ก่อนการรัฐประหาร ของ รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2534

23 เมษายน พ.ศ. 2533 กองบัญชาการทหารสูงสุดแถลงการณ์ยึดรถโมบายยูนิตของ อสมท. ซึ่งจอดอยู่บริเวณวัดไผ่เลี้ยง เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร เพราะต้องสงสัยทำให้ระบบสื่อสารของทหารถูกรบกวน เมื่อองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ขอทวงรถคืน แต่ถูกปฏิเสธจากพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร้อยตำรวจเอกเฉลิมจึงได้ให้สัมภาษณ์โจมตีพลเอกสุนทร เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปว่าพรรคมวลชนทำหนังสือถึงสมาชิกให้เดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้กำลังใจร้อยตำรวจเอกเฉลิม พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกได้อาศัยอำนาจของผู้อำนวยการรักษาพระนคร ออกคำสั่งที่ 43/2533 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2519 ห้ามชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจะนำ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ รองนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่ง ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เวลา 13.00 น.

ในคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก รับประทานอาหารค่ำที่โรงแรมโอเรียนเต็ลห้องใกล้กับที่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกและนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่งรับประทานอาหารอยู่ในขณะที่ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พักผ่อนอยู่ที่บ้านพักในซอยราชครู (พหลโยธินซอย 5)

ต่อมาเวลาประมาณ 24.00 น. วิทยุข่ายสามยอดของกองปราบรายงานว่า "ป.๑" อันหมายถึง พลตำรวจตรี เสรี เตมียเวส (ปัจจุบันคือ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส) ผู้บังคับการกองปราบในขณะนั้นได้เดินทางถึงหน่วยคอมมานโด ที่ซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว และสั่งให้กองปราบ "เตรียมพร้อม" เพราะมีข่าวว่าอาจจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น

ในเวลา 04.30 น. นายเวรของ พลตำรวจตรี เสรี เตมียเวส ได้แจ้งยกเลิกการเตรียมดังกล่าวภายหลังจากที่มีการตรวจสอบว่าไม่มีการเคลื่อนกำลังของหน่วยใด

สำหรับการเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ในคืนนั้น นอกจาก พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศที่เดินทางกลับจากราชการที่ประเทศเกาหลีแล้วล้วนอยู่ในสภาพปกติทั้งสิ้น

กระทั่งเวลา 06.00 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทุกอย่างยังอยู่ในความสงบ

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500