ผล ของ ยืมใช้สิ้นเปลือง

"ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย"
ป.พ.พ. ม.651
"ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไป ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้"
ป.พ.พ. ม.652

สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเมื่อบริบูรณ์แล้ว ไม่ก่อหน้าที่แก่ผู้ให้ยืมให้ต้องรับผิดเพราะความชำรุดบกพร่องใด ๆ ที่เกิดต่อทรัพย์สินอันให้ยืม เว้นแต่เขารู้ดีอยู่แล้วว่ามีความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินแล้วให้ยืมไปโดยไม่บอกกล่าวผู้ยืม อันเป็นผลให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินนั้นได้ด้วยดี ผู้ให้ยืมอาจต้องรับผิดตามบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยสัญญา และเมื่อมีบททั่วไปแล้ว กฎหมายไทยจึงมิได้วางหลักเฉพาะไว้ใน ป.พ.พ. เกี่ยวกับการเรียกร้องให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นสัญญายืมใช้คงรูปที่วางอายุความไว้เฉพาะ[16]

แม้สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองไม่ก่อหน้าที่และความรับผิดใด ๆ แก่ผู้ให้ยืม ทว่า ผู้ยืมย่อมมีหน้าที่และความรับผิดในสัญญานี้อย่างแน่นอนเพราะเหตุที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามกฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.651-652 ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ค่าบำรุงทรัพย์สินดังกล่าว และหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม ทั้งนี้ เพราะเมื่อผู้ยืมได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมแล้ว ก็ควรรับภาระออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปด้วย เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันเป็นอื่น

เนื่องจากผู้ยืมใช้สิ้นเปลืองย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม เขาจึงไม่มีหน้าที่มากมายเช่นในสัญญายืมใช้คงรูป

หน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืม

เมื่อสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.651 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ตลอดจนค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม

ค่าฤชาธรรมเนียม (อังกฤษ: costs of the contract) นั้น ปรกติในการทำสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองก็ไม่มีอยู่แล้ว ซึ่ง ผไทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "...ยังคิดไม่ออกว่า การยืมทรัพย์อะไรจึงต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา แต่การบัญญัติกฎหมายต้องเขียนไว้ให้บริบูรณ์เท่าที่จะทำได้ จะมีที่ใช้หรือไม่เป็นเรื่องข้างหน้า"[17]

ค่าส่งมอบทรัพย์สิน (อังกฤษ: costs of delivery) คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ให้ยืมส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืม เช่น ค่าขนส่ง เคลื่อนย้าย หรือนำพาไปซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นต้น[17]

ค่าส่งคืนทรัพย์สิน (อังกฤษ: costs of return) คือ ค่าใช้จ่ายอันตรงกันข้ามกับค่าส่งมอบทรัพย์สิน กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ยืมคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืม[17]

หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม

"สัญญากู้มีข้อความว่า 'ผู้กู้ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญานี้ภายในวันที่ 10 เดือนเมษายน พ.ศ. 2524 แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร และโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ ผู้กู้สัญญาว่าในกรณีที่ผู้ให้กู้เรียกร้องดังกล่าวมานี้ ผู้กู้จะชำระหนี้ตามเรียกร้องทันที' ดังนี้ แม้ผู้กู้จะเสียเปรียบผู้ให้กู้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของลูกหนี้เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด เป็นข้อสัญญาที่ใช้บังคับกันได้ ผู้ให้กู้จึงฟ้องเรียกเงินกู้คืนก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาได้"
ฎ.3161/2527
"ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์ทวงถามก็ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด และสัญญากู้ระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ก็ยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องได้ แม้หนี้เงินต้นยังไม่ถึงกำหนดชำระ"
ฎ.536/2513
ดูเพิ่มที่ การชำระหนี้

เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.652 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืมตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น ให้คืนภายในสองสัปดาห์นับแต่วันทำสัญญา หรือภายในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553 หรือก่อนวันเข้าพรรษาประจำ พ.ศ. 2553 เป็นต้น[18]

ถ้าไม่ได้กำหนด ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกกล่าวให้ผู้ยืมคืนภายในเวลาอันสมควรตามที่ตนกำหนดได้ โดยเวลาใดสมควรหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เหตุที่กฎหมายกำหนดให้บอกกล่าวก่อน ก็เพื่อให้ผู้ยืมมีเวลาไปจัดหาทรัพย์สินมาคืน ต่างจากสัญญายืมใช้คงรูปที่ทรัพย์สินนั้นมีตัวอยู่แล้ว เมื่อไม่กำหนดเวลาคืนไว้ จึงเรียกคืนเมื่อไรก็ได้[19] ทว่า คู่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอาจตกลงกันให้ผู้ให้ยืมเรียกทรัพย์สินคืนเมื่อไรก็ได้ หรือตกลงกันว่า เมื่อผู้ยืมผิดสัญญา ให้ผู้ให้ยืมเรียกทรัพย์สินคืนได้ทันที ก็ย่อมได้[20]

นอกจากเวลาข้างต้นแล้ว หากตกลงกำหนดสถานที่คืนทรัพย์สินกันไว้ด้วยก็ให้เป็นไปตามนั้น หากไม่ได้กำหนด ป.พ.พ. ม.324 ว่า "เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้"[21]

ทรัพย์สินที่คืนนั้น ไม่ใช่อันเดียวกับที่ยืม เนื่องจาก "ยืมใช้สิ้นเปลือง" ก็หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นใช้ไปก็สิ้นเปลืองหมดไป จะหาไหนมาคืนได้อีก แต่ให้คืนทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมไป เช่น ยืมน้ำตาลทรายขาวไปหนึ่งกิโลกรัม เมื่อคืนให้คืนทรัพย์สินประเภทเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลเหมือนกัน, ชนิดเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลทรายขาวเหมือนกัน และปริมาณเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลทรายขาวหนึ่งกิโลกรัมดุจกัน แต่ไม่ใช่คืนน้ำตาลทรายกลุ่มที่ยืมไปนั้น[22]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยืมใช้สิ้นเปลือง http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.gesetze-im-internet.de/englisch_bgb/ http://www.amazon.fr/gp/product/2856230520/ref=olp... http://www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.ams.cmu.ac.th/pub/law/civil/ http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php