ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ ระบบการเงินในระดับจุลภาค

สำหรับในประเทศไทย แนวคิดเรื่องไมโครไฟแนนซ์ที่มีต้นแบบมาจากธนาคารกรามีนของยูนุสนั้นได้เข้ามามีอิทธิพลในเชิงนโยบายสาธารณะที่ภาครัฐให้การสนับสนุนและช่วยเหลือมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการจัดให้มีหน่วยงานอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และโครงการเงินล้าน (หรือกองทุนเงินล้าน) เพื่อเป็นตัวช่วยให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้นมีรายได้ หรือ แหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการประกอบอาชีพ และนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการกองทุนเงินล้าน ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากนโยบายกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลที่จะจัดสรรเงินให้แก่หมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศไทย หมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท ซึ่งเงินในจำนวนนี้ในมุมหนึ่งแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นการทำให้ชาวบ้านมีหนี้สินเพิ่ม และนำเงินที่ได้มาจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว กลับพบว่าเงินในส่วนนี้นอกจากจะสามารถแบ่งเบาภาระในส่วนของต้นทุนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรได้แล้ว ยังสามารถช่วยให้พวกเขาไม่ต้องหันไปกู้ยืมจากผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบได้อีกด้วย แต่ทว่าการที่สถาบันทางการเงินระดับจุลภาคเหล่านี้ขึ้นตรงต่อหน่วยงานของรัฐ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการทุจริต และเอื้อผลประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ง่าย ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้สถาบันระดับจุลภาคของไทยแตกต่างจากธนาคารกรามีนของยูนุสที่ดำเนินงานแบบเอกชน ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ และปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธนาคารแทน

“ไมโครไฟแนนซ์ในประเทศไทย” มีการจัดทำเว็บไซต์ www.microfinancethailand.com เพื่อประชาสัมพันธ์ไมโครเครดิตให้เป็นที่รู้จัก โดยความหวังของผู้จัดทำเว็บไซต์ดังกล่าวก็เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ของผู้ดำเนินการไมโครเครดิต หรือไมโครไฟแนนซ์ต่างๆ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานและองค์กรภาครัฐ) เพื่อพัฒนาโครงการ และการบริการลูกค้า องค์กรเอ็นจีโอ (NGOs) บางองค์กรที่เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนแนวคิดเรื่องไมโครไฟแนนซ์ เช่น คอมเพชชั่น ไทยแลนด์ หรือ มูลนิธิศุภนิมิต เป็นต้น[4]

โดยพื้นฐานแล้วธนาคารกรามีนทำงานอยู่บนหลักการที่ว่าระบบการเงิน หรือ ธุรกิจนั้นควรจะรับใช้สังคม ดังนั้น การให้สินเชื่อแก่คนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงได้ในระบบการเงินปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยในการนี้การปล่อยสินเชื่อก้อนเล็กๆให้แก่บุคคล ยืนอยู่บนหลักการสำคัญสองประการ ประการแรกคือ อัตราดอกเบี้ยที่เก็บจากการขอสินเชื่อนั้นจะต้องเป็นไปตามราคาตลาด นั่นก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และประการที่สองคือ การขอสินเชื่อนั้นจะต้องไม่มีการกีดกันด้วยการเรียกร้องให้มีการยื่นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยทำให้คนในระดับล่างสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เงินจำนวนดังกล่าวนี้พวกเขาสามารถนำไปใช้ในการลงทุน หรือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาต่อไป โดยจุดเด่นของแนวคิดนี้คือการละทิ้งสิ่งที่เรียกว่า “เครดิต” อันหมายถึงหลักทรัพย์ค้ำประกัน มาแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า ไมโครเครดิต (Microcredit) หรือสิ่งค้ำประกันอย่างอื่น เช่น คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี และความไว้เนื้อเชื่อใจแทนที่หลักทรัพย์ในแบบเดิมนั่นเอง (แฟ้มบุคคลสำคัญมุสลิม)[5]

นอกเหนือไปจากการรับใช้สังคมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ธนาคารกรามีน ยังส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมควบคู่ไปพร้อมๆ กับศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย ดังสะท้อนจากหลักสิบหกประการ (sixteen decisions) ที่ธนาคารกรามีนร้องขอให้ผู้ที่มาขอกู้ยืมสินเชื่อนั้นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยหลักการที่ว่านั้นประกอบด้วย

  1. ธนาคารกรามีนตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานสี่อย่าง คือ ระเบียบวินัย (discipline) เอกภาพ (unity) ความหาญกล้า (courage) และการทำงานหนัก (hard work)
  2. เราจะนำความมั่งคั่งมาสู่ครอบครัวของเรา
  3. เราจะไม่อาศัยอยู่ในบ้านที่ชำรุดทรุดโทรม และเราจะทำการบูรณะ และซ่อมแซมที่พักอาศัยของเราให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  4. เราจะปลูกพืชผักสวนครัวสำหรับทุกฤดูกาลเพื่อใช้บริโภค และส่วนเกินที่เหลือนั้นจึงนำไปขาย
  5. ในฤดูเพาะปลูกนั้นเราจะปลูกพืชให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้
  6. เราจะวางแผนให้ครอบครัวของเรานั้นมีขนาดเล็ก ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และดูแลรักษาสุขภาพของกันและกัน
  7. เราจะให้การศึกษาแก่บุตรหลาน และมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับการศึกษาของพวกเขา
  8. เราจะดูแลให้สภาพแวดล้อม และบุตรหลานภายในบ้านของเรานั้นสะอาด
  9. เราจะสร้างและใช้สุขาหลุม (pit latrines)
  10. เราจะต้มน้ำให้เดือด หรือ ใช้สารส้มแกว่งก่อนจะบริโภค
  11. เราจะไม่รับสินสอดจากฝ่ายหญิง (dowry) และจะไม่สนับสนุนให้มีการแต่งงานในวัยเด็ก
  12. เราจะไม่กระทำการอยุติธรรมแก่ผู้อื่น และในขณะเดียวกันเราก็จะไม่ยอมให้ผู้ใดกระทำการเช่นนั้นแก่ผู้อื่น
  13. พวกเราจะลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างเป็นกลุ่มไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้รายได้ที่มากขึ้น
  14. เราต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ถ้ามีคนใดคนหนึ่งตกอยู่ในภาวะยากลำบาก พวกเราทั้งหมดที่เหลือจะต้องเข้าไปช่วย
  15. ถ้าเราทราบว่ามีการละเมิดระเบียบขึ้นที่ใด พวกเราจะต้องช่วยกันไปที่แห่งนั้น และธำรงไว้ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวนี้
  16. พวกเราจะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมส่วนรวม (Yunus, 2007: 58-59)[6]

ใกล้เคียง

ระบบการทรงตัว ระบบการได้ยิน ระบบการเห็น ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก ระบบการลงคะแนน ระบบกึ่งประธานาธิบดี ระบบการลงคะแนนแบบคะแนนรวม ระบบการออกเสียงภาษาบาลี ระบบการนำไฟฟ้าหัวใจ ระบบกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลี 2000