เหตุผลของการรัฐประหาร ของ รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2534

พลเอก สุนทร คงสมพงษ์รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ รสช.

ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ยืนยันถึงการล้มล้างรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ว่าได้กระทำการเรียบร้อยสมบูรณ์ในเวลา 11.30 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติก็ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ชี้แจงเหตุผลของการกระทำในเวลาต่อมา

ประการที่ 1 พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง คณะผู้บริหารประเทศได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของรัฐมนตรีเกือบทุกคนที่ต้องแสวงหาเงินเพื่อสร้างฐานะความร่ำรวยเป็นฐานอำนาจทางการเมือง ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจมีการฉ้อราษฏร์บังหลวงอย่างกว้างขวางในหมู่รัฐมนตรีรวมทั้งข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูงบางคนก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกลับไม่เอาใส่ที่แก้ไขอย่างจริงจังกลับแสดงความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วยการยืนยันว่า หากพบผู้ใดประพฤติมิชอบให้เอาใบเสร็จมายืนยันด้วย

ประการที่ 2 ข้าราชการการเมือง ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง รับราชการไม่เจริญก้าวหน้า ถูกข่มเหงรังแก หากไม่ยินยอมเป็นพรรคพวก หลายท่านต้องลาออกราชการ

ประการที่ 3 รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรครัฐบาลได้ร่วมมือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล รวมทั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีบ้านพิษณุโลก ใช้อุบายอันแยบยลทางการเมืองสร้างภาพลวงตาประชาชนว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แล้วพลิกแพลงหาประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยทั่วไป แท้จริงแล้วใช้ผลประโยชน์เป็นตัวนำการเมือง ระดับรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่บริหาร รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ นำประเทศไปสู่การปกครองระบอบเผด็จการทางรัฐสภาเมื่อเป็นเช่นนี้ การวางตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญทั้งทางการเมืองและข้าราชการประจำจึงตกอยู่กับพรรคพวกนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น เป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดการกอบโกยผลประโยชน์ จึงนับว่าเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ประการที่ 4 การทำลายสถาบันทางทหาร ทหารเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมือง จากสภาพโดยส่วนรวมทั่วไปจะเห็นว่ารัฐบาลได้เผชิญหน้ากับฝ่ายทหารมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีลิตเติลดั๊ก รถวิทยุสื่อสารเคลื่อนที่ การไม่ปลด ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง จากการเป็นรัฐมนตรีตามสัญญาสุภาพบุรุษ

ประการที่ 5 การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2525 ประมาณ 9 ปีเศษที่ผ่านมา พลตรีมนูญ รูปขจร และพรรคพวกได้บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์จักรีเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่แบบที่ตนเองและคณะได้กำหนดไว้ การวางแผนการชั่วร้ายดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ พลตรีมนูญ รูปขจร(ชื่อในขณะนั้น)และพรรคพวกถึง 43 คนถูกจับกุมในที่สุดและได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคณะบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองให้ได้รับการประกันตัวจนสามารถก่อการปฏิวัติได้อีกสามครั้ง

จากเหตุผลและความจำเป็นทั้งห้าประการ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่สามารถที่จะปล่อยให้ภาวะระส่ำระสายของชาติบ้านเมืองเกิดขึ้นรุนแรงต่อไปอีกได้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะดำเนินการจัดระบอบการบริหารราชการแผ่นดินให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500