ประวัติ ของ มงกุฎพระสันตะปาปา

พระสันตะปาปาแห่งโรมและอาวีญงสวมมงกุฎมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1314) มาจนถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ผู้ทรงทำพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระสันตะปาในปี ค.ศ. 1963 พระองค์ทรงเลิกใช้มงกุฎพระสันตะปาปาหลังจากสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง โดยทรงทำการวางมงกุฎลงบนแท่นบูชาในมหาวิหารนักบุญเปโตรอย่างเป็นทางการ และทรงอุทิศเงินเท่ากับมูลค่าของมงกุฎให้แก่คนยากจน แต่ใน “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาต่อจากพระสันตะปาปาปอลที่ 6” (Romano Pontifici Eligendo) ของธรรมนูญพระสันตะปาปาของปี ค.ศ. 1975 ก็ยังกล่าวถึงผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ว่าจะได้รับการสวมมงกุฎ

แต่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 ผู้ดำรงตำแหน่งต่อมาทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ทรงทำการราชาภิเษก และทรงทำพิธีที่เรียกว่า “พิธีรับตำแหน่งพระสันตะปาปา” (Papal Inauguration) แทนที่ หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันแล้วสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ก็ทรงประกาศต่อผู้เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งของพระองค์ว่า:[1]

พระสันตะปาปาพระองค์สุดท้ายที่ได้รับการสวมมงกุฎคือสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ในปี ค.ศ. 1963 แต่หลังจากที่ได้ทรงทำพิธีแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงได้ใช้มงกุฎอีกเลย และทรงเปิดโอกาสให้ผู้ครองตำแหน่งต่อจากพระองค์ตัดสินใจในกรณีนี้ด้วยตนเอง สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 ผู้ที่เรายังคงระลึกถึงในหัวใจของเรา ไม่มีพระประสงค์ที่จะมีมงกุฎ และผู้สืบตำแหน่งต่อจากพระองค์ในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ในเวลานี้มิใช่เป็นเวลาที่ควรจะหวนกลับไปหาพิธี และ วัตถุที่ถือว่ากันอย่างผิดผิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของพระสันตะปาปา ในเวลานี้เป็นเวลาที่เราควรจะหันไปเข้าหาพระเป็นเจ้าและปวารณาตนเอง และ อุทิศตนเองให้แก่การใคร่ครวญถึงความอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดของพระเยซูคริสต์เอง

แม้ว่าพระสันตะปาปาจะเลิกสวมมงกุฎประจำตำแหน่งไปแล้ว แต่มงกุฎพระสันตะปาปาก็ยังคงใช้เป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่งบนธงและตราอาร์มของสันตะสำนักและนครรัฐวาติกัน จนกระทั่งเมื่อมาถึงสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 มงกุฎพระสันตะปาปาก็ยังคงใช้เป็นสิ่งตกแต่งส่วนหนึ่งของตราประจำพระองค์ของพระสันตะปาปา (กฎของสันตะสำนักของปี ค.ศ. 1969 ระบุห้ามใช้หมวกสูงในตราอาร์ม)[2] แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงละเมิดธรรมเนียมดังกล่าวโดยทรงใช้ หมวกสูงบนตราอาร์มส่วนพระองค์แทนที่มงกุฎพระสันตะปาปา หมวกสูงที่ทรงใช้มีสามชั้นตามแบบมงกุฎพระสันตะปาปาสามชั้นที่ใช้กันมาแต่ก่อน[3] แต่บนตราอาร์มของสันตะสำนักและของนครรัฐวาติกันสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงตัดสินพระทัยใช้มงกุฎพระสันตะปาปาสามชั้นตามธรรมเนียมที่เป็นมา

ที่มา

สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 (ค.ศ. 1198-ค.ศ. 1216) ทรงมงกุฎพระสันตะปาปา จากจิตรกรรมฝาผนังที่สำนักสงฆ์ซาโครสเปโคราว ค.ศ. 1219

จากหนังสือของเจมส์-ชาร์ลส์ นูนัน[4] และ บรูโน ไฮม์[5] ระดับล่างสุดของมงกุฎของหมวกพระสันตะปาปาที่ตามธรรมเนียมแล้วเป็นสีขาวเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อพระสันตะปาปาทรงรับตำแหน่งเป็นผู้นำของรัฐพระสันตะปาปา ฐานมงกุฎก็ได้รับการตกแต่งด้วยอัญมณีให้คล้ายกับมงกุฎของเจ้า และสันนิษฐานต่อไปว่าระดับสองได้รับการเพิ่มเติมโดยสมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ในปี ค.ศ. 1298 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรศาสนา หลังจากนั้นไม่นานนักก็ได้มีการเพิ่มระดับที่สามและแถบผ้าสองชาย (lappet) ในปี ค.ศ. 1314 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 ผู้เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่ทรงสวมมงกุฎสามชั้น

แต่จิตรกรรมฝาผนังในชาเปลเซนต์ซิลเวสเตอร์ (เสก ค.ศ. 1247) ภายในโบสถ์ซันตีกวัตโตร โกโรนาตี (Santi Quattro Coronati) ในกรุงโรมมีภาพพระสันตะปาปาทรงมงกุฎสองชั้นที่มีแถบผ้าสองชาย

อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามงกุฎเริ่มมาจาก “หมวกทอร์ค” (Toque) เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1130 ก็ได้มีการเพิ่มมงกุฎเข้าไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นประมุขของรัฐพระสันตะปาปา ในปี ค.ศ. 1301 สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ก็ทรงเพิ่มมงกุฎที่สองในช่วงที่ต้องทรงมีความขัดแย้งกับพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส เพื่อทรงแสดงถึงความมีอำนาจทางศาสนาที่ถือว่าเหนืออำนาจทางอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1342 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 12 ทรงเพิ่มมงกุฎที่สามขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางจริยธรรมเหนืออำนาจของพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรทั้งปวง และเป็นกันยืนยันรับรองความเป็นเจ้าของอาวีญง

พระสันตะปาปาองค์สุดท้ายผู้ทรงมงกุฎ

มงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสวมมงกุฎเป็นพระสันตะปาปาเช่นเดียวกับพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นทั้งหมด มงกุฎของพระองค์เป็นมงกุฎที่สร้างถวายโดยเมืองมิลานซึ่งเป็นเมืองที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระคาร์ดินัล และต่อมาเป็นบิชอปก่อนที่จะทรงได้รับเลือกให้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา มงกุฎที่ว่านี้แตกต่างจากมงกุฎอื่นๆ ก่อนหน้านั้นตรงที่ไม่ได้ตกแต่งเต็มที่ด้วยอัญมณีอันมีค่า และเป็นทรงกรวยแหลม และมีน้ำหนักเบากว่ามงกุฎที่ใช้กันมาก่อนหน้านั้น

ในตอนปลายของช่วงที่สองของสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1963 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลทรงดำเนินลงจากบัลลังก์ในมหาวิหารนักบุญเปโตร และทรงวางมงกุฎลงบนแท่นบูชาในท่าที่ทรงแสดงความถ่อมพระองค์ และการสละอำนาจและความรุ่งโรจน์ทางโลกเพื่อให้เหมาะสมกับบรรยากาศของความเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ/ปรัชญาของสภาที่ประชุม หลังจากนั้นก็ไม่มีพระสันตะปาปาองค์ใดที่ทำการสวมมงกุฎอีก

มงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้รับการมอบให้แก่มหาวิหารสักการสถานแห่งชาติการปฏิสนธินิรมล (Basilica of the National Shrine of the Immaculate Conception) ในวอชิงตัน ดี.ซี. โดยผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1968 เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงมิตรภาพของพระองค์ที่มีต่อคริสตจักรโรมันคาทอลิกในสหรัฐอเมริกา มงกุฎตั้งแสดงอย่างถาวรอยู่ที่หออนุสรณ์ (Memorial Hall) พร้อมด้วยแถบผ้าคล้องคอ (Stole) ที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ทรงใช้เมื่อทรงทำการเปิดสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง

การตัดสินใจเลิกใช้มงกุฎซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของสถาบันพระสันตะปาปาของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความขัดแย้งเป็นอันมากในกลุ่มอนุรักษนิยมโรมันคาทอลิกบางกลุ่ม ที่ดำเนินการเรียกร้องให้นำกลับมาใช้อีก[6] บางคนถึงกับกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นพระสันตะปาปาเท็จ โดยกล่าวว่าไม่มีพระสันตะปาปาที่ถูกต้องพระองค์ใดที่จะยอมสละการใช้มงกุฎพระสันตะปาปา

ในบรรดาพระสันตะปาปาเท็จของลัทธิเซเดวาคันท์ (Sedevacantism) ก็มีเคลเมนเต โดมิงเกซ อี โกเมซที่ทำพิธีราชาภิเษกโดยการสวมมงกุฎ ซึ่งเป็นการแสดงการใช้มงกุฎในการแสดงอำนาจ ขณะที่อีกผู้หนึ่งลูเซียน พุลเวอร์มาร์เคอร์ผู้ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาไพอัสที่ 13 ในปี ค.ศ. 1998 ใช้มงกุฎในตราอาร์ม

การยุติการใช้มงกุฎพระสันตะปาปาอย่างเป็นการถาวรจริงหรือไม่?

ตราอาร์มของสันตะสำนักที่มีมงกุฎพระสันตะปาปา

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 ทรงเป็นผู้ยุติประเพณีการราชาภิเษกและการสวมมงกุฎพระสันตะปาปาที่ทำกันมานานถึง 1000 ปี พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ทรงเอาผลประโยชน์จาก “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาต่อจากพระสันตะปาปาปอลที่ 6” (Romano Pontifici Eligendo) ของธรรมนูญพระสันตะปาปาของปี ค.ศ. 1975 ที่ระบุเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ว่า: “ขั้นตอนสุดท้าย, พระสันตะปาปาก็จะได้รับการสวมมงกุฎโดยพระคาร์ดินัลโปรโตดีกัน และในเวลาอันเหมาะสม ก็จะทรงได้รับอำนาจในการเป็นเจ้าของมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมา”[7] ต่อข้อความเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกดังกล่าวสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงกล่าวว่าทั้งพระองค์เองและพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นต่างก็ไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าพิธีราชาภิเษกหรือสวมมงกุฎ

ใน “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาโดยพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2” (Universi Dominici Gregis) ของปี ค.ศ. 1996 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญพระสันตะปาปา พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงปรับปรุงแก้ไขกฎที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปา และทรงถอดข้อความที่เกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกพระสันตะปาปา (coronation) ออกทั้งหมด และแทนที่ด้วย “พิธีรับตำแหน่ง” (inauguration) เป็น: “หลังจากพิธีรับตำแหน่งของพระสันตะปาปา และในเวลาอันเหมาะสม พระสันตะปาปาก็จะทรงได้รับอำนาจในการเป็นเจ้าของมหาวิหารนักบุญยอห์นลาเตรัน ตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมา”[8]

ตราอาร์มของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ไม่มีมงกุฎพระสันตะปาปา

คำบรรยายนี้ก็เช่นเดียวกับเอกสารของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ถ้อยคำที่ใช้เป็นคำบรรยายที่ไม่ใช่คำกำหนด นอกจากนั้นแล้วก็ยังมิได้ทรงวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของ “พิธีรับตำแหน่งของพระสันตะปาปา” ที่อาจจะยังคงเป็นไปในรูปของพิธีราชาภิเษกก็ได้ แต่จะอย่างไรก็ตามพระสันตะปาปาองค์ใหม่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้พระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้น และทรงมีเสรีภาพที่เปลี่ยนแปลงได้ตามพระประสงค์ของพระองค์

ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงดำเนินตามนโยบายในการใช้สัญลักษณ์ของมงกุฎในตราทางการของสถาบันพระสันตะปาปา มงกุฎพระสันตะปาปายังคงใช้บนตราอาร์มของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 และ พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ผู้ไม่ได้ทรงเคยใช้มงกุฎจริง แต่พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงอนุมัติให้ใช้ตราอาร์มของพระองค์ที่ไม่มีมงกุฎในตอนปลายสมัยการเป็นพระสันตะปาปาของพระองค์ เช่นเดียวกับพื้นโมเสกตรงทางเข้ามหาวิหารนักบุญเปโตรได้รับการเปลี่ยนจากภาพมงกุฎพระสันตะปาปามาเป็นหมวกสูง และตราอาร์มของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ก็ทรงใช้ภาพหมวกสูงแทนมงกุฎพระสันตะปาปา: “สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงตัดสินพระทัยไม่ใช้มงกุฎบนตราอาร์มส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้หมวกสูงแทนที่ซึ่งไม่มียอดเป็นลูกโลกประดับกางเขน เช่น มงกุฎ”[9]

แต่ละปีก็จะมีการนำมงกุฎพระสันตะปาปาไปวางบนพระเศียรของรูปปั้นสัมริดของนักบุญเปโตรในมหาวิหารนักบุญเปโตรตั้งแต่ธรรมาสน์นักบุญเปโตร (Chair of Saint Peter) ที่ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์จนกระทั่งถึงวันฉลองนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลในวันที่ 29 มิถุนายน แม้ว่าประเพณีจะไม่ได้ทำกันใน ค.ศ. 2006 แต่ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2007

ใกล้เคียง

มงกุฎ มงกุฎพระสันตะปาปา มงกุฎดอกส้ม มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด มงกุฎอิมพีเรียลสเตต มงกุฎดอกหญ้า มงกุฎทิวดอร์ มงกุฎจักรพรรดิแห่งออสเตรีย มงกุฎไพร มงกุฎราชาภิเษกพระเจ้าจอร์จที่ 4

แหล่งที่มา

WikiPedia: มงกุฎพระสันตะปาปา http://users.skynet.be/lotus/flag_file/vaten.htm http://www.newmanhouse.ca/desouza/jpii-art1.html http://www.catholicnews.com/data/stories/cns/05026... http://www.electapope.com/index.php?page=The_Coron... http://www.ewtn.com/holysee/Interregnum/terms.asp http://www.ewtn.com/jp2/papal3/tiara.htm http://www.ewtn.com/library/ANSWERS/POPEAPOL.HTM#5 http://books.google.com/books?id=FqNcfd8on5cC&pg=P... http://books.google.com/books?id=T0TEmFebyuQC&pg=P... http://www.memorare.com/puzzles/vestmentanswers.ht...