ชื่อ ของ มัสยิด

ในไทยมีการเรียกมัสยิดหลายอย่าง เช่น[1][2]

  • มัสยิด มาจากคำว่า มัสญิด (อาหรับ: مسجد‎ masjid) เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า "สถานที่กราบ" ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า "สถานที่ซึ่งอิสลามิกชนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม"[3] ในไทยใช้เรียกโรงสวดประจำเมืองใหญ่
  • สุเหร่า (มลายู: Surau) เป็นคำที่ยืมมาจากภาษามลายู แปลว่า "โรงสวด" ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า "ที่ประชุมทำศาสนกิจของมุสลิม"[3] ในไทยใช้เรียกโรงสวดขนาดย่อมประจำตำบลหรือหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่นิยมใช้ทำละหมาดวันศุกร์[4]
  • กะดี[5] หรือ กุฎี[6] บ้างว่ามาจากคำว่า กะดีร์คุม ในภาษาเปอร์เซียและอาหรับ แปลว่า "ตำบลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างนครมักกะฮ์กับมะดีนะฮ์"[6] บ้างว่ามาจากคำว่า กะเต ในภาษามลายูที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซียอีกที แปลว่า "พระแท่นที่ประทับ"[6] ใช้เรียกศาสนสถานของทั้งชีอะฮ์และซุนนีย์ในภาคกลางของไทยและพบเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น กุฎีใหญ่, กุฎีเจริญพาศน์, กุฎีหลวง และกุฎีขาว[7] เป็นต้น
  • อิหม่ามบารา หรือ อิมามบาระฮ์ มาจากคำว่า อิมาม ในภาษาอาหรับ หมายถึง "ผู้นำทางศาสนา"[6] กับคำว่า บารา ในภาษาอูรดู แปลว่า "บ้าน"[6] รวมกันมีความหมายว่า "เคหาสน์ของอิหม่าม" เป็นศัพท์ทางการใช้เรียกศาสนสถานของชีอะฮ์ในไทย[6] สถานที่ที่เป็นอิหม่ามบารา เช่น กุฎีเจริญพาศน์, กุฎีบน และกุฎีใหญ่เติกกี้[8] เป็นต้น

นอกจากนี้ยังปรากฏในเอกสารและบันทึกโบราณอีกหลายฉบับเรียกศาสนสถานในศาสนาอิสลามไว้หลากหลาย อาทิ เสร่า, บาแล และโรงสวดแขก เป็นต้น[9]