ปฏิกิริยา ของ รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2557

ในประเทศ

สนับสนุน

หลังการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 มีการเว็บเปิดหน้าเฟซบุ๊กชื่อ "กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย"[161] ต่อมาหลังเกิดรัฐประหาร ก็ใช้หน้าเฟซบุ๊กเดียวกันนี้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ คสช.

ผู้ประท้วง กปปส. จำนวนมากยินดีกับประกาศรัฐประหาร ณ ที่ชุมนุม[162] พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ประกาศชัยชนะของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนเวทีก่อนขอให้ผู้ติตดามสลายตัวและกลับบ้าน[163] ทหารยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาล แม้ยังมีผู้ปฏิเสธไม่ยอมกลับในทีแรก[162][164] ผู้ประท้วงกลุ่มสุดท้ายออกจากกรุงเทพมหานครในเย็นวันที่ 23 พฤษภาคม[165] คสช. จัดรถทหารเจ็ดสิบคันเพื่อส่งผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายกลับภูมิลำเนา[166]

มีรายงานประชาชนสนใจถ่ายรูปกับทหารและยานพาหนะของทหาร ทั้งมีการนำดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่มมามอบให้ทหารในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดขอนแก่น[167] จังหวัดสุโขทัย[168] จังหวัดกาฬสินธุ์[169]

วันที่ 23 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ออกบทบรรณาธิการว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะนักการเมืองของเราไม่สามารถระงับความขัดแย้งของพวกเขาได้ด้วยวิธีปกติ และทหารใช้ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพวกเขาเป็นข้ออ้างลงมือ ตั้งแต่กำหนดกฎอัยการศึกและรัฐประหารในที่สุด ทุกกลุ่มซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเรื้อรังนี้ควรรับผิดชอบต่อผลลัพธ์แห่งความดื้อรั้นของตน พวกเขาควรเสียสละประโยชน์ส่วนตนแก่ผลประโยชน์ของชาติ"[170] นักวิชาการบางคนแย้งว่า ปัญหาของไทยไม่มีทางออกอื่นแล้ว[171]

มาร์ค วิลเลียมส์ (Mark Williams) แห่งบริษัทปรึกษาวิจัยเศรษฐกิจแคปิตอลอีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า "ตลาดหลักทรัพย์อาจต้อนรับรัฐประหาร" เพราะลดความไม่แน่นอนและความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าทางการเมืองซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้" แต่คาดว่าผลทางบวกจะเกิดขึ้นระยะสั้น ๆ[172]

วันที่ 25 พฤษภาคม พีระศักดิ์ พอจิต อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คสช. ทำถูกแล้วที่ตัดสินใจยุบวุฒิสภา เพราะจะทำให้ คสช. ดำเนินการล่าช้า การให้ คสช. กุมอำนาจทั้งหมดเป็นการดี เนื่องจากทำให้ คสช. ดำเนินการได้รวดเร็ว และเชื่อว่าเหตุการณ์หลังจากนี้น่าจะสงบขึ้นตามลำดับ[173]

วันเดียวกัน มีการจัดการชุมนุมต่อต้านผู้ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้ คสช. ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง วันที่ 26 พฤษภาคม กลุ่มข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจัดการชุมนุมคล้ายกัน[174]

ด้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีผสมกัน แม้เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กขออภัยที่ไม่สามารถผลักดันแผนปฏิรูปประเทศและปกป้องประชาธิปไตยได้[175] และพร้อมร่วมคัดค้านรัฐประหาร หาก คสช. ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไรและประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร และมีผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริงเสนอประชาธิปไตยที่ดีกว่า[176] แต่เขาก็โพสต์สนับสนุนให้ คสช. ใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นเพื่อรับมือกับการต่อต้านรัฐประหาร[177]

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานหลังกองทัพจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวว่า กองทัพไทยเริ่มเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อ และได้รับการช่วยเหลือจากสื่อไทยที่ส่วนใหญ่ "ยอมรับใช้" นับแต่รัฐประหาร หนังสือพิมพ์บ้านเมือง พาดหัวข่าวว่า "ชาวนารับเงินยิ้มทั้งน้ำตา" รายงานอื่นแสดงชาวนาเดินขบวนไปยังฐานทัพเพื่อมอบดอกกุหลาบและถือป้ายประกาศความปิติต่อผู้นำรัฐประหาร การเดินขบวนของชาวนาในจังหวัดภูเก็ต ลพบุรีและอุบลราชธานียังมีป้ายเดียวกันด้วย ชาวนาคนหนึ่งในอำเภอเชียงยืนให้สัมภาษณ์ว่า "ชาวนาจริงไม่ออกมาทำอย่างนั้นหรอก ชาวนาจริงวุ่นวายทำงานเกินไป"[178]

ชาวกรุงเทพมหานครจำนวนมากยินดีกับรัฐประหารหลังความขัดแย้งทางการเมืองนานเจ็ดเดือน กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันมองว่า ทหารเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ ผู้ชุมนุมนิยมกองทัพกล่าวว่า พวกตนยินดีกับรัฐประหารหากหมายถึงการขจัดอิทธิพลของทักษิณ ก่อนหน้ารัฐประหาร การนำเสนอข่าวท้องถิ่นจำนวนมากพรรณนาว่าทหารเป็นวีรบุรุษมาสู้กับนักการเมืองและตำรวจที่เป็นผู้ร้ายที่กินเงินใต้โต๊ะ รัฐประหารครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความแตกแยกของประเทศ[179] มีการตั้งกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารอย่าง "สนับสนุน คสช."ฯ หรือ "สนับสนุนกองทัพไทย" ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพ และอีกจำนวนหนึ่งปัดคำวิจารณ์ของต่างชาติ และว่า คนต่างชาติไม่เข้าใจวิกฤตการณ์ของไทย ไม่เข้าใจว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทยเลวร้ายเพียงใด[179]

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าพลเอก ประยุทธ์ควรใช้อำนาจเด็ดขาด อย่าเป็นนักประชาธิปไตยเช่นที่ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำสมัยดำรงตำแหน่ง อย่าสนใจคำครหานินทาว่ามาจากรัฐประหาร หากทำดี แก้ปัญหาได้ ทำประเทศปรองดองได้ ทุกคนจะสรรเสริญ[180]

ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่เคยสนับสนุนหรือส่งเสริมรัฐประหาร แต่ควรมองต่อไปว่าเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า ดีกว่ามาคิดว่ารัฐประหารนี้ควรหรือไม่ "โจทย์ใหญ่วันนี้คือเราจะทำอย่างไรให้รัฐประหารซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบจะไม่สูญเปล่า" และกล่าวว่า ไม่มีทางที่รัฐประหารจะอยู่ค้ำฟ้า อีกไม่นานก็จะกลับสู่วิถีประชาธิปไตย เขายังเชื่อว่า หากรัฐบาลยอมลาออกจากตำแหน่งจะไม่เกิดรัฐประหาร[181]

วันที่ 15 มิถุนายน สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความสุขที่ประชาชนได้รับจาก คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งถามความคิดเห็นของประชาชน 1,634 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 ถึง 14 มิถุนายน โดยอันดับแรก คือ การชุมนุมทางการเมืองยุติ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข[182]

สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งวารสารการเงินธนาคาร เจ้าของนามปากกา ลม เปลี่ยนทิศ ผู้เขียนคอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขียนว่ารัฐประหารของ คสช. ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและ คสช. ได้รับความชื่นชมจากประชาชนและนักธุรกิจทุกภาคส่วนมากขึ้น ควรที่ผู้นำชาติตะวันตกจะมาศึกษา ประชาชนรู้สึกดีต่อผู้นำที่มาจากรัฐประหาร เพราะไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงและเรียกสินบนจากเอกชน รัฐประหารครั้งนี้เป็นการเรียกศรัทธาและความสุขให้คนไทย เขาหวังให้ประยุทธ์ปฏิรูปประเทศไทยด้วยระบบคุณธรรมและยุติธรรม อย่าปล่อยทิ้งไว้เหมือนรัฐประหารครั้งก่อน[183]

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า "หากวันนี้ไม่มีการยึดอำนาจ ประเทศคงจะพินาศไปแล้ว เพราะมีการข่าวชัดเจนว่ามีกองกำลังต่างชาติเข้ามา อีกทั้งหลากหลายภาคส่วนก็สามารถซื้อได้ด้วยเงิน"[184]

คัดค้าน

ชาวไทยต่อต้านรัฐประหารอย่างจำกัด นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งจัดกิจกรรมเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อแสดงความไม่พอใจ[185] นักวิชาการชาวไทยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อรัฐประหาร โดยส่วนใหญ่แสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อผลกระทบเชิงลบต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของไทย[171] กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกตนว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยเน้นสิทธิของบุคคล ในการคัดค้านรัฐบาล ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ทหารปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทันที ในแถลงการณ์ สปป. กล่าวว่า

"การปกครองที่ดีนั้นไม่ใช่การปกครองด้วยการใช้กำลังบังคับข่มเหงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำให้ประชาชนยอมรับ ทำให้ประชาชนให้ความยินยอม เป็นผู้มีวาจาสัตย์ และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนทุกฝ่าย หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นประชาชนเป็นศัตรูและมุ่งใช้กำลังข่มเหงเพียงอย่างเดียวเช่นนี้แล้ว ท่านก็จะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างไม่รู้จบ และท่านก็จะปราบปรามประชาชนไปนับไม่ถ้วน จนกระทั่งท่านก็จะไม่เหลือประชาชนให้ปกครองอีกเลย"[186]

นอกจากนี้ สมาชิก สปป. ยังชุมนุมกันหน้าอาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันเดียวกัน เพื่อแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหาร[187] นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหารและเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก[188]

เวลา 14:45 น. บริเวณทางเข้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ เพชรรัตน์ วงศ์วิเศษ ชาวกรุงเทพมหานคร แสดงตัวขึ้นพร้อมป้ายที่แขวนคอไว้ มีข้อความว่า "ช่วยด้วย ฉันถูกปล้น" ซึ่งสื่อให้เห็นว่าเธอไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ และรู้สึกไม่พอใจที่ถูกทหารปล้นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งไม่พอใจที่คนไทยส่วนใหญ่เพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าว โดยสื่อต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ไม่นานก็เดินทางกลับ[189] และเวลา 16:55 น. มีกลุ่มประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเริ่มตั้งกลุ่มชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน[190]

เวลา 18:00 น. ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมารวมตัวกัน ณ ประตูช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อต่อต้านการแทรกแทรงทางการเมืองของกองทัพ ตลอดจนการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม และรัฐประหาร[191] และเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากประตูช้างเผือกไปตามถนนมณีนพรัตน์ฝั่งคูเมืองเชียงใหม่ด้านนอก มุ่งไปทางแจ่งศรีภูมิทางทิศตะวันออกของคูเมืองเมื่อเวลา 19.00 น.[191] เวลา 19:47 น. กลุ่มประชาคมจุฬาลงกรณ์เพื่อประชาชน ออกแถลงการณ์คัดค้านการทำรัฐประหารของ คสช. โดยขอให้ คสช. ประกาศยุบตัวเอง และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการมาดำเนินการจัดการเลือกตั้งในทันที เพื่อเป็นการยืนยันว่า อำนาจทางอธิปไตยยังคงเป็นของประชาชน[192]

ในวันที่ 24 พฤษภาคม มีกลุ่มบุคคลจัดการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขารัชโยธินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทหารพร้อมโล่ปราบจลาจลประจำอยู่[193] ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่ง มีความตั้งใจว่าจะเดินขบวน ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ถูกกำลังทหารสกัดไว้[194] วันเดียวกัน คสช. เรียกนักวิชาการนิยมประชาธิปไตย แต่ผู้ถูกเรียกตัวกล่าวว่าจะไม่ยอมมอบตัวกับทหาร แม้ คสช. ขู่ว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะได้รับโทษอาญา[195][196] ในจังหวัดขอนแก่น นักศึกษาจัดพิธีลาประชาธิปไตยหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่[197] ในจังหวัดมหาสารคาม นักศึกษาจัดประท้วงต่อต้านรัฐประหารกลางนคร แต่ทหารมายึดอุปกรณ์ประท้วง รวมทั้งป้ายผ้า[198]

วันที่ 25 พฤษภาคม มีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารชุมนุมหน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์ที่แยกราชประสงค์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่ทหารเข้ามายึดพื้นที่[199][200] ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งพยายามเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังแยกปทุมวัน แต่ทหารสกัดไว้[201]

วันที่ 1 มิถุนายน มีการนัดหมายชุมนุมต้านรัฐประหารโดยไม่แจ้งสถานที่ล่วงหน้า จึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ 38 กองร้อยประจำอยู่ตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร หรือตามสถานที่ที่เคยมีการชุมนุม แต่วันนี้ไม่มีรายงานนัดชุมนุมในพื้นที่ซึ่งมีทหารและตำรวจประจำอยู่ ที่ลานหน้าห้างเทอร์มินัล 21 มีผู้ชุมนุมหลายสิบคนชูสัญลักษณ์สามนิ้วแบบภาพยนตร์เรื่องเกมล่าชีวิต ต่อมา เจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุมและปิดห้างเทอร์มินัล 21 มีรายงานผู้ถูกจับกุม 4 คน[202] สัญลักษณ์สามนิ้วเป็นตัวแทนของความเสมอภาค เสรีภาพและภราดรภาพ[203] กองทัพประกาศว่าจะจับทุกคนที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว[204]

วันที่ 10 มิถุนายน เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 28 คน ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและความผิดฐานกบฏ จากการประกาศใช้กฎอัยการศึกและยึดอำนาจการปกครองประเทศ[205]

ต่อมา แซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารใหม่ โดยมีการจัดกิจกรรมแจกแซนด์วิชให้แก่ผู้ที่ต้องการ และตะโกนว่า "แซนด์วิชเพื่อประชาธิปไตย!"[206] วันที่ 22 มิถุนายน นักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังทานแซนด์วิช และอ่านหนังสือหนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ของจอร์จ ออร์เวลล์ อยู่หน้าสยามพารากอน และกลุ่มนักเคลื่อนไหว ศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่จะจัดกิจกรรมแซนด์วิชในที่เดียวกันถูกควบคุมตัวและถูกกักขังในภายหลัง[207]

วันที่ 24 มิถุนายน 2557 มีการเผยแพร่คลิป จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ก่อตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในเพจ "องค์กรเสรีไทย" นอกจากนี้ ยังมีคลิปแถลงการณ์ภาษาอังกฤษของจักรภพ เพ็ญแข ในเพจเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยรายงานว่า จารุพงศ์ยื่นหนังสือลาออก จากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน[208]

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษาห้าคนถูกควบคุมตัวจากการชูสัญลักษณ์สามนิ้วจากภาพยนตร์ เกมล่าเกม ในงานที่พลเอกประยุทธ์กำลังกล่าวที่จังหวัดขอนแก่น สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เขาไม่รู้สึกถูกกวนใจและถามว่า "มีใครอยากประท้วงอีกไหม"[209] ประชาไท เผยแพร่บทสัมภาษณ์นักศึกษาทั้งห้าดังกล่าวว่า มีทหารมาสอบสวน ให้ยืนติดกำแพง ให้ยอมรับว่าพวกเขาผิด แต่พวกเขาไม่ยอมรับ ต่อมาทหารนายนั้นแข็งขึ้น ให้เลือกสองข้อว่าจะยอมรับผิดและได้ปล่อยตัว หรือไม่ยอมรับและสิ้นสภาพนักศึกษา ทั้งห้าคนเลือกข้อหลัง มีการบังคับถอดเสื้อ ซึ่งนักศึกษาก็ไม่ยอมถอด จนมีการสั่งให้สารวัตรทหารเข้ามาถอด เมื่อยังดึงดันไม่ยอมรับ ทหารจะเอาครอบครัวมากดดัน[210] ต่อมา ทั้งห้าได้รับการปล่อยตัว โดยไม่มีการตั้งข้อหา ทั้งนี้ มีสามคนลงลายมือชื่อรับเงื่อนไขไม่เคลื่อนไหวอีก นักศึกษาคนหนึ่งว่า งงเหมือนกันที่ได้ปล่อยตัว แต่จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่ากฎอัยการศึกใช้กับพวกเขาไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะยอมหรือไม่ยอมเซ็น ก็ได้ปล่อยตัว และไม่มีโทษทางกฎหมาย[211]

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส.[212] เป็นกลุ่มของอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการที่รวมตัวกันทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 กิจกรรมของกลุ่มที่ผ่านมามีทั้งการสัมมนาทางวิชาการ การออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม

ประเด็นที่คนสนใจมักเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางการเมือง[213][214][215] สิทธิในกระบวนการยุติธรรม[216][217] เสรีภาพการแสดงออก[218] เสรีภาพทางวิชาการ[219] สิทธิเสรีภาพของนักศึกษา[220][221][222] การทำกิจกรรมของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองมักถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐ[223]การพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[224] และในหลายครั้งผู้ร่วมกิจกรรมถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป[225][226]สมาชิกส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เช่น พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสมาชิกของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิชาการที่ทำกิจกรรมรณรงค์ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557

ต่างประเทศ

กฎอัยการศึก

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงว่ารับทราบการประกาศกฎอัยการศึกในไทยแล้ว พร้อมทั้งกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ยังมีความกังวลอย่างยิ่ง ต่อวิกฤตการเมืองไทยซึ่งถลำลึกยิ่งขึ้น และเรียกร้องทุกฝ่าย เคารพหลักการประชาธิปไตย รวมถึงเคารพเสรีภาพในการสื่อสาร สหรัฐอเมริกามีความเข้าใจว่า กองทัพบกประกาศว่าไม่ใช่รัฐประหาร และตั้งความหวังว่ากองทัพบกจะยึดมั่นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง และไม่บ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกัน แก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา เพื่อแสวงหนทางเดินหน้าต่อไป และตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของการเลือกตั้ง ซึ่งจะชี้วัดความปรารถนาของประชาชนไทย[227]

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ที่แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทผลิตรถยนต์ ทั้งฮอนดา, โตโยตา และนิสสัน[228] สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้มีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง รวมทั้งขอให้กองทัพ เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อมวลชน[229]

รัฐประหาร

จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 มี 19 ประเทศเตือนให้พลเมืองเลี่ยงการเดินทางเข้าประเทศไทยหากไม่จำเป็น และ 43 ประเทศเตือนให้พลเมืองระมัดระวังหากเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดจนควรติดตามสถานการณ์และเลี่ยงสถานที่ชุมนุม[230]

องค์การเหนือรัฐ
  •  สหภาพยุโรป – โฆษกสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ “เราเฝ้าติดตามการพัฒนาในประเทศไทยด้วยความวิตกอย่างยิ่ง กองทัพต้องยอมรับและเคารพอำนาจของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย...เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ และทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ”[231]
  •  สหประชาชาติ –
    • พัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงผ่านโฆษกแสดงความกังวลเกี่ยวกับรัฐประหารดังกล่าว โดยเรียกร้องให้ "กลับคืนสู่การปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยพลเรือน เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว" และความเคลื่อนไหวสู่ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่าย[232]
    • เนวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามรัฐประหาร เธอกล่าวว่าสำนักงานของเธอเฝ้าติดตามสถานการณ์ในห้าเดือนที่ผ่านมา และเธอ "กังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการแทนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดกฎอัยการศึก การระงับรัฐธรรมนูญและมาตรการฉุกเฉินซึ่งจำกัดความสำราญแห่งสิทธิมนุษยชนด้วยกำลัง" เธอยังกระตุ้นให้ฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศไทยโดยเร็ว[233]
    • วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งหนังสือถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี แสดงความเป็นห่วงกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีการเรียกตัวแกนนำชาวบ้านชุมชนเพิ่มทรัพย์เข้าปรับทัศนคติ และกรณีทหารสั่งให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่[234]
ภาครัฐ
  •  อาร์เจนตินา - อาร์เจนตินา กล่าวว่า "ต่อไปด้วยความกังวลเหตุการณ์ในประเทศไทยและทำให้" อุทธรณ์ไปยังการฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบของคำสั่งรัฐธรรมนูญและการถือครองของ เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย "ในขณะที่เรียกร้องให้" ให้แน่ใจว่าการเคารพสิทธิมนุษยชน. "[235]
  •  ออสเตรเลีย – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จูลี บิชอป แสดงออกว่าเธอ "กังวลอย่างยิ่ง" ต่อรัฐประหาร และอธิบายสถานการณ์ว่า "ไม่แน่นอน" เธอยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียใช้ความระมัดระวังและให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของตนอย่างใกล้ชิด[236] ออสเตรเลียยังลดความสัมพันธ์กับไทย ห้ามผู้นำรัฐประหารเข้าประเทศ และเลื่อนกิจกรรมทางทหารกับกองทัพไทย[237]
  •  กัมพูชา – ข้าราชการกัมพูชาแสดงความกังวลว่าอาจเกิดความตึงเครียดขึ้นที่ชายแดนกัมพูชา–ไทย โฆษกคณะรัฐมนตรี ปาย สิฟาน (Phay Siphan) กล่าวว่า "เราปรารถนาเห็น[รัฐประหาร]นี้ไม่เป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ และยังเคารพ[และคุ้มครอง]เจตจำนงและผลประโยชน์ของชาวไทย" และเสริมว่าไม่คาดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ชายแดนกัมพูชา–ไทย สิฟานยังกล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาจะเคารพผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศเสมอ[238]
  •  ชิลี - ชิลีประณามการทำรัฐประหารและเรียกร้องในการแถลงข่าว "การยกเว้นจากรูปแบบของความรุนแรงหรือการปราบปรามใด ๆ และการเคารพสิทธิและเสรีภาพ" [239]
  •  จีน – กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์สั้น ๆ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์และหวังให้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่ประเทศไทย[240]
  •  โคลอมเบีย - กระทรวงการต่างประเทศโคลัมเบียได้กล่าวย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยและแสดงความไม่พอใจต่อการฝ่าฝืนคำสั่งสถาบันโดยกองกำลังสาธารณะของประเทศนั้น โคลัมเบียเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่าง "ประเทศที่เป็นมิตร" ของราชอาณาจักรไทยและกองกำลังสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยเพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ประเทศอเมริกาใต้แห่งนี้ได้ยุติคำแถลงที่อ้างถึง "การเคารพและปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและการประกันรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนไทยทุกคน"[241]
  •  ฝรั่งเศส – ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประณามรัฐประหารของไทย โดยสำนักเลขาธิการของออล็องด์ระบุว่า “ฝรั่งเศสเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญกลับคืนมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง และให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย”[242]
  •  เยอรมนี – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งและฟื้นฟูการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว[243]
  •  ญี่ปุ่น – ฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยเร็ว[244]
  •  มาเลเซีย – กระทรวงการต่างประเทศแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทยในขณะนี้และเลื่อนการเยือนประเทศไทยที่ไม่จำเป็น ทั้งแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียในประเทศไทยปฏิบัติตามการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืนเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลและเหตุผลด้านความมั่นคง[245] ขณะเดียวกัน อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ออกความเห็นว่า รัฐประหารในประเทศไทยจะไม่กระทบต่อประเทศมาเลเซียในด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ[246]
  •  พม่า – ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า พลเอก มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) แสดงการสนับสนุนรัฐประหารดังกล่าว โดยกล่าวว่า "ผมมั่นใจว่าสิ่งที่กองทัพไทยกำลังทำอยู่นี้เป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด เพราะกองทัพมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงของประเทศและดูแลความปลอดภัยของประชาชน" โดยเปรียบกับการก่อการกำเริบ 8888 ในประเทศพม่า ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน[247]
  •  รัสเซีย – กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเรียกร้องให้หวนคืนสู่กระบวนการการเมืองและการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว [248]
  •  สิงคโปร์ – โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์แถลงด้วยความหวังว่าทุกฝ่ายจะอดกลั้นและร่วมมือกันเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นบวก ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อจะฉุดให้ไทยและชาติอาเซียนโดยรวมก้าวถอยหลัง และหวังว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว[249]
  •  สหราชอาณาจักร – รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ วิลเลียม เฮก ออกแถลงการณ์กระตุ้นให้ "ฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อบริการประชาชนและบรรลุพันธกรณีสิทธิมนุษยชน"[250]
  •  สหรัฐ – กระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวว่า กำลังทบทวนความช่วยเหลือแบบกองทัพต่อกองทัพ และการเกี่ยวพันกับประเทศไทย โดยอาจจะรวมถึงการซ้อมรบร่วมที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกองทัพสหรัฐส่งนาวิกโยธินและทหารเรือเข้าร่วมประมาณ 700 นาย[251] สหรัฐอเมริการะงับเงินช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศไทยมูลค่า 3.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจากเงินช่วยเหลือรวม 10.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ[252] และยกเลิกข้อผูกพันทางทหาร รวมทั้งการเยือนและการฝึกทหาร[253] นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางและชะลอการเยือนของข้าราชการที่ไม่จำเป็น[254]

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทูตสหรัฐคนหนึ่งเตือนเมื่อวาน (5 กุมภาพันธ์) ว่า สหรัฐจะไม่ฟื้นพันธมิตรทางทหารกับไทยอย่างสมบูรณ์ตราบเท่าที่รัฐบาลปฏิเสธฟื้นฟูประชาธิปไตย "ต้องมีการฟื้นฟูทั้งสถาบันวิธีการปกครองและความยุติธรรมตลอดจนการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์ซึ่งรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง"[255]

ในถ้อยแถลงอีเมล เมลิสซา สวีนีย์ (Melissa Sweeney) โฆษกสถานเอกอัครราชทูต กล่าวว่า ทางการสหรัฐ "ตัดสินใจปีนี้ว่าจะดำเนินการด้วยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2015 ที่มุ่งความสนใจใหม่และปรับลดขนาดอย่างสำคัญ เมื่อพิจารณาการโค่นรัฐบาลพลเรือนของกองทัพไทย" คือ จะเน้นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ แม้ยังมีการฝึกยิงกระสุนจริงบ้าง ขนาดทหารสหรัฐลดลงเหลือ 3,600 นายจาก 4,300 นายเมื่อปีที่แล้ว[256] วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดคอบร้าโกลด์ตอนหนึ่งว่า "เราปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงท้าทายและจำเป็นต้องมีคอบร้าโกลด์ดัดแปลงระหว่างที่ประเทศไทยจัดการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย" ฝ่ายเอียน สโตรีย์ (Ian Storey) วุฒิบัณฑิตสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ กล่าวว่า การยกเลิกคอบร้าโกลด์จะสร้างโอกาสให้รัฐบาลจีนเสริมความสัมพันธ์ยุทธศาสตร์กับรัฐบาลไทย ซึ่งชัดเจนว่าไม่อยู่ในผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐในบริบทการแข่งขันสหรัฐ-จีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[257]

นอกภาครัฐ
  • มีกลุ่มนักวิชาการไทยศึกษาจำนวน 26 คน จาก 7 ประเทศ ลงนามยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหารครั้งนี้ รวมถึงท้วงติงข้อความบางจุดในประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากประโยคที่ว่า "ขอให้ประชาชนอยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย และดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ" ว่าดูขัดแย้งกับความจริงว่าการดำรงชีวิตตามปกติภายใต้ประกาศนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก "การประหาร" รัฐนั้นคือความรุนแรงอย่างชัดแจ้ง และกองทัพต้องคืนอำนาจทั้งหมดให้แก่ประชาชนโดยเร็ว[258]
  • องค์การนิรโทษกรรมสากลออกแถลงการณ์ว่า การจับกุมนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติเป็น "บรรทัดฐานอันตราย" และ "การรักษาความสงบเรียบร้อยไม่อาจเป็นข้ออ้างละเมิดสิทธิมนุษยชนได้" นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้ คสช. เปิดเผยที่อยู่ของผู้ที่ถูกจับกุมและกักขัง[259]
  • คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียประณาม คสช. ที่คุกคามนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังทันที และแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการเสื่อมถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วในประเทศไทย[260]
  • ฮิวแมนไรท์วอทช์:
    • อธิบายการกระทำของ คสช. ว่าเป็นการใช้ "อำนาจกฎอัยการศึกโหด" และเรียกร้องให้เลิกใช้ทันที ผู้อำนวยการเอเชีย แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ระบุว่า "กองทัพไทยต้องรับรองว่ารัฐบาลควรกำหนดโดยบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ลูกปืน"[261]
    • วันที่ 20 กันยายน 2557 ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกองทัพยกเลิกการปราบปรามสัมมนาวิชาการและเคารพเสรีภาพในการแสดงออก[130]
    • วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องอีกให้ชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กดดันให้ประยุทธ์พัฒนาสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูการปกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตย[262]
  • สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศพม่า แถลง แสดงความเป็นห่วงเสรีภาพสื่อไทยที่ถูกรัฐบาลทหารปิดกั้น นอกจากนี้ยังเรียกร้อง คสช. ให้ยกเลิกคำสั่งที่กระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน และปล่อยตัวผู้สื่อข่าวที่ถูกควบคุมตัว หากจริงใจต่อการปรองดองและปกป้องประชาธิปไตยจริง[263]
  • กลุ่มนักศึกษาชาวไทยและต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น 20 คน ชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร โดยสวมหน้ากากบุคคลต่าง ๆ[264]
  • นักแสดง เกมล่าชีวิต แสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่ใช้สัญลักษณ์สามนิ้วของภาพยนตร์เป็นวิธีแสดงการคัดค้าน นาตาลี ดอร์เมอร์ (Natalie Dormer) อธิบายการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวว่า "เหลือเชื่อ" และว่า "สิ่งใดซึ่งกระตุ้นผู้คนในทางบวกที่จะต่อสู้กับการกดขี่ไม่อาจถูกวิจารณ์ได้ในทุกสภาพหรือรูปแบบ"[204]
  • โนม ชัมสกี กล่าวว่า เขารู้สึก "รบกวนจิตใจอย่างยิ่งเมื่อทราบเกี่ยวกับคำขู่ต่อรองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" และหวังว่าคำขู่เหล่านั้นจะถูกถอนไปโดยเร็วและปวินสามารถ "ใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยปราศจากการบังคับของรัฐบาล"[265]
  • Syed Badrul Ahsan นักหนังสือพิมพ์ชาวบังกลาเทศ ออกความเห็นต่อรัฐประหารว่า ความขายหน้ามิได้เป็นของยิ่งลักษณ์ แต่เป็นของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นของพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่มีขันติต่อการวิจารณ์ และสะดวกใจเมินเมื่อเจตนารมณ์ของประชาชนถูกปฏิเสธ ท้าทายและทำให้มัวหมองในความทะยานอยากอำมหิต[266]
  • วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สถาบันที่ทหารแต่งตั้งของไทยไม่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยใด ๆ และควรเลิกผ่านกฎหมายใหม่ทันที นอกจากนี้ ยังกังวลต่อแผนรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับสำนักงานอัยการสูงสุด[267]
  • วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ขณะนี้ประเทศไทยเหมาะกับคำว่า "มาตรฐานเผด็จการด้อยกว่า" กว่าประเทศพม่า และผู้นำรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทย ไม่ใช่ทางแก้ มีข้อสงสัยว่า คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองต้องการอยู่ในอำนาจให้นานพอจัดการธุระการสืบราชสันตติวงศ์เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนกฎให้นักการเมืองซึ่งคณะฯ ถือว่าเป็นนักอิงสามัญชนไร้ความรับผิดชอบไม่ได้รับเลือกตั้งอีก อันเป็นวิสัยทัศน์ "ประชาธิปไตยแบบถูกจัดการ" หนังสือพิมพ์สรุปว่า รัฐประหารครั้งนี้เป็นการแก้แค้น มิใช่นิติธรรม[268]
  • วันที่ 9 กุมภาพันธ์ นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ผู้นำทหารพยายามใช้ "กระสุนกระดาษ" หมายถึง เอกสารคดีจำนวนมากเพื่อควบคุมฝ่ายตรงข้าม เช่น เอกสารยินยอมให้ คสช. ยึดทรัพย์หากมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ยังอาศัยการดำเนินคดีรวมถึงวิธีการตีความกฎหมายแบบลื่นไหลของศาลไทยและรัฐบาลจากรัฐประหารเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ก่อนการคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยใด ๆ บรรดาแม่ทัพและพันธมิตรในหมู่อภิชนไทยกำลังมุ่งรื้อขบวนการทางการเมืองซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ คือ พรรคการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ตามกฎหมาย[269]

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2557 http://www.mrecic.gov.ar/el-gobierno-argentino-exp... http://www.humanrights.asia/news/ahrc-news/AHRC-ST... http://www.sbs.com.au/news/article/2014/05/23/thai... http://www.minrel.gob.cl/gobierno-de-chile-condena... http://www.appdisqus.com/2014/06/11/dtac-4g.html# http://asiancorrespondent.com/123598/thai-anti-cou... http://www.asiasentinel.com/politics/thai-generals... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics...