บทบัญญัติหลัก ของ รัฐธรรมนูญเมจิ

อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ โดยให้เหตุผลว่า ทรงสืบเชื้อสายสวรรค์อย่างไม่ขาดตอนมาชั่วกาลนาน ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่อิงหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

เนื่องจากเป็นการนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กษัตริย์มีอำนาจสมบูรณ์) กับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (กษัตริย์ถูกจำกัดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ) มาประสมกัน จึงมีบางบทบัญญัติที่ขัดแย้งกันเองในประเด็นจักรพรรดิหรือรัฐธรรมนูญกันแน่ที่มีอำนาจสูงสุด

มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติว่า จักรพรรดิทรงเป็นประมุขของจักรวรรดิ สิทธิต่าง ๆ ในความเป็นอธิปไตยประมวลอยู่ในพระองค์ทั้งสิ้น อำนาจที่แบ่งเป็นสามฝ่าย คือ บริหาร, นิติบัญญัติ, ตุลาการ นั้นรวมอยู่ที่พระองค์ อย่างน้อยก็ในทางนิตินัย แต่มาตรา 5 และ 64 ระบุว่า กฎหมายและงบประมาณต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย นอกจากนี้ บางกิจการก็จะต้องกระทำในพระนามาภิไธย เช่น การออกกฎหมาย และการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

มาตรา 3 ว่า จักรพรรดิทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งกลุ่มนิยมเจ้าแบบสุดโต่งตีความว่า หมายถึง จักรพรรดิมีพระราชอำนาจจะยกเลิกรัฐธรรมนูญหรืองดใช้บทบัญญัติบางบทก็ได้

มาตรา 11 ว่า จักรพรรดิทรงบัญชาทหารบกและทหารเรือทั้งปวง ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกและทหารเรือตีความว่า หมายถึง ทหารทั้งปวงจะเชื่อฟังแต่พระราชโองการเท่านั้น ไม่จำต้องเชื่อฟังคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

มาตรา 55 ว่า พระราชโองการไม่มีผลเป็นกฎหมายอยู่ในตัว เว้นแต่มีรัฐมนตรีลงชื่อรับสนอง อย่างไรก็ดี จักรพรรดิมีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัย

สิทธิและหน้าที่ของพสกนิกร

รัฐธรรมนูญระบุว่า พสกนิกรญี่ปุ่น (Japanese subject) มีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ (คำปรารภ), เสียภาษี (มาตรา 21), และเป็นทหารเมื่อถูกเกณฑ์ (มาตรา 20)

รัฐธรรมนูญให้พสกนิกรบางกลุ่มมีสิทธิและเสรีภาพบางประการดังต่อไปนี้ เว้นแต่กฎหมายกำหนดไว้เป็นอื่น

  • เสรีภาพในการอยู่อาศัย (มาตรา 22)
  • สิทธิที่จะไม่ถูกค้นหรือบุกรุกเคหสถาน (มาตรา 25)
  • สิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสาร (มาตรา 26)
  • สิทธิในทรัพย์สินส่วนตัว (มาตรา 27)
  • เสรีภาพที่พูด ชุมนุม หรือสมาคม (มาตรา 29)
  • สิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการโดยเท่าเทียมกัน (มาตรา 19)
  • สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยชอบ (มาตรา 23)
  • สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีในศาล (มาตรา 24)
  • เสรีภาพทางศาสนา ตราบที่ไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือหน้าที่ในฐานะพสกนิกร (มาตรา 28)
  • สิทธิที่จะถวายฎีกา (มาตรา 30)

องค์กรของรัฐบาล

รัฐธรรมนูญให้จักรพรรดิมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการ ประกาศสงคราม ทำสัญญาสันติภาพ ทำสนธิสัญญา ยุบสภาล่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และออกพระราชกำหนดในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่นอกสมัยประชุม ที่สำคัญ คือ มีพระราชอำนาจบัญชาทั้งทัพบกทัพเรือโดยตรง รัฐธรรมนูญยังกำหนดว่า คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐธรรมนูญที่ต้องขึ้นตรงต่อจักรพรรดิ มิใช่ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และยังกำหนดให้มีคณะองคมนตรี ส่วนองค์กรที่ไม่ได้กำหนดในรัฐธรรมนูญ คือ เก็นโร (元老) ซึ่งประกอบด้วยคนวงในที่คอยถวายคำปรึกษาต่อจักรพรรดิ เป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลมาก

รัฐธรรมนูญนี้ให้สภานิติบัญญัติประกอบด้วยสภาย่อยสองสภา คือ สภาสูง เรียกว่า "คิโซกุอิง" (貴族院; "สภาขุนนาง") ประกอบด้วย สมาชิกราชวงศ์ ขุนนาง และบุคคลอื่น ๆ ที่ทรงแต่งตั้ง กับสภาล่าง เรียกว่า "ชูงิอิง" (衆議院; "สภาปรึกษาทั่วไป") ประกอบด้วย บุคคลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนที่เป็นชาย ชายคนไหนมีสิทธิเลือกตั้งเท่าไร ขึ้นอยู่กับว่า เสียภาษีมากน้อยเท่าไร คุณสมบัตินี้ผ่อนคลายลงใน ค.ศ. 1900 และ 1919 กระทั่ง ค.ศ. 1925 ที่เริ่มกำหนดให้ชายทุกคนมีสิทธิเสมอหน้ากันในการเลือกตั้ง[4]

อำนาจนิติบัญญัติเป็นของสภานิติบัญญัติและจักรพรรดิ สภาและจักรพรรดิต้องเห็นชอบด้วยกันในการตรากฎหมาย แต่สภามีอำนาจร่างกฎหมาย รวมถึงพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายและงบประมาณ

ใกล้เคียง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญสหรัฐ รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 รัฐธรรมนูญเมจิ