มัสยิดบ้านอู่
มัสยิดบ้านอู่

มัสยิดบ้านอู่

มัสยิดบ้านอู่ เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในย่านถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มัสยิดบ้านอู่ป็นมัสยิดแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม[1] โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2491[2] มัสยิดบ้านอู่ไม่ได้มีประวัติการก่อตั้งที่แน่นอน ตามคำบอกเล่าเชื่อว่าเริ่มมีชุมชนมุสลิมขึ้นในบริเวณมัสยิดบ้านอู่ตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีมุสลิมจากจังหวัดปัตตานีจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งชุมชนมัสยิดบ้านอู่ก็เริ่มเกิดขึ้นในสมัยนั้นเช่นกัน โดยผู้คนเดิมเรียกว่า “สุเหร่าแขก” ตามข้อความที่ปรากฏในโฉนดที่ดิน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นที่ตั้งของมัสยิดและกุโบร์ (สุสานมุสลิม) ในปี ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455)[3] คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมเชื้อสายชวา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือ จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านอู่" ซึ่งคำว่าอู่ในที่นี้หมายถึงอู่ต่อเรือ ชุมชนมัสยิดบ้านอู่ได้ลดขนาดลงตามการพัฒนาที่ดินบริเวณโดยรอบเป็นโรงแรมและห้างสรรพสินค้า จนในปัจจุบันเหลือเพียงอาคารของมัสยิดและบ้านเก่าหลังสุดท้ายของชุมชน ซึ่งเป็นบ้านไม้ทรงปั้นหยาตั้งอยู่ตรงข้ามทางเข้าของมัสยิด บ้านหลงนี้เคยเป็นที่พักของอาจารย์รังสฤษดิ์ เชาวน์ศิริ อดีตอิหม่ามประจำมัสยิด, อธิบดีกรมการศาสนาและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันศพของท่านฝังอยู่ในกุโบร์ของมัสยิดบ้านอู่[4]เป็นไปได้ว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นแห่งเดียวในไทยที่มีอักษรวิจิตรอิสลามเขียนชื่อสาวกทั้งสิบ อะชะเราะฮ์ อัลมุบัชชิรีน (Asharah al-Mubashireen) ที่ท่านนบีมุฮัมหมัดรับรองว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ อยู่ตามผนังเหนือช่องหน้าต่าง นอกจากนี้ยังมีกลองหนังสัตว์เก่าแก่ที่ใช้ตีเรียกชุมนุม บอกเวลาละหมาด และแจ้งข่าวเมื่อมีผู้เสียชีวิตในชุมชน อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนของมุสลิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[4]