้และระบบพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ NEXTSTEP ถึงแม้ว่าเครื่อง NeXT จะขายไม่ดี แต่เครื่องมือพัฒนาของมันกลับได้รับความนิยมพอสมควร และในที่สุด NeXT ก็เลิกขายฮาร์ดแวร์ และหันมาขายซอฟต์แวร์แทน ภายใต้ชื่อ NeXTstep และ OpenStep

โครงการกนู ได้พัฒนาระบบพัฒนาซอฟต์แวร์หนึ่งตามมาตรฐาน OpenStep ในรูปแบบซอฟต์แวร์เสรี โดย Dennis Glatting ได้พัฒนา gnu-objc runtime ตัวหนึ่งขึ้นในปี 1992 โดย Richard Stallman ได้เขียนอีกตัวขึ้นแทนในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่วน GNU Objective-C runtime ตัวที่ถูกใช้งานตั้งแต่ 1993 พัฒนาโดย Kresten Krab Thorup เมื่อเขาเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยในเดนมาร์ค

หลังจากที่ซื้อกิจการของ NeXT ในปี 1996 Apple ได้ใช้ OpenStep ในระบบปฏิบัติการของตนเองหรือ Mac OS X โดยได้รวมเอาภาษาอ็อบเจกทีฟ-ซีและระบบพัฒนาซอฟต์แวร์จาก NeXT ชื่อ Project Builder ซึ่งถูกแทนที่โดย Xcode ในเวลาต่อมา รวมถึงระบบออกแบบระบบการติดต่อผู้ใช้แบบ object ชื่อ Interface Builder และ Apple เรียกไลบรารีซึ่งพัฒนาต่อจาก OpenStep ว่า Cocoa