ทรรศนะทางการเมือง ของ มงแต็สกีเยอ

มงแต็สกีเยอถือว่าเป็นหนึ่งในนักปรัชญาแถวหน้าของมานุษยวิทยาร่วมกับเฮโรโดตุสและแทซิทัส ที่เป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่ตีแผ่ข้อเปรียบเทียบของกระบวนการจำแนกรูปแบบทางการเมืองในสังคมมนุษย์ อันที่จริงแล้วนักมานุษยวิทยาการเมืองชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่ายอร์ช บาล็องดิแยร์ พิจารณามงแต็สกีเยอว่าเป็น "ผู้ริเริ่มองค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อวงการมานุษยวิทยาทางวัฒนธรรมและสังคม"[3] ตามคำกล่าวอ้างของดี.เอฟ. โพคอค นักมานุษยวิทยาทางสังคม "จิตวิญญาณของกฎหมายของมงแต็สกีเยอคือความพยายามครั้งแรกในการที่จะสำรวจความหลากหลายของสังคมมนุษย์, เพื่อที่จะจำแนกและเปรียบเทียบ และเพื่อศึกษาระบบการทำงานระหว่างสถาบันในสังคม"[4] และหลักมานุษยวิทยาทางการเมืองนี้เองได้นำเขาไปสู่การคิดค้นทฤษฎีว่าด้วยรัฐบาลในเวลาต่อมา

ผลงานเขียนที่มีอิทธิพลมากที่สุดของเขาได้แบ่งแยกฝรั่งเศสออกเป็นสามชนชั้นได้แก่ พระเจ้าแผ่นดิน, อภิสิทธิ์ชน และราษฎร แล้วเขายังมองเห็นรูปแบบอำนาจของรัฐออกเป็นสองแบบคืออำนาจอธิปไตยและอำนาจบริหารรัฐกิจ ซึ่งอำนาจบริหารรัฐกิจประกอบด้วยอำนาจบริหาร, อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ โดยแต่ละอำนาจควรเป็นอิสระและแยกออกจากกัน ทำให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งไม่สามารถก้าวก่ายอีกสองอำนาจที่เหลือหรือรวมกันเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จได้ หากพิจารณาในแบบยุคสมัยของมงแต็สกีเยอแล้ว แนวคิดนี้จะถูกพิจารณาว่าเป็นแนวคิดหัวรุนแรง เพราะหลักการของแนวคิดดังกล่าวเท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครองของฝรั่งเศสในสมัยนั้นที่ยึดถือฐานันดรแห่งราชอาณาจักรอย่างสิ้นเชิง โดยฐานันดรแห่งรัฐประกอบด้วยสามฐานันดรคือ เคลอจี, อภิสิทธิ์ชนหรือขุนนาง และประชาชนทั่วไป ซึ่งฐานันดรสุดท้ายมีผู้แทนในสภาฐานันดรมากที่สุด และท้ายที่สุดแนวคิดนี้จะเป็นแนวคิดที่ทำลายระบบฟิวดัลในฝรั่งเศสลง

ขณะเดียวกันมงแต็สกีเยอได้ออกแบบรูปแบบการปกครองออกเป็นสามแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบถูกสนับสนุนด้วย หลักการทางสังคม ของตัวมันเอง ได้แก่

  • ราชาธิปไตย (รัฐบาลอิสระที่มีประมุขเป็นบุคคลจากการสืบตระกูล เช่น กษัตริย์, จักรพรรดิ หรือราชินี) เป็นระบอบที่ยึดถือบนหลักการของเกียรติยศ
  • สาธารณรัฐ (รัฐบาลอิสระที่มีประมุขเป็นบุคคลที่ได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน) เป็นระบอบที่ยึดถือบนหลักการของคุณธรรม
  • เผด็จการ (รัฐบาลกดขี่ที่มีประมุขเป็นผู้นำเผด็จการ) เป็นระบอบที่ยึดถือบนหลักการของความยำเกรง

ซึ่งรัฐบาลอิสระจะขึ้นอยู่กับการเตรียมการทางกฎหมายอันเปราะบาง มงแต็สกีเยอได้อุทิศเนื้อหาสี่บทใน จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย ในการอภิปรายประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศรัฐบาลอิสระร่วมสมัยที่ซึ่งเสรีภาพคงอยู่ได้ด้วยการถ่วงดุลอำนาจ และมงแต็สกีเยอยังกังวลว่าอำนาจในฝรั่งเศสที่อยู่กึ่งกลาง (เช่น ระบบขุนนาง) ที่ทัดทานกับอำนาจของราชวงศ์นั้นกำลังเสื่อมสลายลง แนวคิดการควบคุมอำนาจนี้เองที่บ่อยครั้งมักถูกนำไปใช้โดยมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์

อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดที่มงแต็สกีเยอระบุไว้ในจิตวิญญาณแห่งกฎหมายในการสนับสนุนการปฏิรูประบบทาสนั้นค่อนข้างจะล้ำหน้ากว่ายุคสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ เขายังได้นำเสนอข้อโต้แย้งสมมติเชิงเสียดสีเกี่ยวกับความเป็นทาสซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อสนับสนุนของเขาไว้ด้วย อย่างไรก็ดีทรรศนะของมงแต็สกีเยอหลายหัวข้ออาจถูกโต้แย้งและถกเถียงในปัจจุบันเช่นเดียวกับทรรศนะอื่น ๆ ที่มาจากบุคคลยุคเดียวกับเขา เขายอมรับถึงบทบาทของตระกูลขุนนางและราชวงศ์ไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นเดียวกันกับการยอมรับถึงสิทธิของบุตรหัวปี ในขณะเดียวกันเขาก็รับรองแนวคิดของการมีสตรีเป็นประมุขของประเทศ แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเป็นหัวหน้าครอบครัวได้

ใกล้เคียง