อรรถาธิบาย ของ ระบบการเงินในระดับจุลภาค

แนวคิดเรื่องระบบการเงิน สินเชื่อ ตลอดจนสถาบันทางการเงินในระดับจุลภาคนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกโดยนายโมฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus or মুহাম্মদ ইউনুস) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจิตตะกอง (University of Chittagong) โดยในระหว่างชีวิตการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนี่เองที่ทำให้ยูนุสได้มีโอกาสเข้าไปลงพื้นที่ศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความยากจนในชุมชนเล็กๆ แออัดแห่งหนึ่ง ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาที่เกิดสภาวะข้าวยากหมากแพงของบังกลาเทศในปี ค.ศ. 1974 (Bangladesh famine of 1974) ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนั้นได้ทำให้ยูนุสพบว่า การได้รับสินเชื่อแม้เพียงก้อนเล็กๆ สำหรับคนยากคนจนนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตของพวกเขาได้อย่างมากมาย โดยยูนุสได้ควักเงินในกระเป๋าตัวเองมอบให้เป็นสินเชื่อให้จำนวนรวมกันทั้งสิ้น 27 เหรียญ (ประมาณหนึ่งพันบาท) ให้แก่ผู้หญิงในชุมชนนั้นจำนวน 42 คน ซึ่งภายหลังพบว่าการได้รับสินเชื่อในครั้งนั้นได้ทำให้รายได้ของคนเหล่านั้นเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยคนละกว่า 0.02 เหรียญจากการได้รับเงินสินเชื่อในครั้งนั้น (Yunus, 2007: 44-48)[2] ซึ่งจากผลการสังเกตดังกล่าวของยูนุสได้ทำให้เขาฉุกคิดได้ว่า หากมีธนาคารที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อก้อนเล็กๆให้แก่คนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสได้รับสินเชื่อในสถาบันทางการเงินปกติแล้วนั้น นอกจากจะทำให้พวกเขามีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ในระดับมหภาคยังสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบังกลาเทศได้อีกด้วย

จากแนวคิดดังกล่าวนี้ ทำให้เขาได้ริเริ่มก่อตั้งธนาคารเพื่อคนยากคนจน ซึ่งภายหลังได้รับชื่อว่า ธนาคารกรามีน (Grameen bank หรือ গ্রামীণ বাংক) ที่เน้นปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กให้แก่คนยากคนจนตามแนวคิดของยูนุส โดยแนวคิดและหลักการดำเนินงานของธนาคารกรามีน ทำให้ยูนุส และแนวคิดของเขามีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2006 ยูนุส และธนาคารกรามีนในฐานะ “นายธนาคาร และธนาคารขวัญใจคนยากคนจน” ได้รับรางวัลโนเบลในฐานะที่ได้พยายามสร้างเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมจากเบื้องล่าง[3]

ใกล้เคียง

ระบบการทรงตัว ระบบการได้ยิน ระบบการเห็น ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก ระบบการลงคะแนน ระบบกึ่งประธานาธิบดี ระบบการลงคะแนนแบบคะแนนรวม ระบบการออกเสียงภาษาบาลี ระบบการนำไฟฟ้าหัวใจ ระบบกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลี 2000