การปรับเปลี่ยนเส้นทาง ของ รถไฟฟ้ามหานคร_สายสีส้ม

  • ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2538 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายบางกะปิ - สามเสน -ราษฎร์บูรณะ แต่ในภายหลังได้มีการปรับแผนแม่บทฯ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เส้นทางช่วงสามเสน - ราษฎร์บูรณะกลายเป็นเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง (บางใหญ่ - บางซื่อ - สามเสน - ราษฎร์บูรณะ) ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ที่ปรับปรุงมาจากเส้นทางสายสีส้มเดิมและสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเดิม (บางใหญ่ - บางซื่อ) จากนั้นได้ต่อขยายเส้นทางสายสีส้มจากสามเสนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันตก กลายเป็นเส้นทางบางกะปิ - สามเสน - บางบำหรุ ต่อมาเส้นทางส่วนต่อขยายที่ต่อเนื่องมาจากสายสีส้มตามแนวถนนรามคำแหงช่วงบางกะปิ - มีนบุรีได้ถูกแยกออกไปเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เมื่อปี พ.ศ. 2548
  • ปี พ.ศ. 2548 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความพยายามปรับแผนแม่บทโดยเสนอแนวทางเลือกโครงการทดแทนรถไฟฟ้าสายสีส้มด้วยระบบบีอาร์ที ในเส้นทางบางกะปิ-รามคำแหง-คลองตัน เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรามคำแหงของเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนแทนการเชื่อมต่อกับสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นอกจากบีอาร์ทีแล้ว ยังมีข้อเสนอแนะให้ใช้รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) แทนในเส้นทางช่วงนี้เพื่อให้สามารถก่อสร้างเส้นทางในเขตทางของถนนรามคำแหงที่แคบได้ ขณะที่เส้นทางเข้าสู่ใจกลางเมืองมุ่งหน้าบางบำหรุได้มีข้อเสนอแนะให้ทดแทนด้วยเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงสถานีรถไฟมักกะสัน-ยมราช ต่อเนื่องไปยังระบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีแดงที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ช่วงยมราช - ถนนพิษณุโลก - สามเสน - ราชวิถี - ซังฮี้ - บางบำหรุ เนื่องจากเส้นทางสายสีส้มมีแนวเส้นทางคู่ขนานกับสายสีแดงอ่อนอยู่แล้ว[6] แต่แนวคิดที่จะยกเลิกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มพร้อมกับสายสีม่วงในครั้งนั้นมีประชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ต่อมาก็ไม่ปรากฏเส้นทางทดแทนสายสีส้มนี้ในแผนงานอื่นใดอีก
  • ปี พ.ศ. 2551 นายกรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช พยายามปรับแผนแม่บท โดยต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มจากบางกะปิไปถึงมีนบุรี และจากบางบำหรุผ่านสถานีตลิ่งชัน ไปสิ้นสุดที่สถานีศาลายา ซึ่งเส้นทางช่วงบางกะปิ-มีนบุรีทับซ้อนกับเส้นทางสายสีน้ำตาล และช่วงบางบำหรุ - ศาลายาทับซ้อนกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน และส่วนต่อขยายที่มีอยู่ในแผนแม่บทก่อนหน้านั้น แต่ในเวลาต่อมาทาง สนข. ไม่ได้นำเอาเส้นทางดังกล่าวไปบรรจุในแผนแม่บท เนื่องจากไม่เคยมีการศึกษาความเหมาะสมมาก่อน[7]
  • ปี พ.ศ. 2552 การปรับแผนแม่บทฯ ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้เส้นทางสายสีน้ำตาลกลับมารวมกันกับเส้นทางสายสีส้มอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางสายสีส้มช่วงบางบำหรุ-ศูนย์วัฒนธรรมฯ มาเป็นตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม โดยสลับกับเส้นทางสายสีแดงอ่อน โครงข่ายในเมือง จากช่วงตลิ่งชัน - มักกะสัน มาเป็นบางบำหรุ - มักกะสัน ส่งผลให้ต้องมีการเสนอการเปลี่ยนแปลงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ การปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางครั้งมีส่งผลดี คือเพิ่มความสามารถในการให้บริการประชาชน เนื่องจากสายสีส้มมีลักษณะเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดหนัก มีความถี่ของการเดินรถและสถานีมากกว่ารูปแบบรถไฟชานเมืองของสายสีแดงอ่อน จึงสอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ดังกล่าวที่มีการเดินทางสูง (ต่างจากลักษณะการเดินทางตามแนวถนนราชวิถี-สิรินธรที่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นรถไฟชานเมือง) สายสีส้มจะมีแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายอื่นได้มากขึ้น ทำให้เดินทางสะดวก มีการเปลี่ยนต่อรถไฟฟ้าน้อยลง และเพิ่มพื้นที่การให้บริการตามแนวถนนเพชรบุรีและราชปรารภ ทั้งยังเป็นการทดแทนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวอ่อน ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนกในอดีตที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง
  • ปี พ.ศ. 2554 สนข. มีการลดระยะทางเปลี่ยนสถานีปลายทางจากสถานีตลิ่งชัน เป็นสถานีบางขุนนนท์ เนื่องจากทับซ้อนกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน - ศาลายา
  • ปี พ.ศ. 2555 มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางในช่วง ศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางกะปิ จากเดิมที่เมื่อออกจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแล้ว จะเข้าสู่ถนนเทียมร่วมมิตร แล้วตัดข้ามถนนประดิษฐ์มนูธรรม เข้าสู่ซอยนวศรี (รามคำแหง 21) เป็นเมื่อออกจากศูนย์ซ่อมบำรุง รฟม. แล้ว จะเข้าสู่ถนนพระราม 9 บริเวณหน้าที่ทำการ รฟม. มุ่งหน้าแยกพระราม 9 - ประดิษฐ์มนูธรรม แทน เนื่องจากถนนเทียมร่วมมิตร มีพื้นที่จำกัด อาจเกิดปัญหาตามมาในอนาคต อีกทั้งถนนพระราม 9 ยังสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น [8]
  • ปี พ.ศ. 2557 มีการต่อต้านการก่อสร้างโครงการภายในพื้นที่ชุมชนประชาสงเคราะห์อันเป็นที่ตั้งของ สถานีประชาสงเคราะห์ โดยแกนนำให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่เอกชน และไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเวนคืนที่ดินไปเพราะเป็นการทำรถไฟฟ้าใต้ดินที่ทำโดยผ่านชุมชน และตัดถนน เพิ่มขนาด 4 เลนตามแนวรถไฟฟ้าทำให้มีประชาชนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ภายหลัง รฟม. ได้จัดประชุมเพื่อสอบถามความเห็นในการก่อสร้างโครงการ ซึ่งชุมชนยังคงให้เสียงเดียวกันว่า ต้องการให้รถไฟฟ้าไปผ่านถนนหลัก และเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนตรงนั้นแทน หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 รฟม. ได้มีการจัดประชุมเพื่อสอบถามความเห็นอีกครั้ง เพื่อสอบถามว่าต้องการให้รถไฟฟ้าผ่านทางเส้นทางไหน ซึ่งได้แก่ เส้นทางเดิม รางน้ำ - ดินแดง - ประชาสงเคราะห์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ โดยเส้นทางเดิมจะมีการปรับพื้นที่ของสถานีประชาสงเคราะห์ ไปใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาดรุณพิทยา ที่เลิกกิจการไปแล้ว กับเส้นทางใหม่ซึ่งก็คือ รางน้ำ - เคหะดินแดง - พระราม 9 โดยเอาสถานีประชาสงเคราะห์ออก ย้ายสถานีดินแดงมาตั้งอยู่ด้านหน้าโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ส่วนกลาง และสถาบันราชานุกูล (ใช้ชื่อว่า สถานีเคหะดินแดง) และย้ายสถานีเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินจากเดิมสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นสถานีพระราม 9 แต่จะไม่เชื่อมกับสถานีเดิมโดยตรง เนื่องจากสถานีพระราม 9 ใหม่จะตั้งอยู่ด้านหน้าซอยพระราม 9 ซอย 3 (ด้านหน้าโครงการ แกรนด์ พระราม 9) บริเวณถนนพระราม 9 แต่การก่อสร้างเส้นทางนี้ จะต้องมีการปิดถนนพระราม 9 เพื่อเปิดหน้าดิน ซึ่งกลุ่มชุมชนก็ให้ความเห็นว่าย้ายไปถนนพระราม 9 ที่มีความต้องการในการใช้ระบบขนส่งมวลชนมากกว่า จะเป็นการให้ผลประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด หลังจากนั้นจึงมีการพิจารณาปรับเส้นทางให้กลายเป็น รางน้ำ - เคหะดินแดง - พระราม 9 ในเวลาต่อมา และมีผลทำให้เส้นทาง มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่กำลังจะประมูลงานก่อสร้าง ต้องมีการพิจารณาเส้นทางเพื่อปรับไปใช้ถนนพระราม 9 จนกลายเป็น มีนบุรี - พระราม 9 ตะวันออก อีกครั้ง
  • พ.ศ. 2558 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร มีมติติให้ยึดการก่อสร้างเส้นทางช่วง รางน้ำ - ดินแดง - ประชาสงเคราะห์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ตามเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางใดๆ ตามที่ รฟม. เคยประกาศทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางที่มีการสำรวจเส้นทาง ศึกษาแผนงาน และประกาศเส้นทางให้รับทราบมานาน มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นเส้นทางที่ได้รับความเห็นชอบด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และเป็นเส้นทางที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์กับโครงการและประชาชนมากที่สุด เนื่องจากผ่านย่านชุมชนที่สำคัญ อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และอยู่ใกล้กับอาคารธานีนพรัตน์ หรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางราชการของกรุงเทพมหานครในอนาคต[9]

ใกล้เคียง

รถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

แหล่งที่มา

WikiPedia: รถไฟฟ้ามหานคร_สายสีส้ม http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/651165 http://www.fs-yellow-brown-pink.com/brown.htm http://www.posttoday.com/biz/gov/403973 http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=617... http://www.thannews.th.com/detialnews.php?id=R3323... http://www.thanonline.com/index.php?option=com_con... http://www.youtube.com/watch?v=oRxOmAGwZEU http://www.mrta-orangeline.net/contentimage/pagea4... http://www.mrta-orangeline.net/index.php http://www.thaipr.net/nc/readnews.aspx?newsid=BC09...