ประวัติ ของ มหาวิทยาลัยเคนต์

เดิมที เมืองแคนเทอร์เบอรียังไม่มีประชากรผู้ใหญ่วัยเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมากนัก จึงยังไม่ต้องมีการสร้างมหาวิทยาลัยใหม่เพื่อรองรับนักศึกษา ผู้ใดต้องการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ให้ไปเมืองอื่น แต่ในเวลาต่อมาได้มีความต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากขึ้น ทำให้ในปี พ.ศ. 2490 มีการพิจารณาเรื่องจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น ณ เมืองแคนเทอร์เบอรี แต่มิได้มีการดำเนินการตามแผนใด ๆ [6] จนกระทั่งสิบปีให้หลัง ความต้องการที่จะมีมหาวิทยาลัยก็สูงขึ้นจากเดิม ทำให้ในปี พ.ศ. 2502 คณะกรรมการศึกษาธิการประจำจังหวัดเคนต์ได้เริ่มการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[7] โดยจัดการลงมติให้ตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503[8] ต่อด้วยการจัดหาที่ดินอันเป็นที่ตั้งใกล้ ๆ กับเมืองแคนเทอร์เบอรี พร้อมกับแจ้งทางสภาอำเภอให้รับทราบถึงการก่อสร้างและยินยอมให้ทางสภาจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม[9]

หลังจากที่ได้ค้นหาที่ดินที่ตั้งที่เหมาะสมมาพอสมควรแล้ว ราวปี พ.ศ. 2505 คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดจึงได้ตกลงเลือกที่ดินที่ไร่เบเวอร์ลีย์ (Beverley Farm) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง[10] ใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้เลือกชื่อมหาวิทยาลัยให้ใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยเคนต์ ณ แคนเทอร์เบอรี (University of Kent at Canterbury) ด้วยเหตุที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของสภาจังหวัดเคนต์ อีกส่วนอยู่ในเขตรับผิดชอบของสภาอำเภอแคนเทอร์เบอรี[11][10][7] นอกจากนี้ยังช่วยลดความสับสนระหว่างชื่อของมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีซึ่งตั้งที่ประเทศนิวซีแลนด์ด้วย[12] อักษรย่อ UKC ถูกใช้เป็นอักษรย่อประจำมหาวิทยาลัยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[13] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้พิจารณาปรับปรุงเขตปกครองของอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2515 สมควรให้บริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอยู่ในเขตอำเภอแคนเทอร์เบอรี มหาวิทยาลัยจึงได้ลดชื่อลงเหลือเพียง มหาวิทยาลัยเคนต์ ใช้อักษรย่อ UoK

หลังจากการเตรียมความพร้อมในเบื้องต้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยเริ่มรับนักศึกษาในภาคการศึกษาต้น (เดือนตุลาคม) ปีเดียวกันนั้นเอง พร้อมกันนั้นได้มีการแต่งตั้งเจ้าหญิงมารีนา ดัชเชสแห่งเคนต์ (Princess Marina, Duchess of Kent) เป็นนายกสภาคนแรกของมหาวิทยาลัย[14] การดำเนินการของมหาวิทยาลัยจะแบ่งนักศึกษาออกเป็นคณะอาศัย (College) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พักอาศัยด้วยกันและสามารถแลกเปลี่ยนความคิดแบบสหศาสตร์ร่วมกันได้[15] ถึงกระนั้นเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย ก็ทำให้การรวมคณะอาศัยเป็นไปอย่างหลวม ๆ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีคณะอาศัย 5 คณะ ได้แก่ ดาร์วิน เอเลียต เคนส์ รัทเทอร์ฟอร์ด และวูล์ฟ ทั้งหมดมีอนุสาสกประจำคณะคอยให้คำปรึกษา

ครั้นถึง พ.ศ. 2510 อาคารหลายแห่ถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย[16] จนต้องสร้างคร่อมอุโมงค์รถไฟสายแยกแคนเทอร์เบอรี-วิตสเตเบิล ซึ่งยุบเลิกไปแล้ว[17] เนื่องจากอุโมงค์มีความไม่แข็งแรง ตลอดจนมีอาคารสูงทับ ทำให้อุโมงค์ถล่มลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2517 อาคารคอร์นวัลลิส (Cornwallis Building) ซึ่งอยู่ติดกันยุบตัวลงในอุโมงค์ จนมหาวิทยาลัยต้องขอรับเงินจากบริษัทประกันภัยมาทำลายตึกส่วนที่เสียหายและสร้างส่วนทดแทน[18] หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวมหาวิทยาลัยก็ยังคงสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ หอพักปาร์กวูด และหอพักดาร์วิน ซึ่งเสร็จในปี พ.ศ. 2532

นอกเหนือจากที่ตั้งในเมืองแคนเทอร์เบอรีแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้ขยายวิทยาเขตต่างอำเภอจำนวนหนึ่ง เช่น วิทยาเขตทันบริดจ์ (Tonbridge) ให้บริการการสอนด้านด้านการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ใหญ่ ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น[19] นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรีนิช วิทยาลัยมิดเคนต์ และมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีไครสต์เชิร์ช (Canterbury Christ Church University) จัดตั้งวิทยาเขตที่อำเภอเมดเวย์ (Medway) [20] รวมทั้งมหาวิทยาลัยเองก็มีวิทยาเขตที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เปิดสอนด้านกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

แหล่งที่มา

WikiPedia: มหาวิทยาลัยเคนต์ http://www.stagecoachbus.com/Unibus.aspx http://www.topuniversities.com/universities/univer... http://web.archive.org/web/20070824031914/http://w... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://kent.ac.uk http://library.kent.ac.uk/cartoons/ http://www.kent.ac.uk http://www.kent.ac.uk/about/history/history00.html http://www.kent.ac.uk/about/history/history59.html http://www.kent.ac.uk/about/history/history80.html