การผลิต ของ ราพันเซล_เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ

ระยะเวลาและกำหนดการ

แอลเอไทมส์รายงานว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาพัฒนาถึงหกปี และใช้เงินไปมากกว่าสองร้อยหกสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ[6]

เดิมทีในเดือนเมษายน 2550 มีการประกาศว่า จะให้ ดีน เวลลินส์ (Dean Wellins) นักแอนิเมชันและนักเขียนเรื่องผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแอนนี มาร่วมกำกับภาพยนตร์นี้กับ เกล็น คีแอน (Glen Keane)[8] วันที่ 9 ตุลาคม ปีถัดมา มีรายงานว่า ทั้งคู่ลาออก และมีการแต่งตั้ง ไบรอน ฮาวเวิร์ด (Byron Howard) กับ นาธาน เกรโน (Nathan Greno) และคณะ มาแทนที่ คณะของฮาวเวิร์ดเคยทำงานให้แก่ดิสนีย์ในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เรื่อง ซูเปอร์โฮ่ง ฮีโร่หัวใจเต็มร้อย (Bolt) มาก่อน โดยคีแอนที่ลาออกจากตำแหน่งผู้กำกับนั้นจะไปเป็นผู้อำนวยการบริหารการผลิตและผู้ควบคุมแอนิเมชัน ส่วนเวลลินส์จะไปทำภาพยนตร์สั้นเรื่องอื่น[9]

การเปลี่ยนชื่อ

ตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของ Rapunzel ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Tangled

ในเบื้องต้น มีการโฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้โดยใช้ชื่อว่า Rapunzel Unbraided ("ราพันเซลไม่ได้ถักเปียนะ") แล้วเปลี่ยนเป็น Rapunzel ("ราพันเซล") เฉย ๆ[10]

เนื่องจากดิสนีย์เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า มหัศจรรย์มนต์รักเจ้าชายกบ ที่ฉายในปี 2551 นั้น ยังไม่ได้ดั่งใจ ถึงแม้ว่า ภาพยนตร์นี้จะได้รับคำวิพาษ์วิจารณ์ไปในทางบวก และนำรายได้จากทั่วโลกมาเกือบสองร้อยเจ็ดสิบล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม ประกอบกับดิสนีย์มองว่า หากภาพยนตร์เรื่องใหม่นั้นใช้ชื่อ Rapunzel จะไม่จูงใจเด็กหนุ่มมาชมดู[11] [12] ดิสนีย์จึงเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์เรื่องใหม่อีกครั้ง จาก Rapunzel เป็น Tangled ("อีนุงตุงนัง") โดยคาดว่าน่าจะจูงใจทั้งหญิงทั้งชายมากขึ้น และจะได้เน้นย้ำบทบาทของฟลิน ไรเดอร์ พระเอกของเรื่อง มากขึ้นด้วย[12]

ในครั้งนี้ ดิสนีย์ถูกประณามเป็นอันมากกว่า ละทิ้งชื่อที่เป็นแบบแผนไปเพียงเพื่อประโยชน์ทางการตลาด โดย ฟลอยด์ นอร์แมน อดีตนักแอนิเมชันและนักเขียนเรื่องของดิสนีย์และพิกซาร์ แถลงว่า "ไอ้แนวความคิดเรื่องเปลี่ยนชื่อคลาสสิก ๆ อย่าง 'ราพันเซล' ไปเป็น 'อีนุงตุงนัง นี่ ผมว่ามันโฉดเขลาสิ้นดี ผมฟันธงเลยว่า เขาจะไม่ได้อะไรจากการเปลี่ยนชื่อนี้ จะได้อย่างเดียวก็แต่การถูกผู้คนมองว่าดิสนีย์พยายามหาคนมาดูหนังเพิ่ม"[13] และ จัสติน ชาง (Justin Chang) จากนิตยสารวาไรอิที (Variety) เปรียบว่า การกระทำครั้งนี้ของดิสนีย์ เหมือนกับเปลี่ยนชื่อ The Little Mermaid ("เงือกน้อยผจญภัย") ไปเป็น Beached ("เกยตื้น")[14]

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 อันเป็นวันที่เผยแพร่ภาพยนตร์ครั้งแรก ผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสองคนแถลงว่า การเปลี่ยนชื่อมิใช่การตัดสินใจเพื่อการตลาด แต่เพราะว่า ราพันเซลไม่ใช่ตัวเอกเพียงคนเดียวของเรื่อง แต่เป็นทั้งราพันเซลและฟลิน ไรเดอร์ ผู้กำกับทั้งคู่กล่าวด้วยว่า "ก็เหมือนกับที่คุณจะไปเรียก Toy Story ("ทอยสตอรี") ว่า Buzz Lightyear ("บัซ ไลต์เยียร์" ตัวเอกของเรื่องคู่กับ นายอำเภอวูดี) นั้นก็ไม่ได้อยู่แล้ว" และว่า พวกตนต้องการชื่อที่แสดงถึงแก่นเรื่องอย่างแท้จริงเท่านั้น[15]

แอนิเมชัน

รูปแบบของราพันเซล ที่ผู้กำกับคีแอนต้องการให้มี "ผมสวย"

ภาพยนตร์นี้ทำขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียก การสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (computer-generated imagery) แต่ก็อ้างอิงภาพลักษณ์แบบดั้งเดิมจากภาพเขียนผ้าใบเก่า ๆ ด้วย มีการใช้ชุดภาพเขียนโรโกโกของ ฌ็อง-ออนอเร ฟราโฌนาร์ (Jean-Honoré Fragonard) จิตรกรชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะภาพ เดอะสวิง (The Swing) มาใช้เป็นแนวทางศิลปะของภาพยนตร์ เพราะผู้กำกับคีแอนเห็นว่าเป็นผลงานที่ "ทั้งน่าเพ้อฝัน ทั้งงามงดสดใส"[16]

ผู้กำกับคีแอนประสงค์ให้รูปลักษณ์และสัมผัสในภาพยนตร์เป็นแบบที่ดิสนีย์เคยวาดด้วยมือแต่ก่อน แต่ในรูปแบบสามมิติ เขาจึงจัดการสัมมนาชื่อ "ของดีจากสองโลก" (The Best of Both Worlds) เพื่อให้จิตรกรคอมพิวเตอร์กราฟิก และจิตรกรวาดมือ จำนวนห้าสิบคน ของดิสนีย์ มาถกกันเรื่องข้อดีข้อด้อยของการวาดมือและระบบสามมิติ[17] เพราะมีข้อจำกัดบางประการทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์สร้างด้วยเทคโนโลยีการสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์จึงไม่เคยใช้งานที่ทำงานมือเลย แต่ในสมัยหลัง เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก ทำให้สามารถผสมผสาน "งานทำมือ" และ "งานทำคอมป์" เข้าด้วยกันได้ แล้วเลือกใช้จุดที่ดีที่สุดของทั้งสอง คีแอนเน้นย้ำว่า เขาพยายามให้คอมพิวเตอร์ "คำนับจิตรกรวาดมือ" มากกว่าให้คอมพิวเตอร์ครองโลกศิลปะ เขากล่าวด้วยว่า เขาประสบความสำเร็จในการทำให้คอมพิวเตอร์ "ว่าง่ายอย่างดินสอ" และเรียกทัศนคติของเขาว่า "การวาดภาพสามมิติ" (three dimensional drawing) ด้วยเทคโนโลยีอันอยู่ในความควบคุมของจิตกร เมื่อเริ่มงาน เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่คีแอนต้องการมีเพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพสูงนั้น ยังไม่มีในพื้นโลก ดิสนีย์แอนิเมชันสตูอิโอส์จึงต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเอง[16] คีแอนกล่าวว่า "มันไม่มีเส้นผมเสมือนจริงเหมือนถ่ายรูปเอาได้ ผมอยากได้ผมสวย แล้วเราก็เลยประดิษฐ์หนทางใหม่สำหรับให้ได้ผมสวยนั้น ผมอยากให้ประะสมความอบอุ่นและความรู้แจ้งเห็นจริงแบบใช้มือวาดเข้าไปในซีจีไอ [การสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์]"[18]

เป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งของนักแอนิเมชันคือ สร้างความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งให้ดูนุ่มนวลเหมือนวาดมืออย่างในภาพยนตร์เก่า ๆ ของดิสนีย์ คีแอนยกเรื่องนี้ให้เป็นผลงานของ ไคล์ สตราวิตซ์ (Kyle Strawitz) นักแอนิเมชันสามมิติของดิสนีย เขากล่าวว่า สตราวิตซ์ "เอาบ้านมากจากเรื่องสโนว์ไวต์ แล้วสร้างมัน เขาระบายสีมัน เพื่อให้มันดูเป็นบ้านแบนเรียบ แต่ทันใด มันก็เคลื่อนไหวได้ แล้วก็มีมติ เขาเก็บรายละเอียดทุกอย่างราวกับเป็นความนุ่มนวลและโค้งควับแห่งแปรงสีน้ำ ไคล์ช่วยให้เราได้ผู้หญิงในภาพ สวิง ของฟราโฌนาร์...เรากำลังใช้...เทคนิคทันสมัยที่สุดเพื่อทำให้เกิดบุคลิกมนุษย์เสมือนจริงจนใครก็เถียงไม่ได้ และก็ให้เกิดบรรยากาศพร้อมสรรพด้วย"[16]

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีนั้นยังมีข้อขัดข้องอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องจัดการเส้นผมของราพันเซล เคลลี วาร์ด (Kelly Ward) วิศวกรซอฟต์แวร์ชั้นผู้ใหญ่ของดิสนีย์ จึงสละเวลาหกปีนั่งเขียนโปรแกรมขึ้นมา เพื่อทำให้ควบคุมเส้นผมของราพันเซลได้ตามต้องการ[19] เขาพัฒนาโปรแกรมจำลองการเคลื่อนไหวของเส้นผมชื่อ "ไดนามิกไวรส์" (Dynamic Wires) และเคยนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง ซูเปอร์โฮ่ง ฮีโร่หัวใจเต็มร้อย โปรแกรมดังกล่าวยุติความกังวลของเหล่าผู้กำกับในเรื่องเส้นผมยาวสลวยของราพันเซลได้ในเดือนมีนาคม 2553[20]

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเรขาคณิตแยกส่วนต่างอย่างเด่นชัด (discrete differential geometry) เพื่อสร้างผลตามที่ต้องการและพิชิตความยากลำบากบางประการในเรื่องผมของราพันเซล โดยเฉพาะเพื่อให้ผมพลิวไสวเมื่อต้องลม และลอยไปตามน้ำได้อย่างไม่น่าเชื่อ เทคโนโลยีดังกล่าวยังให้นักแอนิเมชันทำหน้าที่อันเฉพาะเจาะจงของตนได้ดังใจ จากที่เดิมต้องใช้เวลาหลายวันก็ลดลงเหลือเพียงไม่กี่นาที[21]

คณะทำงานฝ่ายสามมิติได้ตั้งอยู่บทการเข้าถึงความสุนทรีย์ทางศิลปะ มากกว่าจะเพ่งเป้าหมายไปยังความเหมือนจริง โรเบิร์ต นิวแมน (Robert Neuman) ผู้ควบคุมมุมมองสามมิติของภาพยนตร์ กล่าวว่า "เรากำลังจมดิ่งสู่ความนุ่มลึกอย่างเป็นศิลปะมากกว่าครั้งไหน ๆ และเราก็ไม่ได้ใส่จะถ่ายทอดความลึกซึ้งของกล้องกับมุมภาพอย่างตรงไปตรงมา หากเราใฝ่ใจจะตีความมันมากกว่า" ในการนี้ คณะทำงานได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียก "มัลติ-ริกกิง" (multi-rigging) ที่สร้างขึ้นจากกล้องเสมือนจริงจำนวนหลายคู่ แต่ละคู่ทำหน้าที่อย่างเป็นเอกเทศของตนในแต่ละองค์ประกอบเป็นราย ๆ ไป โดยจะเพิ่มความลึกซึ้งให้แก่ฉาก เช่น ในฉากหลัง, ฉากหน้า และลีลาตัวละคร โดยไม่เกี่ยวโยงกับกล้องคู่อื่น ๆ เลย พอนำกล้องทั้งหมดมาประสมกันในการผลิตขั้นตอนต่อมา จะได้ผลลัพธ์เป็น "อะไรบางอย่างที่เป็นไปไม่ได้โดยทัศนวิสัยในโลกจริง แต่ก็สร้างภาพลักษณ์น่าดึงดูดให้แก่ภาพยนตร์"[22]

ใกล้เคียง

ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ ราพันเซล (ตัวละครดิสนีย์) ราพันเซล ราชันย์แห่งภูต ราชันผู้งดงาม ราชันย์ผู้กล้า กาโอไกการ์ รามัน ปราตาเชวิช ราชันน้ำตา อีบังวอน ราชันแห่งแผ่นดิน รำพันพิลาป

แหล่งที่มา

WikiPedia: ราพันเซล_เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ http://www.aintitcool.com/node/38686 http://animatedviews.com/forum/viewtopic.php?f=3&t... http://www.awn.com/articles/ichicken-littlei-beyon... http://www.awn.com/news/events/little-mermaid-team... http://www.billboard.com/#/charts/billboard-200?be... http://www.billboard.com/#/charts/kids-albums http://www.billboard.com/#/charts/soundtracks http://boxofficemojo.com/movies/?id=rapunzel.htm http://broadwayworld.com/printcolumn.php?id=185730 http://www.collider.com/2010/09/27/alan-menken-int...