ประวัติ ของ มงแต็สกีเยอ

ปราสาทลาแบรด ที่เกิดของมงแต็สกีเยอLettres familieres a divers amis d'Italie, 1767

ชาร์ล-หลุยส์ เดอ เซอกงดา เกิด ณ ปราสาทลาแบรด ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส บิดามีนามว่าฌัก เดอ เซอกงดา เป็นนายทหารซึ่งเกิดในตระกูลผู้ดี ย่าของชาร์ลนามว่ามารี-ฟร็องซวซ เดอ แป็สแนล ซึ่งเสียชีวิตเมื่อบิดาของชาร์ลมีอายุได้เพียง 7 ขวบ เป็นผู้รับมรดกทางการเงินก้อนใหญ่และเป็นผู้ทำให้ตระกูลเซอกงดาได้รับบรรดาศักดิ์ ลาแบรด ของขุนนางบารอน ภายหลังได้เข้ารับการศึกษาจากวิทยาลัยคาทอลิกแห่งฌุยยี ชาร์ลได้แต่งงานกับหญิงชาวโปรเตสแตนต์นามว่าฌาน เดอ ลาร์ตีก ซึ่งได้มอบสินสอดให้แก่ชาร์ลเมื่อเขาอายุได้ 26 ปี ในปีถัดมาชาร์ลได้รับมรดกจากการที่ลุงของเขาที่เสียชีวิตลงและยังได้รับบรรดาศักดิ์ บารงเดอมงแต็สกีเยอ รวมถึงตำแหน่ง เพรซีด็องอามอร์ตีเย ในรัฐสภาเมืองบอร์โดอีกด้วย ในช่วงเวลานี้เองที่อังกฤษประกาศว่าตนเองเป็นประเทศราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (ค.ศ. 1688–1689) และได้รวมเข้ากับสกอตแลนด์จากพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ในการก่อตั้งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ถัดมาในปี ค.ศ. 1715 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ทรงครองราชย์มาอย่างยาวนานสวรรคตและได้รับการสืบทอดราชบัลลังก์โดยโอรสพระชนมายุ 5 พรรษา พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชาติครั้งนี้เองที่มีผลอย่างมากต่อตัวของชาร์ล และกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้จะถูกกล่าวถึงในงานเขียนของชาร์ลมากมายในเวลาต่อมา

เวลาต่อมาเพียงไม่นานเขาก็ประสบความสำเร็จทางด้านวรรณกรรมจากการตีพิมพ์ แล็ทร์แปร์ซาน (จดหมายเหตุเปอร์เซีย–ค.ศ. 1721) งานเขียนเสียดสีซึ่งสมมติถึงชาวเปอร์เซียผู้เขียนจดหมายตอบโต้ระหว่างเดินทางมายังปารีส ชี้ให้เห็นถึงความไร้สาระของสังคมร่วมสมัย ต่อมาเขาได้ตีพิมพ์ กงซีเดราซียง ซูร์ เล โกซ เดอ ลา กร็องเดอร์ เด รอแม็ง เอ เดอ เลอร์ เดกาด็องส์ (ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่และความเสื่อมถอยของชาวโรมัน–ค.ศ. 1734) ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มมองว่าเป็นผลงานที่เชื่อมระหว่าง แล็ทร์แปร์ซาน กับผลงานชิ้นเอกของเขา เดอแล็สพรีเดลัว (จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย) ซึ่งแต่แรกในปี ค.ศ. 1748 ถูกตีพิมพ์โดยไม่ระบุชื่อผู้เขียน และได้กลายมาเป็นงานเขียนซึ่งมีอิทธิพลมหาศาลต่อสังคมภายในเวลาอันรวดเร็ว ในฝรั่งเศสการตอบรับต่องานเขียนนี้ไม่ค่อยจะเป็นมิตรมากนักทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านระบอบการปกครองปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1751 โบสถ์คาทอลิกทั่วประเทศประกาศห้ามเผยแพร่ แล็สพรี–รวมไปถึงงานเขียนชิ้นอื่นของมงแต็สกีเยอ–และถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อหนังสือต้องห้าม แต่ในส่วนอื่นของยุโรปกลับได้การตอบรับอย่างสูงโดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร

มงแต็สกีเยอได้รับการยกย่องอย่างสูงจากอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเหนือ ในฐานะผู้สนับสนุนเสรีภาพแบบอังกฤษ (แม้จะไม่ใช่ผู้สนับสนุนเอกราชของอเมริกา) นักรัฐศาสตร์ โดนัลด์ ลุตซ์ พบว่ามงแต็สกีเยอคือบุคคลทางรัฐศาสตร์และการเมืองที่ถูกเอ่ยถึงมากที่สุดบนแผ่นดินอเมริกาเหนือช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติอเมริกา ซึ่งถูกอ้างอิงมากกว่าแหล่งอื่น ๆ โดยผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา เป็นรองก็แต่เพียงคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น[1] ตามมาด้วยการปฏิวัติอเมริกา งานเขียนของมงแต็สกีเยอยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อเหล่าผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเจมส์ แมดิสันแห่งเวอร์จิเนีย , บิดาแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ปรัชญาของมงแต็สกีเยอที่ว่า "รัฐบาลควรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่มีมนุษย์ผู้ใดระแวงกันเอง" ได้ยั้งเตือนแมดิสันและผู้อื่นในคณะว่ารากฐานที่เสรีและมั่นคงของรัฐบาลแห่งชาติใหม่นั้นจำเป็นจะต้องมีการแบ่งแยกอำนาจที่ถ่วงดุลและถูกกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน

นอกจากการประพันธ์งานเขียนเกี่ยวกับการเมืองและสังคมแล้ว มงแต็สกีเยอยังใช้เวลาหลายปีในการเดินทางไปทั่วยุโรป เช่น ออสเตรียและฮังการี ใช้ชีวิตหนึ่งปีเต็มในอิตาลีและอีก 18 เดือนในอังกฤษ ก่อนที่เขาจะกลับมาพำนักในฝรั่งเศสอีกครั้ง เขาทุกข์ทรมานจากสายตาที่ย่ำแย่ลงจนกระทั่งบอดสนิทในช่วงที่เขาเสียชีวิตจากอาการไข้สูงในปี ค.ศ. 1755 มงแต็สกีเยอถูกฝัง ณ สุสานของโบสถ์แซ็ง-ซูลปิสในกรุงปารีส

ใกล้เคียง