ประวัติ ของ รัตน์_เปสตันยี

รัตน์เกิดวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 ตรงกับปีวอก (หนุมาน-เป็นที่มาของชื่อ หนุมานภาพยนตร์) เป็นบุตรของนายเล็กกับนางเจอราไม เปสตันยี บรรพบุรุษของรัตน์มาจากเตหะราน (เปอร์เซีย) เป็นชาวปาร์ซี นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์[1][2][3][4] ซึ่งมาทำการค้าขายในประเทศไทยกว่าร้อยปีมาแล้ว รัตน์ เปสตันยีเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียและอังกฤษ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ในปีพุทธศักราช 2475

เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ภาพยนตร์สั้นสมัครเล่นเรื่อง “แตง” ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งเมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2481[5] ต่อมาท่านก่อตั้งบริษัทหนุมานภาพยนตร์

เมื่อปี พ.ศ. 2497 สันติ-วีณา ผลงานเรื่องแรกในนามหนุมานภาพยนตร์ ได้เข้าร่วมประกวดในงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับ 2 รางวัล คือ รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) และรางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ)

เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังเกิดอาการหัวใจวายอย่างกะทันหัน กลางที่ประชุมระหว่างสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย กับรัฐมนตรีว่าการและข้าราชการระดับสูงกระทรวงเศรษฐการ เรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ที่โรงแรมมณเฑียร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2513

มูลนิธิหนังไทยได้ตั้งชื่อรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพยนตร์สั้นสำหรับบุคคลทั่วไปในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นเพื่อเป็นเกียรติว่า รางวัล "รัตน์ เปสตันยี"

ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2547 ได้มีพิธีมอบรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement ให้กับ รัตน์ เปสตันยี ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกในยุคต้น ๆ ของวงการภาพยนตร์ไทย [6]

ชีวิตส่วนตัวและจุดเริ่มต้น

รัตน์ เปสตันยี เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2451 เป็นชาวปาร์ซี นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ แล้วไปศึกษาต่อยังประเทศอินเดีย และอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2475 รัตน์ เปสตันยี เริ่มต้นสนใจในเรื่องการถ่ายภาพตั้งแต่วัยเด็ก ใช้เวลาว่างในการฝึกฝนหาความรู้จนชำนาญ และเคยส่งภาพเข้าประกวดจนได้รับรางวัลอยู่เสมอ ๆ ตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี เมื่อครั้งขณะศึกษาอยู่ในประเทศอินเดียก็มีผลงานชนะการประกวดการถ่ายภาพในระดับประเทศ ในขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ ก็เป็นสมาชิกของ Royal Photographic Society ปี พ.ศ. 2481

รัตน์ส่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง แตง เข้าประกวดที่เมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ ได้รับรางวัลจาก ผู้กำกับชื่อดัง อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก[7][8] หลังจากนั้นได้ส่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง เรือใบสีขาว เข้าประกวดได้รับรางวัลจากงานมหกรรมโลกนิวยอร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2482 [8] ทำให้รัตน์ เข้าสู่โลกของศิลปะภาพยนตร์ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยคุณรัตน์ทำงานที่บริษัทนายเลิศ และบริษัทดีทแฮล์ม นานกว่าสิบปี ก่อนที่จะได้รับการชักชวนจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ของอัศวินภาพยนตร์ ให้มาเป็นช่างภาพ ให้กับภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ (2492) [9] ซึ่งในตอนนั้นถ่ายทำในระบบฟิล์ม 16 มม. หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายและได้รับการตอนรับที่ดีจากคนดู มีส่วนทำให้รัตน์ สนใจที่จะทำหนังอย่างจริงจัง

เข้าสู่โลกภาพยนตร์

ตุ๊กตาจ๋า (2494)

จากนั้น รัตน์จึงเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเอง ตุ๊กตาจ๋า ในปี พ.ศ. 2494 [8] รับหน้าที่ทั้งกำกับการแสดง เขียนบทและกำกับภาพ โดยใช้บริเวณบ้านที่ถนนวิทยุ เป็นสถานที่ในการถ่ายทำ เมื่อหนังเรื่อง ตุ๊กตาจ๋า ออกฉายก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รัตน์จึงตกลงใจเป็นอาชีพสร้างภาพยนตร์จริงจัง

ใบปิดภาพยนตร์ สันติ-วีณา

ภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา ผลงานเรื่องแรกที่สร้างโดย หนุมานภาพยนตร์ มีจุดประสงค์ในการสร้างเพื่อเข้าร่วมการประกวดภาพยนตร์แห่งเอเชียตะวันออกไกล ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2497 แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างด้วยความเร่งรีบ แต่ สันติ-วีณา กลับกลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับภาพยนตร์ไทย การประกวดครั้งนั้นมีภาพยนตร์ที่ส่งเข้าประกวด 26 เรื่อง ภาพยนตร์สั้น 8 เรื่อง จาก 9 ประเทศ สันติ-วีณา ได้รับ 2 รางวัลคือรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม คือ รัตน์ เปสตันยี และรางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม คือ อุไร ศิริสมบัติ นอกจากนี้ยังได้รางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาเป็นกล้อง Mitchell BNC ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียได้ดี [8]

ท่ามกลางความดีใจของทีมงานที่ภาพยนตร์ไทยได้รับเกียรติประวัติอันน่าชื่นชม กลับต้องพบกับเรื่องที่ไม่คาดคิดเมื่อเดินทางกลับถึงเมืองไทย ต้องเสียภาษีในการนำเข้ากล้องที่เป็นรางวัลจากการประกวด เป็นจำนวนเงินสูงถึง 5000 เหรียญ ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนจากกล้อง Mitchell BNC เป็นกล้อง Mitchell NC ซึ่งมีราคาถูกกว่าเพื่อนำเงินส่วนต่างนั้นมาชำระค่าภาษีที่เกินขึ้น และอีกครั้งเมื่อคราวที่ต้องนำฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา กลับมาเมืองไทย ก็ถูกเรียกเก็บภาษีฟิล์มจากกองเซ็นเซอร์ ในข้อหาส่งฟิล์มเนกาทีฟออกนอกประเทศโดยมิได้รับอนุญาตจากกองเซ็นเซอร์ ทำให้รัตน์จำต้องทิ้งฟิล์มเนกาทีฟไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะส่งกลับไปเก็บไว้ยังแล็ปที่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี

เริ่มสร้างภาพยนตร์ไทย

ไฟล์:โรงแรมนรก (2500).jpgใบปิดภาพยนตร์ โรงแรมนรก (2500)ใบปิดภาพยนตร์ แพรดำ (2504)

ในช่วงแรกของโรงถ่าย รัตน์มักจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง และผู้ถ่ายภาพ มาจนกระทั่ง ภาพยนตร์เรื่อง โรงแรมนรก ภาพยนตร์ที่รัตน์ รับหน้าที่กำกับและเขียนบทเองเพื่อทดลองว่าการถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. [10] ขาวดำนั้นมีการลงทุนที่ต่ำกว่าหนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี อีกทั้งยังสามารถล้างและพิมพ์ฟิล์มได้ภายในประเทศไม่จำเป็นต้องส่งไปยังแล็ปในต่างประเทศ เป็นเสมือนการเชิญชวนให้คนทำหนังในเวลานั้นหันมาสนใจสร้างภาพยนตร์ด้วยฟิล์ม 35 มม. กันมากขึ้นเพื่อช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ โรงแรมนรก เป็นภาพยนตร์ไทยที่ล้ำหน้ามากในปี พ.ศ. 2500 และจนถึง พ.ศ.นี้

จุดมุ่งหมายหนึ่งในการสร้างภาพยนตร์ของรัตน์ ที่เราจะพบเห็นอยู่เสมอ คือความพยายามที่จะเผยแพร่ภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ แพรดำ เป็นภาพยนตร์อาชญกรรมที่ถือได้ว่าเป็นฟิล์มนัวร์เรื่องแรกของประเทศไทย[11] เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความตั้งใจนี้อย่างแท้จริง และได้เข้าร่วมประกวดในงาน เทศกาลภาพยนตร์ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน แม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลใด ๆ กลับมา แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากสื่อมวลชนที่ไปร่วมงาน [10][12]

หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง สันติ – วีณา ประสบความสำเร็จ สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดในระดับนานาชาติ ส่งผลให้วงการภาพยนตร์ไทยคึกคัก และเป็นเหตุให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เกิดความตั้งใจที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างจริงจัง ได้มีการมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ทำโครงการสร้างเมืองอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยจะทำการรวบรวมบริษัทสร้างภาพยนตร์ที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นหลักฐานเข้าร่วมกันเป็นองค์การรัฐวิสาหกิจ เตรียมการจัดสร้างขึ้นที่ บางแสน แต่โครงการก็มีอันต้องถูกระงับไปหลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2500

ชีวิตครอบครัว

ในปี พ.ศ. 2480 รัตน์ เปสตันยี เข้าพิธีสมรสกับ ชื้น ทัพพะทัต และมีบุตรธิดา 3 คน คือ พรรณี (เปสตันยี) ตรังคสมบัติ , สันต์ เปสตันยี และ เอเดิ้ล เปสตันยี

เลิกสร้างภาพยนตร์

ภาพยนตร์ น้ำตาลไม่หวาน ภาพยนตร์ที่สร้างในปี พ.ศ. 2507 เป็นงานที่รวบรวมองค์ประกอบของหนังตลาดเข้าไว้ด้วยกัน และในเวลาเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรัตน์ไว้ได้ แต่กลับล้มเหลวด้านรายได้อย่างสิ้นเชิง เขาจึงยุติการสร้างภาพยนตร์ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ และความเบื่อหน่ายในการขอคิวดารา นอกจากรับผลิตหนังสารคดีให้กับหน่วยงานต่าง ๆ [10]

การส่งเสริมของรัฐ

นอกจากการบทบาทการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์แล้ว รัตน์ เปสตันยี ยังเป็นแกนนำสำคัญในการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยกำลังเผชิญอยู่ เรียกร้องให้สนับสนุนภาพยนตร์ไทยในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งด้วย พร้อมทั้งเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทยด้วย บทบาทในส่วนนี้ได้เดินมาพร้อมกับการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ โดยเริ่มต้นจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมก่อตั้ง สหพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์แห่งภาคตะวันออกไกล ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2496 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากประเทศ ญี่ปุ่น, จีน, ฟิลลิปปินส์, มลายู, อินโดนีเซีย และไทย ตัวแทนจากประเทศไทย ประกอบ หม่อมวิภา จักรพันธ์ จาก อัศวินภาพยนตร์, โรเบิร์ต จี นอร์ธ จากหนุมานภาพยนตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งเพื่อผดุงฐานะภาพยนตร์ในอาเชียให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศในภาคพื้นยุโรป

ความพยายามในการก่อตั้ง สหพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์ในประทศไทย ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2497 นั้น ต้องประสบกับข้อปัญหาอย่างมากจากผู้อำนวยการสร้างบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากระเบียบในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้นจะต้องเป็นบริษัทที่มีการจดทะเบียนการค้าอย่างถูกต้อง แต่ในช่วงเวลานั้นกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะเริ่มต้น หลายบริษัทยังไม่มีการจดทะเบียน ประกอบกับกลุ่มผู้สร้างส่วนใหญ่สร้างภาพยนตร์ในระบบ 16 มม. ซึ่งมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศมากกว่าการส่งออกไปฉายต่างประเทศ มีส่วนให้ความพยายามในการรวมกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ต้องเลื่อนออกไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 มีความพยายามอีกครั้งในการรวมกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ โดยในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า ”สมาคมผู้อำนวยการสร้างแห่งประเทศไทย“ และมีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 โดยมี รัตน์ เปสตันยี เป็นนายกสมาคมคนแรก

หลังจากมีการก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการภาพยนตร์แห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ มีการประชุมครั้งแรกในเดือนมีนาคม ทางสมาคมได้ขอความร่วมมือบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ทุกแห่งหารือร่วมกันในการตัดรายจ่ายในการทำโฆษณา และขณะเดียวกันก็จะให้ทุกบริษัทมีการโฆษณาแบบเสมอภาค ลด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้สร้าง โดยจะเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2510 พร้อมทั้งเสนอให้ทางรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมภาพยนตร์ไทย เพื่อรับพิจารณาช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ของผู้สร้างภาพยนตร์ไทย การดำเนินการที่กำลังจะไปได้ด้วยดี มีอันที่จะต้องสะดุดลงอีกครั้งเมื่อหลังจากนั้น ภาครัฐได้ออก พ.ร.บ. 2509 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสมาคม ทำให้คณะกรรมการชุดริเริ่มต้องหมดสภาพไป ต้องมีการยื่นขอจดทะเบียนใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา และส่งผลให้ข้อตกลงที่ทำร่วมกันในเรื่องตัดรายจ่ายค่าโฆษณาไม่มีผลบังคับใช้กับสมาชิก จนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ อีกด้านหนึ่งคณะอนุกรรมสนับสนุนภาพยนตร์ไทยก็ได้ถูกยกเลิกไปหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

เสียชีวิต

ในช่วงหลังของชีวิตรัตน์ ป่วยด้วยโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจ ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักได้ จำเป็นต้องหยุดงานสร้างภาพยนตร์ แต่ยังคงทำงานสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ไทย ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2513 [8] สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือภาพยนตร์ไทยอย่างไรบ้าง ณ ห้องเมธี โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนผลัดกันพูด คุณรัตน์ขออนุญาตลุกขึ้นพูดเป็นคนสุดท้าย แต่ด้วยความอัดอั้นและคับข้องใจที่เผชิญมาตลอดเวลาที่ทำงาน เป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายล้มลงกลางที่ประชุม และเสียชีวิตเมื่อเวลา 22.18 น. ที่ โรงพยาบาลจุฬา

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของคุณรัตน์ เป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ และก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่สังคม และนั่นอาจจะเป็นแรงผลักครั้งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลรีบจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนั้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัตน์_เปสตันยี http://216.109.125.130/search/cache?p=parsi+peston... http://66.218.69.11/search/cache?p=parsi+pestonji&... http://66.218.69.11/search/cache?p=parsi+pestonji&... http://www.imdb.com/name/nm0676112/ http://movies2.nytimes.com/gst/movies/movie.html?v... http://ww.siamzone.com/movie/news/?id=1684 http://www.thaicine.com/wboard/maintopic.php?Group... http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=108 http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=28 http://www.thaifilm.com/articleDetail_en.asp?id=40