ความคืบหน้า ของ รถไฟฟ้ามหานคร_สายสีส้ม

  • พ.ศ. 2547 รถไฟฟ้าสายสีส้ม บางกะปิ - บางบำหรุ ปรากฏในแผนแม่บทพัฒนารถไฟฟ้า 7 สาย สมัยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • พ.ศ. 2548 สมัยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีการเพิ่มเติมเส้นทางรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทางในแผนแม่บทฯ รวมเป็น 10 เส้นทาง รวมถึงสายสีน้ำตาล ช่วงบางกะปิ - มีนบุรี ที่เคยเป็นส่วนต่อขยายของสายสีส้ม
  • วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม. ได้พิจารณาวงเงินจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-บางบำหรุ[10]
  • แผนแม่บทโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี พ.ศ. 2549-2555 ตามมติ ครม. วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ในรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีโครงการรถไฟฟ้า 5 สาย แต่ไม่ปรากฏเส้นทางสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-บางบำหรุ
  • ช่วงปี พ.ศ. 2551 ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รฟม. ได้เสนอเส้นทางช่วงบางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 12 กิโลเมตร ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อสร้างเป็นช่วงแรก เพื่อขยายโครงข่ายรถไฟฟ้ามหานครที่เปิดให้บริการแล้วออกสู่ย่านบางกะปิ[11] โดยชั้นชานชาลาของสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ได้ออกแบบให้มีพื้นที่เตรียมไว้สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์เพิ่มเติมแล้ว คาดว่าจะช่วยรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้ถึง 5 แสนเที่ยวคนต่อวัน จากที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลเฉลี่ย 2 แสนเที่ยวคนต่อวัน[7]
  • การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางและขนส่งมวลชน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2551 ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการจัดทำแผนแม่บทโครงการรถไฟฟ้า 9 สายขึ้น โดยกำหนดให้เส้นทางรถไฟฟ้าศาลายา - มีนบุรี ระยะทาง 51 กิโลเมตร ที่เกิดจากการรวมเส้นทางสายสีน้ำตาลช่วงบางกะปิ-มีนบุรี, สายสีส้มช่วงบางกะปิ-บางบำหรุ และสายสีแดงอ่อนช่วงบางบำหรุ-ศาลายาเข้าด้วยกัน เป็นเส้นทางหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ที่จะเริ่มประกวดราคาในปี พ.ศ. 2552[12] แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้นในเวลาดังกล่าว ขณะที่เส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ ของ รฟท. ที่ทับซ้อนกับเส้นทางช่วงบางบำหรุ-ศาลายาได้เริ่มการประกวดราคาไปก่อนหน้านั้นแล้ว
  • วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2553 ได้เห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามที่ สนข. เสนอ โดยให้เส้นทางสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี อยู่ในแผนโครงข่ายเพิ่มเติมระยะ 10 ปี (เปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2562)
  • วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า ถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงมีนบุรี - บางกะปิ - ศูนย์วัฒนธรรม - ตลิ่งชัน อาจจะแบ่งดำเนินการเป็น 2 ช่วง เนื่องจากช่วงมีนบุรี-บางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรม ออกแบบเบื้องต้นไว้แล้ว แต่ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน มีการปรับแนวเส้นทางใหม่จึงต้องใช้เวลาออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกประมาณ 1-2 ปี
  • วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553 นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการ นักลงทน และนักวิชาการ ที่มีต่อโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สายสีส้ม วงบางกะปิ - บางบำหรุ ว่าทั้ง 2 เส้นทางมีปริมาณการใช้ของประชาชนอย่างไร และมีความจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหน เพื่อนำมาประกอบการการพิจารณาและเร่งรัดโครงการ
  • วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในเส้นทางตลิ่งชัน - ศูนย์วัฒนธรรม - บางกะปิ - มีนบุรี ให้สามารถดำเนินการได้ในปีพ.ศ. 2555 เนื่องจากมีความพร้อมในการดำเนินการ และได้ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว[13]
  • วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554 พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดนี้จะสร้างรถไฟฟ้า 10 สายให้เสร็จภายใน 7-8 ปี ทุกสายทางจะเริ่มต้นก่อสร้างและประมูลภายใน 4 ปีนี้ โดยสำหรับสายสีส้มจะสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางกะปิ - มีนบุรี ก่อนเพราะเนื่องจากส่วนที่เหลือเป็นโครงการใต้ดิน ซึ่งจะใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นจึงน่าจะเริ่มต้นดำเนินการไปได้หลังจากปีพ.ศ. 2558 ไปแล้ว[14]
  • วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555 ได้มีการลงนามสัญญาจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535[15]
  • เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 โครงการนี้เป็น1ในโครงการที่ทางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เตรียมจะเสนอโครงการนี้ให้ทางคณะรัฐมนตรีพิจจารณาภายในสิ้นปีพ.ศ. 2557และเปิดประมูลช่วงต้นปีพ.ศ. 2558
  • วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี ให้เตรียมกระบวนการประกวดราคาภายใน 6 เดือน และคาดว่าจะสามารถทำการเปิดประมูลได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดยมีประมาณการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565[16][17] พร้อมทั้งได้ให้แนวทางเพิ่มเติมให้ออกแบบงานก่อสร้างแบบประหยัด และเน้นการใช้วัสดุอุปกรณ์ ในส่วนที่สามารถผลิตภายในประเทศได้ เพื่อส่งเสริมการสร้างธุรกิจในประเทศรองรับการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบรางในอนาคต[18]
  • วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้จัดพิธีลงนามในสัญญาว่าจ้างการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม จำนวน 6 สัญญา โดยจะเริ่มงานก่อสร้างในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ใน พ.ศ. 2566
  • วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ทำการศึกษาและปรับรูปแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก จากเดิมที่รัฐเป็นผู้ลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนในส่วนระบบงานรถไฟฟ้า ให้เปลี่ยนเป็น เอกชนลงทุนเอง 100% ทั้งงานโยธาและงานเดินรถในรูปแบบ PPP-Net Cost เช่นเดียวกับสายสีชมพูและสายสีเหลือง คาดว่าใช้เวลา 1-2 เดือนถึงจะได้ข้อสรุปเรื่องการลงทุนในส่วนนี้ โดยสาเหตุของมติดังกล่าวคือคณะรัฐมนตรีเล็งเห็นว่าส่วนตะวันตกเป็นโครงการใต้ดินทั้งโครงการ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูง การให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง 100% จะช่วยเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐได้
  • เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ผู้ชนะการประมูลงานก่อสร้างเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการตามแนวถนนรามคำแหง และถนนพระราม 9 โดยยกเว้นพื้นที่บริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีรฟม. และศูนย์ซ่อมบำรุง เนื่องมาจากทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. ได้ขอใช้พื้นที่ในการจอดรถโดยสารประจำทางแบบใช้ก๊าซเอ็นจีวีที่ได้มาจากความร่วมมือกับ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งต่อมากรมสรรพากรได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลให้ เบสท์ริน กรุ๊ป ดำเนินการจ่ายภาษีนำเข้ารถย้อนหลัง แต่ทางเบสท์ริน กรุ๊ป กลับอ้างว่ารถดังกล่าวได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของ ขสมก. แล้ว ทำให้รถถูกทิ้งเอาไว้ที่พื้นที่ รฟม. พระราม 9 โดยไม่มีการนำออกมาใช้งาน ซึ่งต่อมา รฟม. ได้ฟ้องร้องให้ ขสมก. และ เบสท์ริน กรุ๊ป ดำเนินการย้ายรถออกจากพื้นที่ แต่ทั้งคู่ขอยื่นอุทธรณ์เนื่องจากกลัวเสียรูปคดี ซึ่งปัจจุบัน รฟม. ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ด้วยสาเหตุนี้
  • 7 กันยายน พ.ศ. 2561 คณะกรรมการ รฟม. ได้มีการจัดการประชุมนัดพิเศษ และมีมติเห็นชอบในรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และการให้ผู้ให้บริการรายเดียวเดินรถครบทั้งสายมูลค่าการลงทุนรวม 143,000 ล้านบาท ภายใต้รูปแบบสัญญาการร่วมลงทุน PPP-Net Cost โดยจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมเห็นชอบภายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 เสนอให้คณะรัฐมนตรีรวมถึงคณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบภายในปีนี้ และเปิดประมูลโครงการอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2562 เพื่อให้การดำเนินการเชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสีส้มส่วนตะวันออกสามารถเปิดดำเนินการได้ใน พ.ศ. 2566 โดยในร่างสัญญาเอกชนผู้ประมูลงานจะต้องเสนอราคาค่าก่อสร้างงานโยธาโดยรวมทั้งระบบภายใต้งบประมาณไม่เกิน 96,000 ล้านบาท และเสนอความคุ้มค่าและความเสี่ยงในการรับภาระส่วนแบ่งค่าโดยสาร[19]
  • 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561 คณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ คณะกรรมการพีพีพี มีมติไม่อนุมัติการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกภายใต้กรอบวงเงิน 128,000 ล้านบาท หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีข้อกังขาในเรื่องการเปิดประมูลโครงการด้วยการรวมงานก่อสร้างและงานเดินรถเป็นสัญญาเดียว จากเดิมที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ดำเนินการโครงสร้างส่วนตะวันออกโดยการเปิดประมูลแยกเป็นรายสัญญาไป ว่าการประมูลจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์แก่เอกชน หรืออาจเป็นการสมยอมราคากันหรือไม่ จึงขอให้ รฟม. ทบทวนรูปแบบการลงทุนใหม่เพื่อหาความเหมาะสมร่วมกัน[20]
  • 9 มกราคม พ.ศ. 2562 นายประคิน อรุโณทอง Senior Vice President สายงานการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สัญญาที่ 3 (โครงสร้างใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า) ได้จัดพิธีเริ่มดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ โดยมีนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นประธานในพิธี การก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่สถานีคลองบ้านม้า ถนนรามคำแหง มุ่งหน้าไปถนนพระราม 9 และสิ้นสุดการก่อสร้างตามสัญญาที่ 3 ที่สถานีหัวหมาก ทั้งนี้อิตาเลียนไทยคาดว่ากระบวนการก่อสร้างอุโมงค์แรกจะใช้เวลาทั้งหมด 12 เดือน หลังจากนั้นจะดำเนินการรื้อถอนอุปกรณ์ทั้งหมดกลับมาติดตั้งที่สถานีคลองบ้านม้า แล้วดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ที่สองต่อทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี พ.ศ. 2564[21]
  • 9 มกราคม พ.ศ. 2562 นายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม. ยืนยันที่จะเปิดประมูลโครงการส่วนตะวันตกทั้งหมดภายใต้สัญญาเดียว มูลค่าการลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท หลังจากที่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561 คณะกรรมการพีพีพีมีมติไม่อนุมัติโครงการเนื่องจากสภาพัฒน์มีข้อกังขาเรื่องการรวมงานก่อสร้างและงานเดินรถเป็นสัญญาเดียว โดยทางสภาพัฒน์เกรงว่าหากรวมเป็นสัญญาเดียวจะทำให้มีเอกชนเข้าร่วมประมูลน้อยราย ดังเช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่มีเอกชนเข้ามาซื้อซองกว่า 31 ราย แต่มีผู้เข้าประมูลจริงเพียง 2 กลุ่มกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเอกชนเพียง 8 รายเท่านั้น ทั้งนี้ รฟม. ได้อธิบายให้สภาพัฒน์เข้าใจและเห็นชอบในรายละเอียดโครงการแล้ว โดยระบุว่าด้วยตัวเลขของวงเงินลงทุนที่เอกชนต้องลงทุน จะทำให้รัฐฯ ได้เอกชนที่มีศักยภาพในการลงทุนและดำเนินงานเข้ามาบริหารจัดการโครงการอย่างเป็นระบบ[22]
  • 21 มกราคม พ.ศ. 2562 นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เปิดเผยถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการพีพีพีครั้งที่ 1/2561 ว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี ภายใต้กรอบวงเงินการลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติให้ดำเนินโครงการภายใต้รูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนกรรมสิทธิ์และการจัดสรรที่ดินสำหรับโครงการ เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาเฉพาะส่วนตะวันตก จัดหาระบบรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตก บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานี และจัดเก็บค่าโดยสารภายใต้กรอบระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มเดินรถในส่วนตะวันออก[23]
  • 28 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร รวมทั้งงานระบบรถไฟฟ้า ซ่อมบำรุง และเดินรถไฟฟ้าตลอดสายรวม 35.9 กิโลเมตร ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนรวม 122,067 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost สัญญาเดียว เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยรัฐบาลจะอุดหนุนเอกชนภายใต้วงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท และจะผ่อนผันคืนเอกชนเป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เริ่มเดินรถในส่วนตะวันออก คาดว่าจะเปิดคัดเลือกเอกชนอย่างเป็นทางการภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 และจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการภายในต้นปี พ.ศ. 2564[24]
  • 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 บอร์ด รฟม. มีมติอนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ของ พรบ.ร่วมทุน และมีมติเร่งรัดการดำเนินการเรื่องเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะสามารถเผยแพร่เอกสารประกวดราคาได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้เวลาเอกชนทำข้อเสนอ 60 วัน และยื่นข้อเสนอทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติพร้อมลงนามสัญญาสัมปทานได้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะได้สามารถก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2564 การประมูลจะเป็นรูปแบบ International Bidding เช่นเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดย รฟม. คาดว่าหลังเซ็นสัญญา จะสามารถเปิดให้บริการสายสีส้มส่วนตะวันออกได้ก่อน ใน พ.ศ. 2567 และจะเปิดให้บริการครบทั้งระบบได้ใน พ.ศ. 2570 โดยเบื้องต้นจะจัดซื้อรถไฟฟ้าสำหรับให้บริการ 40 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้[25]
  • 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติไม่เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อใช้ดำเนินกิจการก่อสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้เหตุผลว่าการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังไม่เรียบร้อย และมีข้อร้องเรียนจากประชาชน โดยเฉพาะประชาชนย่านชุมชนประชาสงเคราะห์ที่ยื่นขอให้ทบทวนโครงการ จึงขอให้ รฟม. นำรายละเอียดทั้งหมดกลับเข้ากระบวนการพิจารณาให้เรียบร้อยเสียก่อน และขอให้ระงับการดำเนินงานทั้งหมดโดยเฉพาะการหาผู้รับจ้าง เพราะหากลงนามสัญญาไป จะเกิดปัญหาผู้รับจ้างไม่สามารถเริ่มงานได้ เนื่องจากยังไม่ได้พื้นที่ก่อสร้าง ทำให้เกิดความเสียหาย และจะมีค่าโง่ตามมา[26]
  • 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมติเห็นชอบเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) และรายละเอียดการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ โดยมีกำหนดการประกาศเชิญชวนฯ ระหว่างวันที่ 3–9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 จำหน่ายเอกสารระหว่างวันที่ 10–24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และมีกำหนดการให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือน กันยายน พ.ศ. 2563 คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2563
  • 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 - เริ่มเปิดขายซองประมูลโครงการฯ (RFP: Request for Proposal) โดยมีเอกชนแสดงความสนใจเข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 10 ราย

ใกล้เคียง

รถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

แหล่งที่มา

WikiPedia: รถไฟฟ้ามหานคร_สายสีส้ม http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/651165 http://www.fs-yellow-brown-pink.com/brown.htm http://www.posttoday.com/biz/gov/403973 http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=617... http://www.thannews.th.com/detialnews.php?id=R3323... http://www.thanonline.com/index.php?option=com_con... http://www.youtube.com/watch?v=oRxOmAGwZEU http://www.mrta-orangeline.net/contentimage/pagea4... http://www.mrta-orangeline.net/index.php http://www.thaipr.net/nc/readnews.aspx?newsid=BC09...