ผลลัพธ์ ของ รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2557

ผลทางการเมือง

ในห้วงการสืบราชสันตติวงศ์ในเดือนตุลาคม 2559 กองทัพอยู่ในฐานะที่กำลังสร้างความสัมพันธ์กับนายทุนที่มีอิทธิพลคล้ายกับสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501–06) กลายเป็นผู้ปกครองที่ควบคุม ชี้นำและตัดสินใจการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ในรัชกาลใหม่นี้[35]:286–7 กองทัพยังกีดกันการเข้าถึงอำนาจและการตั้งกลุ่มอภิชนใหม่ด้วย มีการเพิ่มเอกสิทธิ์ เงินเดือนและกำลังพล ขยายอำนาจของกองทัพ ส่งนายทหารเข้าควบคุมรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ วุฒิสภาจากการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังทำให้กองทัพกลายเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี[35]:287

คณะรัฐประหารยังควบคุมประชาธิปไตยแบบฝ่ายข้างมากด้วย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกแบบมาให้กองทัพ ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ ซึ่งล้วนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจมากขึ้น[35]:283 มีการสร้างระบบการเลือกตั้งใหม่ เรียก ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคการเมืองครองฝ่ายข้างมากได้ยาก พรรคการเมืองขนาดใหญ่และเล็กจะได้รับผลเสียจากระบบดังกล่าว[35]:282–3 รัฐบาลถูกตัดสิทธิ์ได้ง่าย การนำนโยบายไปปฏิบัติอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช. วางไว้ด้วย[35]:283 ในปี 2559 คสช. สั่งเลื่อนการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น และสรรหาบุคคลลงตำแหน่งว่างแทน[38]

คสช. พยายามแก้ไขปัญหาการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของข้าราชการด้วยการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว[35]:290 มีคำสั่งถอดถอนหรือโยกย้ายข้าราชการโดยมีเป้าหมายหลักไปยังผู้ที่ภักดีต่อรัฐบาลทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ มีการถอดถอนข้าราชการระดับปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกรมรวม 69 คนซึ่งไม่เคยปรากฏในรัฐบาลใดมาก่อน[35]:291 ผลทำให้สถาบันข้าราชการประจำเสียขวัญฏำลังใจและอ่อนแอลง[35]:292

ผลทางเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารประเทศหลังรัฐประหารครั้งนี้เน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวัตถุประสงค์หลัก คสช. เริ่มให้ ธ.ก.ส. นำเงินสภาพคล่อง 40,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าว 92,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2557[39] เดือนมิถุนายน 2557 ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558–2565 กรอบเงินลงทุน 3 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มแผนแม่บทโครงการทางอากาศจากแผนแม่บท 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถใช้เงินลงทุนของตัวเอง[40] วันที่ 1 สิงหาคม คสช. อนุมัติโครงการขนส่งทางรางมูลค่า 741,000 ล้านบาทเพื่อเชื่อมกับประเทศจีนโดยตรงภายในปี 2564[41] และจนถึงวันเดียวกัน คสช. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายไปแล้ว 304,969 ล้านบาท[42]

หลัง คสช. ประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนว่าจะจัดการกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย[43] ผู้อพยพต่างด้าวจำนวนมากออกนอกประเทศทันทีในวันเดียวกัน[44] วันที่ 16 มิถุนายน ชาวกัมพูชากว่า 180,000 คนหนีออกนอกประเทศไทย[45] ฝ่ายแรงงานพม่าไม่ออกจากประเทศไทย เพราะตลาดแรงงานของพม่ามีทางเลือกน้อยกว่าตลาดแรงงานของกัมพูชา[46]

เดือนตุลาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เห็นชอบโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 จากเดิมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะจ่ายเป็น 80% ของราคาตลาด เพิ่มเป็น 90% ของราคาตลาด นโยบายดังกล่าวถูกเรียกว่า "จำนำยุ้งฉาง" และไทยรัฐ ยังว่าเป็น "ประยุทธ์นิยม"[47]

เดือนพฤศจิกายน 2557 รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการทุจริต 30–50% เป็นมูลค่า 2-3 แสนล้านบาท[48]

รัฐบาลทหารริเริ่มโครงการ "ประชารัฐ" ในเดือนกันยายน 2558 มีบริษัทใหญ่ที่ประกอบธุรกิจหลายประเภท 24 บริษัทลงสนามสนับสนุนโครงการในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงต่างตอบแทนกับรัฐบาลให้ได้เอกสิทธิ์บางอย่าง[35]:293–4 ปลายปีนั้น รัฐบาลออกงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 136,000 ล้านบาท โดยมีการให้กองทุนหมู่บ้านกู้เงิน 59,000 หมู่บ้าน และการจัดสรรงบตำบล 36,725 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดสรรงบโครงการประชารัฐ 250,000 ล้านบาท[35]:295 มีการริเริ่ม "ประชารัฐรักสามัคคี" ซึ่งเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนคล้ายกับการริเริ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สมัยทักษิณ โดยในปี 2560 มีการอ้างว่าช่วยเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวที่เข้าร่วมเดือนละ 358 ล้านบาท[35]:296 แนวนโยบายนี้ก่อให้เกิดทุนนิยมแบบมีลำดับชั้น ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่คอยชี้นำธุรกิจขนาดย่อมในท้องถิ่น[35]:299

ผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สหภาพยุโรปจะชะลอการลงนามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) และเรียกร้องให้กองทัพไทยฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง และยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังการเมืองและยุติการตรวจพิจารณา[49]

วันที่ 20 มิถุนายน 2557 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกแถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2557 ซึ่งประเทศไทยถูกปรับลดระดับลงไปอยู่ระดับ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา[50] วันที่ 27 มิถุนายน 2557 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระงับความร่วมมือชั่วคราวกับไทย ทำให้ยกเว้นไทยในการฝึกแผนซ้อมรบทางทะเล ชื่อ "แปซิฟิกริม"[51]

การจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ในรายงานเสรีภาพสื่อมวลชนโลกของ องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ได้จัดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทยในปี 2558 ไว้ที่อันดับที่ 136 จากอันดับ 134 เมื่อปีก่อน[52]

ในเดือนมีนาคม 2559 คสช. ให้ทหารตั้งแต่ยศร้อยตรีขึ้นไปมีอำนาจป้องกันและปราบปรามความผิด 27 อย่าง มีอำนาจตรวจค้นทรัพย์สินได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล มีอำนาจยึดทรัพย์ ระงับธุรกรรมทางการเงินและห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทาง[53]

การจับกุมและเรียกตัวบุคคล

คืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารจับกุมนักการเมืองเพิ่มเติม รวมทั้ง ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง[54] วันรุ่งขึ้น คสช. เรียกสมาชิกพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร รวมทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[55][56]

ต่อมา คสช. เรียกบุคคลที่โดดเด่นอีก 114 คนจากทั้งสองฝ่าย[57] และแถลงว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะถูกจับกุมและดำเนินคดี[58] นักเคลื่อนไหว สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นบุคคลแรกที่ปฏิเสธไม่ไปรายงานตัว โดยกล่าวว่า "โคตรขำ ไม่ไปรายงานตัวถือเป็นความผิดอาญา" เขาท้าทายการเรียกโดยโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า "Catch me if you can" (จับฉันเลยถ้าจับได้) [59][60] คสช. สนองโดยแถลงในเช้าวันที่ 24 พฤษภาคมว่า จะส่งทหารไปจับตัวผู้ไม่มารายงานตัว [61]

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุคคลแรกที่ถูกไต่สวนในศาลทหารเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โฆษก คสช. ยังกล่าวว่า การจัดการแถลงข่าวต่อสื่อต่างประเทศถือว่าไม่เหมาะสมและขัดต่อนโยบาย คสช.[62][63][64] เขาถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ ขัดคำสั่ง คสช., ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องและให้ทำผิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และความผิดต่อความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ รวมมีโทษระวาง 14 ปี[65]

วันที่ 5 มิถุนายน สมบัติถูกจับกุมที่จังหวัดชลบุรี ทหารตามรอยเขาผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้เลขที่อยู่ไอพี[66] กองทัพแถลงว่า สมบัติจะได้รับโทษจำคุกเจ็ดปีฐานชักชวนให้ประชาชนละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็น "กฎหมายของแผ่นดิน" นอกเหนือไปจากโทษจำคุกสองปีฐานขัดคำสั่ง คสช. กองทัพยังกล่าวว่าผู้ให้ที่พักพิงสมบัติจะได้รับโทษจำคุกสองปี[67]

กองทัพยังสั่งให้นักการทูตไทยดำเนินมาตรการเพื่อบังคับให้นักวิชาการนอกประเทศที่ถูกเรียกให้รายงานตัวกลับประเทศ[68] เป้าหมายหนึ่ง คือ รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต กองทัพสั่งทั้งเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโตเกียวและกงสุลใหญ่ในโอซะกะว่า หากทั้งสองไม่สามารถบังคับให้ปวินกลับมาได้ จะถูกย้ายหรือให้พ้นจากราชการ[68]ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ให้ นาย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทยในกรุงโตเกียว และย้าย ธนาธิป อุปัติศฤงค์ พ้นตำแหน่งดังกล่าว[69]และคณะรัฐมนตรีมีมติ ย้าย วิชิต ชิตวิมาน และ แต่งตั้ง ดุสิต เมนะพันธุ์ เป็น กงสุลใหญ่ในโอซะกะ[70]มีผลวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

คสช. ยังสั่งให้นักเคลื่อนไหวที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและอยู่นอกประเทศมารายงานตัว อาทิ รศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ โดยสั่งให้มารายงานตัวภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2557[71]

วันที่ 17 มิถุนายน รศ. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสานงานและเข้ารายงานตัวกับ คสช.[72]

วันที่ 24 มิถุนายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติปล่อยตัว กริชสุดา คุณะแสน นักเคลื่อนไหวเสื้อแดง หลังมีข่าวถูกทหารทารุณจนเสียชีวิต[73] เธอถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม[74] ต่อมา วันที่ 1 สิงหาคม 2557 มีข่าวว่า กริชสุดา ขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย[75] กริชสุดาให้สัมภาษณ์ว่า เธอถูกปิดตาและมัดมือเป็นเวลา 7 วัน ถูกทำร้ายร่างกายโดยโดนตบหน้า ชกที่ใบหน้าและลำตัว รวมทั้งใช้เท้า ตลอดจนใช้ถุงคลุมหัวทำให้ขาดอากาศหายใจ ประเด็นที่ถูกสอบสวน คือ ใครเป็นผู้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ต้องโทษในเรือนจำและอาวุธสงคราม ซึ่งกริชสุดาระบุว่า ผู้สอบสวนต้องการให้เธอสารภาพว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนดูแลนักโทษและผู้ยุยงส่งเสริมในกระทำผิด ส่วนที่มีข่าวว่าตนขออยู่ในการควบคุมตัวต่อไปนั้นเพื่อเอาตัวรอด[76] ด้านพันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ พร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดี และเชื่อว่ากริชสุดาต้องการดึงองค์การระหว่างประเทศเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่[77] วันที่ 14 กันยายน 2558 พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า กริชสุดา คุณะเสน เป็นผู้จ้างวาน "ชายชุดดำ" เพราะพบสลิปโอนเงินในบ้านพักของกริชสุดาซึ่งโอนเงินให้ผู้ต้องหาคนหนึ่งซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 11 กันยายน[78]

วันที่ 7 ธันวาคม 2558 มีการจับกุมนักกิจกรรมที่พยายามเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ซึ่งลือชื่อว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งมีการตัดขบวนรถไฟเพื่อจับกุมตัวนักเคลื่อนไหว[79] และมีการปิดอุทยานโดยอ้างว่าเพื่อ "บำรุงรักษา" อุทยานดังกล่าวมีรายงานความไม่ชอบมาพากลทางการเงินมาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2558[80]

วันที่ 29 มีนาคม 2559 ศาลสั่งจำคุก นาง ธีรวรรณ เจริญสุข[81] เป็นเวลา 12 วันในความผิดฐานปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองหลังเธอโพสต์ภาพถือขันสีแดงซึ่งดูเหมือนเป็นของส่งเสริมอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตามศาลทหารเชียงใหม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา คดี ม.116 พร้อมหลักทรัพย์ 1 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง[53]

การควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อ

หลังประกาศรัฐประหารแล้ว คสช. กำหนดห้ามออกนอกเคหสถานเวลาค่ำคืนทั่วราชอาณาจักรระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น.[82] และยังห้ามชุมนุมทางการเมืองและสั่งผู้ประท้วงทั้งหมดให้สลายตัว[83] และยังสั่งให้สถานศึกษาทุกแห่งปิดตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 25 พฤษภาคม 2557[84]

ยิ่งไปกว่านั้น คสช. สั่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งหยุดออกอากาศรายการปกติและให้แพร่สัญญาณรายการของกองทัพบกเท่านั้น[85] คสช. จับกุม วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการสถานีไทยพีบีเอส หลังเขาอนุญาตให้แพร่สัญญาณรายการพิเศษเกี่ยวกับรัฐประหารทางยูทูบแทนโทรทัศน์[86][87] ในรายการ มีการสัมภาษณ์นักวิชาการหลายคน และให้ความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับรัฐประหาร ไทยพีบีเอสกล่าวว่าวันชัยถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เพื่อ "ปรับความเข้าใจระหว่างสื่อและกองทัพ"[88]

วันที่ 23 พฤษภาคม คสช. เรียกตัวหัวหน้าสื่อมายังสโมสรทหารบกและสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ตรวจพิจารณาข้อมูลข่าวสารใดที่ยั่วยุ ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีความลับของทางราชการ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือหมิ่นประมาท คสช.[89] นอกจากนี้ ยังขู่ปิดสื่อสังคมหากผู้ให้บริการไม่สามารถสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารซึ่งปลุกระดมความไม่สงบหรือปลุกระดม "การคัดค้านการรักษาความสงบ"[90]

บ่ายวันที่ 23 พฤษภาคม สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนะล็อก (ช่องฟรีทีวี) ยกเว้นไทยพีบีเอส ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศรายการปกติ[91] หลัง คสช. สั่งผู้ให้บริการสกัดกั้นความพยายามการแบ่งแพร่สัญญาณ (broadcast sharing) บนอินเทอร์เน็ตและสั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปิดโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต[92]

วันที่ 24 พฤษภาคม องค์การสื่อออกจดหมายเปิดผนึกกระตุ้นให้ คสช. ยุติการจำกัดเสรีภาพสื่อให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้[93] คสช. สนองโดยเรียกผู้ให้บริการสื่อทั้งหมด โดยบอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องเข้าประชุมกับ คสช.[94]

เพื่อสนองต่อกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารบนเครือข่ายสังคม คสช. สั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้ปิดกั้นเฟซบุ๊กในประเทศไทยเป็นระยะ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เย็นวันนั้นผู้ในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กได้เป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง[95] ต่อมา เมื่อเวลา 17.00 น. รองโฆษก คสช. แถลงว่าเป็นเหตุขัดข้องทางเทคนิค คสช.ไม่มีนโยบายปิดเฟซบุ๊ก และจากการตรวจสอบพบข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกตเวย์ ด้านกระทรวงไอซีทีและ กสทช.ก็ยืนยันทำนองเดียวกัน[96] พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที ชี้แจงว่าเกิดจากปริมาณผู้ใช้ที่คับคั่ง ซึ่งเกิดจุดหน่วงที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนป้ายข้อความคำสั่งของ คสช. ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต[97] ซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของ สุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงไอซีที ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ว่ามีการปิดกั้นเฟซบุ๊กจริง[98] ภายหลังการให้ข่าวของ สุรชัย ศรีสารคาม เขาถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 มิถุนายน 2557

เทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย แถลงต่อเว็บไซต์เดอะเน็กซ์เว็บในเวลาต่อมาว่าได้รับคำสั่งจาก กสทช. ให้ระงับการเข้าถึงเฟซบุ๊กเป็นการชั่วคราว[99] ทำให้ พันเอก รศ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. ออกมากล่าวตอบโต้ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของดีแทคเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เคารพในกฎกติการมารยาท จึงอาจตัดสิทธิ์ไม่ให้ดีแทคเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4 จี บนย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์[100][101]

ก่อนหน้านี้ จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม กระทรวงไอซีแถลงว่าได้บล็อกยูอาร์แอลไปกว่า 100 ยูอาร์แอลภายใต้กฎอัยการศึก[102]

วันที่ 27 พฤษภาคม คสช. จะส่งข้าราชการไปยังประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเพื่อให้เฟซบุ๊ก กูเกิล และไลน์ตรวจพิจารณาสื่อสังคมเข้มงวดขึ้น[103]

ต่อมา มีประกาศเปลี่ยนเวลาห้ามออกนอกเคหสถานจากเดิมเป็น 0.00 น. ถึง 4.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557[104]

วันที่ 28 พฤษภาคม เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ถูกปิดกั้นทางหน้าแรก นับเป็นการถูกปิดกั้นครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549[105]

วันที่ 1 มิถุนายน มีคลิปจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แสดงภาพหญิงถูกกลุ่มชายนำตัวขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูที่แยกอโศก ด้านพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าจะไม่จับกุมผู้ชุมนุมขณะมีฝูงชนเป็นจำนวนมาก แต่จะรอให้ออกจากที่ชุมนุมก่อน และกล่าวถึงกรณีการนำตัวขึ้นรถแท็กซี่ว่า กลุ่มชายดังกล่าวอาจไม่ใช่ตำรวจ อาจเป็นสามีพาตัวกลับบ้าน เพราะไม่ต้องการให้มาชุมนุม[106] ฝ่ายผู้กำกับการสถานีตำรวจลุมพินีออกมายอมรับว่า ชายกลุ่มดังกล่าวเป็นตำรวจสืบสวนนอกเครื่องแบบ[107]

ป้ายผ้าในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 แจ้งให้สาธารณชนทราบว่าการกดถูกใจหรือแบ่งปันการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์บนสื่อสังคมอาจถูกจำคุกภาพแสดงจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยเมื่อเข้าเนื้อหาที่ถูกห้าม เช่น เดอะเดลีเมล

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการทำความเข้าใจกับผู้สนับสนุน กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ให้หยุดแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และเตือนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองและแกนนำคู่ขัดแย้งให้หยุดกล่าวหา คสช.[108] วันเดียวกัน พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ผู้ที่โพสต์หรือกดถูกใจ (like) โพสต์ที่ชวนคนมาชุมนุมบนเฟซบุ๊กถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ การชุมนุมโดยมีเจตนาแสดงออกถึงการต่อต้าน เช่น ปิดปากกันทุกคน หรือกินแซนด์วิชที่ทราบว่ามีการอ่านแถลงการณ์ด้วย แสดงว่ามีเจตนา และว่า ขณะนี้ การกินแซนด์วิชเริ่มเข้าข่ายมีความผิดเหมือนกับการชู 3 นิ้วแล้ว[109]

วันที่ 13 มิถุนายน คสช. ประกาศยกเลิกห้ามประชาชนออกจากเคหสถานทั่วราชอาณาจักร[110]

วันที่ 22 มิถุนายน ตำรวจจับ อุษณีย์ เศรษฐสุนทรี และทหารรับตัวไปกักขัง เนื่องจากใส่เสื้อ "Respect My Vote" (เคารพเสียงของฉัน)[111]

วันที่ 23 มิถุนายน ตำรวจเตรียมรับมือกิจกรรมรำลึกการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หากมีนัยยะทางการเมืองจะถือว่าผิดกฎหมายและจะถูกจับกุม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่บันทึกภาพผู้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปกครองประเทศของ คสช. ส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดี จะมีรางวัลให้ภาพละ 500 บาท[112]

วันที่ 24 มิถุนายน มานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ทหารสั่งหนังสือพิมพ์ห้ามไม่ให้ตีพิมพ์เรื่องกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร[113] วันเดียวกัน มีรายงานว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ใช้โปรแกรมประยุกต์เพื่อเก็บข้อมูลที่อยู่อีเมล แอปพลิเคชันดังกล่าวถูกเฟซบุ๊กระงับไปแล้วสองครั้ง ต่อมา ปอท.ชี้แจงบนอินเทอร์เน็ตให้เหตุผลถึงการใช้โปรแกรมประยุกต์ดังกล่าวว่า การเก็บรวบรวมพยานหรือข้อมูลผู้ใช้ดังกล่าวทำให้ ปอท.สามารถจัดการกับพยานได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การดำเนินคดีมากขึ้นและจะทำให้สังคมออนไลน์สะอาดขึ้น หน้าสถิติโปรแกรมประยุกต์ออนไลน์ของเฟซบุ๊กแสดงว่า โปรแกรมประยุกต์ทั้งสองได้ที่อยู่อีเมลไปหลายร้อยที่อยู่ก่อนถูกปิด[114]

วันที่ 25 มิถุนายน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ตั้งคณะทำงานเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลที่เป็นเท็จกระทบกับการทำงานของ คสช.[115]

พลเมืองปัจเจกที่แสดงเชิงสัญลักษณ์อื่นถูกจับกุมและกักขังเช่นกัน ซึ่งรวมถึงหญิงคนหนึ่งสวมหน้ากากที่มีคำว่า "People" (ประชาชน)[116] ชายคนหนึ่งตะโกนว่า "ผมเป็นพลเมืองธรรมดาที่รู้สึกอับอายเพราะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศของผมอีกครั้ง"[117] พ่อค้าหมึกทอดที่สวมเสื้อแดง[118] กลุ่มคนที่ปิดตา หูและปากของตน[119] กลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์และนักเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ตั้งใจจัดแสดงภาพยนตร์ Nineteen Eighty-Four[120] กลุ่มบุคคลจัดกิจกรรมหน้าวัดพระศรีมหาธาตุเพื่อเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475[121] นักศึกษาที่เปิดเพลงชาติฝรั่งเศสในที่สาธารณะ[122] กลุ่มบุคคลถือกระดาษเขียนว่า "ประชาชนอยู่ที่ไหน"[123] และชายที่ถือกระดาษเขียนว่า "ถือกระดาษไม่ใช่อาชญากรรม"[124] ทั้งหมดจะถูกไต่สวนในศาลทหารฐานปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง[123]

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

วันที่ 26 กรกฎาคม 2557 คสช. มีคำสั่งฉบับที่ 108 ตักเตือนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ว่าตีพิมพ์ข้อความด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก และต่อมา คสช. ส่งหนังสือมายังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รายละเอียดระบุว่า ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 มีข้อความว่า (1) "ธรรมนูญ "บิ๊กตู่" คสช.พ่อทุกสถาบัน" ซึ่งเป็นการเสียดสี และอาจทำให้เข้าใจผิดว่า พลเอก ประยุทธ์อยู่เหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ (2) ""น้องตาล" กลับเป็นชื่อทายาทของ “บิ๊ก คสช.” ผู้ที่ยังมากบารมี แต่ขอลดบทบาท เพื่อแต่งตัวรอบางสิ่งบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การให้ “ลูกตาล” ซึ่งถือเป็นคนรู้ใจมาเลือกสิ่งอำนายความสะดวกใน “ทำเนียบรัฐบาล-ตึกไทยคู่ฟ้า” อาจจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็น “บิ๊ก คสช.” ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่ “บิ๊กตู่” อย่างที่คาดเดากัน แต่มี “ตาอยู่” ที่ “บิ๊กตู่” วางใจให้มาสานงานต่อก็เป็นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนกันเองใน คสช.นั่นแล" และ (3) "การคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่ามีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน เอาโควตามาแบ่งเค้ก" ซึ่งจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่า "หากทางหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์พิจารณาแก้ไขและขอโทษผู้ร้องเรียน หากผู้ร้องเรียนพอใจ ถือว่าเรื่องเป็นที่ยุติ"[125]

วันที่ 2 สิงหาคม พลเอก ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นประธานเปิดการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมวลชน กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติงานด้านพลเรือน 738 ชุด โดยหวังชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องแนวทางการปฏิบัติงานของ คสช. และสร้างทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อ คสช. และกองทัพ รวมถึงปลูกฝังค่านิยม 12 ประเทศ ตลอดจนปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์[126]

วันที่ 4 สิงหาคม นงลักษณ์ สหวัฒนพงศ์ ผู้จัดการการตลาดนิว อีร่า ไทยแลนด์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมห้ามการขายและการเข้าถึงเกม ทรอปิโก 5 ออนไลน์เพราะเกรงว่า "เนื้อหาบางส่วนอาจกระทบต่อสันติและความสงบเรียบร้อยในประเทศ" เธอกล่าวว่า "บางส่วน [ของเนื้อหา] อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน" และว่าบริษัทฯ จะไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัย[127]

วันที่ 8 สิงหาคม มีการจัดเสวนา "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยก่อนจัดงานมีทหารประสานไปยังมหาวิทยาลัยให้ยกเลิกเสวนาดังกล่าว[128] ปิยบุตร แสงกนกกุล วิทยากรคนหนึ่งแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กว่า "ทำไมหน่วยงานอื่นๆสามารถจัดอภิปรายพูดถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ ได้ เช่น สถาบันพระปกเกล้า จัดงานเกี่ยวกับการปฏิรูปที่กระทรวงกลาโหม โดยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ มีข่าวลงรายละเอียดมากมาย แล้วทำไมนักศึกษาถึงจัดงานในลักษณะเดียวกันไม่ได้? เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ได้อย่างไรว่าในงาน วิทยากรแต่ละท่านจะอภิปรายอย่างไร? หรือท่านดูแค่ชื่อผู้จัด ดูแค่ชื่อวิทยากร?"[129]

วันที่ 10 สิงหาคม กองทัพสั่งองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย ให้ยุติกิจกรรมรณรงค์ในกรุงเทพมหานครซึ่งเรียกร้องสันติภาพในฉนวนกาซา โดยอ้างการห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเกินห้าคนและการชุมนุมทางการเมืองของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง[130]

วันที่ 20 สิงหาคม ทหารเชิญคณะ "เดินรณรงค์ปฏิรูปพลังงานไทย" ไปที่มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ หาดใหญ่ โดยอ้างว่ากลุ่มดังกล่าวฝ่าฝืนประกาศกฎอัยการศึกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[131]

วันที่ 2 กันยายน คสช. สั่งให้ยกเลิกการอภิปรายชื่อ "Access to Justice in Thailand: Currently Unavailable" (การเข้าถึงความยุติธรรมในประเทศไทย: ขณะนี้เข้าไม่ได้) ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย[130]

วันที่ 18 กันยายน ตำรวจยุติสัมมนา ""ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ซึ่งจัดที่ใต้ถุนอาคาร บร.1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วิทยากรรวม เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ จันจิรา สมบัติพูนศิริ ภาณุ ตรัยเวช ประจักษ์ ก้องกีรติ ศ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก่อนหน้านี้มีทหารส่งจดหมายขอให้งดจัดกิจกรรม โดยว่ายังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก และ คสช. ต้องการให้ประเทศสงบเรียบร้อย แต่ผู้จัดยังยืนยันเจตนาเดิม ฝ่ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล็อกห้องที่จะใช้จัดเสวนาครั้งแรก ด้านพลตำรวจตรี สมิทธิ มุกดาสนิท ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า "เรียกว่าพาตัวมาพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ยังไม่แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง ต้องดูที่ผลพูดคุยกันก่อนว่าจะรู้เรื่องหรือไม่"[132] ตำรวจคุมตัววิทยากรและนักศึกษา 3 คนไปยังสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เพื่อสอบถามข้อมูลว่าเข้าข่ายการชักชวน ซ่องสุมให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่ ต่อมา มีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้าขอพบผู้ถูกคุมตัว แต่ทหารปิดประตูกั้นไว้ไม่ให้เข้าพบ[133] สุดท้ายเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวทั้งหมด ประจักษ์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อหากับพวกตน เพียงแต่ทำข้อตกลงว่าหากมีการจัดเสวนาวิชาการต้องส่งหัวข้อให้ทหารอนุมัติก่อน[134]

วันที่ 19 กันยายน ช่วงบ่าย วิกิพีเดียภาษาไทยถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารบล็อก โดยระบุว่า "มีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม"[135] วันเดียวกัน กิจกรรม "ครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.49" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกยกเลิก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่กระจายตัวอยู่รอบบริเวณ[136]

ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน คสช. ออกคำสั่งที่ 64/2557 เพื่อดำเนินนโยบายคืนพื้นที่ป่า แม้ คสช. ประกาศว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ข้อเท็จจริงกลับแตกต่างโดยสิ้นเชิง ผลจากนโยบายนี้ทำให้นิคมเกษตรกรยากจนถูกรื้อถอน ดำรงค์ พิเดช อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงชนกลุ่มน้อยที่พึ่งพาอาศัยป่าว่า "ชาวกะเหรี่ยงผู้อาศัยอยู่ในป่าไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขาได้ตลอดไป เนื่องจากส่วนมากเลือกเป็นพลเมืองไทย เขาควรคิดถึงประโยชน์ของป่าที่มีต่อคนส่วนใหญ่" ฝ่ายนักเคลื่อนไหวท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า กรมป่าไม้และกองทัพร่วมมือกับนายทุนพยายามฟ้องขับไล่ชุมชนของเรา ผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนว่า แม้ คสช. มีคำสั่งที่ 66/2557 ไม่ฟ้องขับไล่คนจนออกจากป่า แต่เมื่อเรียกร้องคืนจะใช้เฉพาะคำสั่งที่ 64/2557 เท่านั้น[137]

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม กองทัพหยุดคาราวานชาวบ้านละหู่ซึ่งได้รับผลกระทบจากคำสั่งที่ 64/2557 มิให้เดินทางไปกรุงเทพมหานครเพื่อร้องทุกข์ต่อหัวหน้า คสช. ก่อนหน้านี้ วันที่ 16 สิงหาคม นายทหาร 50 นายและสมาชิกมาเฟียท้องถิ่น 2 คนข่มขู่ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา ค้นบ้านนักเคลื่อนไหว และออกคำสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในเจ็ดวัน[137]

วันที่ 22 ตุลาคม ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ให้สัมภาษณ์ว่า มีทหารโทรศัพท์ถึงผู้อำนวยการโรงเรียนและถามหาเธอ ทั้งนี้ เธอเคลื่อนไหวเรียกร้องยกเลิกค่านิยม 12 ประการ เพราะเป็นการล้างสมอง และทำให้การศึกษาไทยถอยหลังลงคลอง ก่อนหน้านี้ กลุ่มฯ ชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการแสดงจุดยืนคัดค้านค่านิยมดังกล่าว[138]

วันที่ 23 ตุลาคม พลตำรวจตรี อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวหลังเกิดคดีฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ห้ามแรงงานต่างชาติดื่มกินปนกับนักท่องเที่ยว หวังลดอาชญากรรม และเตรียมหามาตรการควบคุมแรงงานต่างชาติให้อยู่ในกรอบกฎหมาย[139]

วันที่ 7 พฤศจิกายน มติชนออนไลน์ รายงานอ้าง วาสนา นาน่วม ว่า กองกำลังรักษาความสงบมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารติดต่อกับแกนนำต่าง ๆ เพื่อขอให้งดเคลื่อนไหวทางการเมือง บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่เคยถูกออกคำสั่งเรียกตัวตั้งแต่หลังรัฐประหารแล้ว ทางทหารต้องการตอกย้ำข้อตกลง หากไม่ยอมร่วมมือจะมีมาตรการตั้งแต่กฎหมายปกติ ไปจนกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญมาตรา 44[140]

วันที่ 14 พฤศจิกายน ไทยพีบีเอสถอดรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" หลังมีนายทหารที่มีพันเอกเป็นผู้นำพบผู้บริหาร เพราะไม่พอใจการทำหน้าที่พิธีกรของ ณาตยา แวววีรคุปต์ ในเทป ""ฟังเสียงคนใต้ก่อนการปฏิรูป" ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน[141]

วันที่ 15 พฤศจิกายน มีนายทหารกระชากตัวผู้สื่อข่าวหญิงซึ่งบันทึกภาพวิดีทัศน์เพื่อทำข่าวตามปกติที่ค่ายสุรนารี และยังมีนักข่าวอีกสองคนที่ถูกกระชากเสื้อและไล่ออกจากห้องเช่นกัน[142]

วันที่ 19 พฤศจิกายน โรงภาพยนตร์เครือเอเป๊ก สยามสแควร์ซึ่งประกอบด้วยลิโด้และสกล่ายกเลิกการฉายภาพนตร์ เกมล่าเกม 3 ม็อกกิ้งเจย์ ภาค 1 ที่จะฉายในวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรก เจ้าหน้าที่ของโรงภาพยนตร์ดังกล่าวคนหนึ่งว่า ไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดจากผู้นำเข้าภาพนตร์มาฉายตกลงกันไม่ได้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเชิญชวนให้ผู้ชมชูสัญลักษณ์สามนิ้วเข้าโรง นักศึกษาคนหนึ่งว่า ตำรวจโทรศัพท์ไปที่โรงภาพยนตร์ขอให้งดฉาย โดยจะคืนเงินที่จ่ายเหมาโรงให้[143] วันที่ 20 พฤศจิกายน ทางกลุ่มยังยืนยันจัดกิจกรรม ให้มารับตัวชมภาพยนตร์ได้ที่หน้าโรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ซอย 1 ตัวแทนกลุ่มให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มดาวดิน รับรองว่าจะไม่ชูสามนิ้ว และยังว่า ปฏิบัติต่อกลุ่มดาวดินอย่างนี้แล้วจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร ฝ่ายนายตำรวจที่เข้าควบคุมสถานการณ์บอกว่า เรามีสามัญสำนึกถึงสิ่งที่ควรทำ ไปปลูกต้นไม้ กิจกรรมจิตอาสาดีกว่าทำแบบนี้ และฝากถึงอาจารย์รวมทั้งผู้ปกครองด้วย ขอให้ไปแสดงความเห็นทางการเมืองในเวทีปฏิรูป ที่เขาเปิดให้ ยืนยันว่าไม่จับแต่ต้องคุยกันปรับทัศนคติ นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมนักศึกษาที่ขอค่าตั๋วภาพยนตร์คืน ซึ่งเขาเป็นนักศึกษาที่เคยอ่านหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ในที่สาธารณะ และมีการจับกุมนักศึกษาที่ชูสามนิ้วที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ต่อมา ตำรวจปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่แจ้งข้อหา[144]

วันที่ 30 มกราคม 2558 คสช. สั่งห้ามงานประชุมเรื่องการจำกัดสื่อของมูลนิธิฟรีดริช-เอแบร์ท-ชติฟทุงของเยอรมนี ซึ่งเป็นองค์การส่งเสริมประชาธิปไตยสังคมทั่วโลก ฝ่ายพันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ว่า ผู้จัดงานควรให้สารสนเทศเกี่ยวกับงานล่วงหน้าแก่เจ้าหน้าที่ และถูกขอให้เลื่อนเพราะ "เราอยู่ในช่วงละเอียดอ่อน" ด้าน มานพ ทิพย์โอสถ โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวว่างานนี้อาจก่อความเสียหายและละเอียดอ่อนมาก[145]

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักข่าวอิศรารายงานอ้างพันเอก วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กรณีมีกระแสข่าว คสช. ขอความร่วมมืองดล้อการเมืองในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 70 ว่า คสช. ขอความร่วมมือ เนื่องจากการล้อเลียนกันไปมาอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นอีกได้[146] ฝ่ายประชาไท รายงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ (วันงาน) ว่า พลตำรวจตรี ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 รศ. ธนิต ธงทอง รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าตรวจสอบขบวนล้อการเมือง ทั้งให้นักศึกษาอธิบายถึงแนวคิดของหุ่นล้อการเมืองแต่ละตัวอย่างละเอียด และเจ้าหน้าที่ได้กำชับไม่ให้กระทบแนวทางปรองดองและปฏิรูปของ คสช. ต่อมา เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปิดประตูสนามกีฬาห้ามขบวนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้า และขอให้นักศึกษาเก็บป้ายผ้าข้อความเสียดสีการเมืองทั้งหมด เหลือเพียงแต่หุ่นต่าง ๆ หลังการเจรจาสักพัก นักศึกษายินยอมเก็บป้ายผ้า เจ้าหน้าที่จึงเปิดประตูให้[147]

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558 พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลแถลงว่า รัฐบาลห้าม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางออกนอกประเทศเพื่อรับประกันให้เธออยู่ในประเทศเพื่อเผชิญข้อกล่าวหาอาญา[148]

วันที่ 16 มีนาคม 2558 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักเคลื่อนไหวสี่คนจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizen) เตรียมขึ้นศาลทหารในข้อหาละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะของ คสช. ฝ่าย สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอช ประเทศไทย เรียกคดีนี้ว่าเป็น "คดีหลักหมุด" (landmark case)[149]

วันที่ 17 เมษายน 2558 พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวหา สมบัติ บุญงามอนงค์ ว่า การขายข้าวบรรจุถุงของสมบัติเป็นอีเวนต์ทางการเมือง พลตรีสรรเสริญยังว่า หากทำได้ อยากให้ช่วยรับซื้อข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพื่อนำเงินมาชดเชยความเสียหายต่อประเทศนับแสนล้านบาท พร้อมเตือนสมบัติว่ายังอยู่ในรายชื่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยถูกเรียกปรับทัศนคติ อาจพิจารณามาตรการต่อไป[150]

วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 อันเป็นวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร มีการจับนักศึกษา 7 คนที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือป้ายต้านรัฐประหาร และจับนักศึกษาศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย 13 คน ซึ่งต่อมาได้รับปล่อยตัว และต่อมา ตำรวจกักตัวอีกประมาณ 30 คนที่ชุมนุมนอกศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเมื่อเวลา 18.00 น.[151] วันที่ 23 พฤษภาคม หลังจากมีข่าวลือว่านักศึกษาผู้หนึ่งถูกไฟฟ้าช็อต มีเจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ไปเยี่ยม และโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า นักศึกษาผู้นี้ถูกทำร้ายจริง แต่ไม่ถูกไฟฟ้าช็อต[152]

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 พลตรี เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กล่าวว่ามีการจัดกำลังทหารและตำรวจในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 โดยหากมีการแสดงสัญลักษณ์ที่เป็นปัญหาจะให้หยุดการแสดง และขู่ว่าหากมีการแสดงออกที่ทำให้เกิดความเสียหาย คราวหลังอาจไม่มีขบวนพาเหรด และการแปรอักษร[153]

แม้ว่าคสช.จะไม่สั่งปิดสื่อโดยตรง แต่กสทช. สั่งปิดสื่อหลายครั้ง โดยสั่งปิดครั้งละ 30 วัน กสทช. ยังได้รับการเพิ่มอำนาจในการปิดสื่อโดยไม่ต้องขอหมายศาลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[154]โดยมากสั่งปิด พีซทีวี (ประเทศไทย) วอยซ์ทีวี

"คืนความสุขให้คนในชาติ"

คสช.จัดรณรงค์ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยจัดการเฉลิมฉลองรับรัฐประหารซึ่งกองทัพจัดแสดงป๊อป โดยละเว้นการห้ามชุมนุมเกินห้าคน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ประกาศว่าจะจัดเทศกาลดนตรีในสวนทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ฝ่ายประยุทธ์จะจัดรายการรายสัปดาห์เพื่อสรุปงานของ คสช. ซึ่งจะไม่มีการตอบคำถามของสาธารณะ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งถูกบังคับให้แพร่สัญญาณ[155]

วันที่ 11 มิถุนายน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คสช. ประสานงานให้ กสทช. จัดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ทุกนัดผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และช่อง 8 หลังศาลปกครองสูงสุดพิจารณาถึงที่สุดแล้ว พร้อมเชิญผู้แทนบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชันแนล บรอดคาสติง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนต์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) หารือแนวทางในการชดเชย[156] โดยฝ่ายอาร์เอส เสนอให้มีค่าชดเชยเป็นเงิน 766.515 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และคณะกรรมการ กสทช. ประชุมพิจารณาการชดเชยดังกล่าว โดยออกมติให้ใช้กองทุน กทปส.ชดเชยให้อาร์เอสบีเอส เป็นเงินไม่เกิน 427.015 ล้านบาท[157] ด้านสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน โพสต์เฟซบุ๊กว่า การใช้เงินดังกล่าวไม่สมควร ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาติ ไร้สาระ และสูญเปล่า แนะนำว่า กสทช. ควรปฏิเสธ คสช. ไป เขาเสนอว่าเงินจำนวนดังกล่าวสามารถสร้างห้องสมุดประชาชนได้ทุกจังหวัด[158]

ด้าน พันเอก วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกแถลงว่า คสช.ร่วมกับบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล จำกัด, บริษัท พร้อมมิตร โปรดักชัน จำกัด และโรงภาพยนตร์จำนวน 160 แห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี ” ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 รอบฉายเวลา 11:00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[159]

วันที่ 6 สิงหาคม 2557 มีผู้แทน คสช. รับมอบตั๋วภาพยนตร์ในโอกาสวันแม่แห่งชาติจำนวน 20,000 ใบจากบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แม่ลูกมีกิจกรรมร่วมกัน[160]

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2557 http://www.mrecic.gov.ar/el-gobierno-argentino-exp... http://www.humanrights.asia/news/ahrc-news/AHRC-ST... http://www.sbs.com.au/news/article/2014/05/23/thai... http://www.minrel.gob.cl/gobierno-de-chile-condena... http://www.appdisqus.com/2014/06/11/dtac-4g.html# http://asiancorrespondent.com/123598/thai-anti-cou... http://www.asiasentinel.com/politics/thai-generals... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics...