โบลซาฟามีลียา ของ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าในประเทศบราซิล

โบลซาฟามีลียาเป็นโครงการสวัสดิการสังคมของรัฐบาลบราซิล ซึ่งมุ่งลดความยากจนในระยะสั้นโดยการโอนเงินสดโดยตรงและการต่อสู้ความยากจนในระยะยาวโดยการเพิ่มทุนมนุษย์ในหมู่คนจนผ่านการโอนเงินสดแบบมีเงื่อนไข นอกจากนี้ยังพยายามให้การศึกษาแบบให้เปล่าแก่เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อแสดงความสำคัญของการศึกษา[2] ส่วนของโครงการที่ว่าด้วยสิทธิประโยชน์สวัสดิการโดยตรงอาจเรียกได้ว่าเป็นรายได้พื้นฐานแบบมีเงื่อนไขบางอย่าง ครอบครัวที่มีบุตรที่มีสิทธิได้รับรายได้ดังกล่าวนั้น จะต้องดูให้แน่ใจว่าบุตรเข้าโรงเรียนและรับการฉีดวัคซีน โครงการโบลซาฟามีลียาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนลดความยากจนในประเทศบราซิล ซึ่งลดลงร้อยละ 27.7 ระหว่างรัฐบาลลูลาสมัยแรก[3] โครงการนี้ได้รับการอธิบายว่าเป็น "โครงการทำนองนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก"[4] จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีประชากรบราซิลร้อยละ 26 อยู่ในโครงการ จนถึงเดือนมีนาคม 2563 โครงการครอบคลุมครอบครัว 13.8 ล้านครอบครัว[5] และได้รับเงินเฉลี่ย 34 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (บราซิลมีค่าแรงขั้นต่ำ 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน)[6]

ปฏิกิริยาจากนานาชาติส่วนใหญ่เป็นแบบกระตือรือร้น พอล วุลโฟวิตซ์ อดีตประธานธนาคารโลก กล่าวในปี 2548 ว่า "โบลซาฟามีลียากลายมาเป็นตัวแบบนโยบายสังคมที่มีประสิทธิภาพได้รับการยกย่องอย่างสูงไปแล้ว ประเทศทั่วโลกกำลังถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของบราซิลและกำลังพยายามสร้างผลลัพธ์เดียวกันสำหรับประชาชนของตน"[7] นักคิดและนักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ โจเซฟ ฮีธ ยกย่องโครงการในหนังสือ Economics without Illusions โดยอ้างมันว่าเป็นตัวอย่างของวิธีการจัดการสิ่งเร้าแก่ประชาชนซึ่งความยากจนเป็นผลมาจากการคิดลดแบบไฮเปอร์โบลิก (hyperbolic discounting)[8]

ข้อวิจารณ์

ข้อวิจารณ์หนึ่งที่พบบ่อยและซ้ำ ๆ คือ สมมติฐานว่าโครงการจะทำให้คนไม่กระตือรือร้นทำงาน ส่งเสริมความเกียจคร้าน ทำให้คนพอใจที่จะอยู่ภายใต้โครงการนี้ คริสตจักรคาทอลิกผ่านการประชุมบิชอปแห่งชาติบราซิลยืนยันว่า "โครงการนี้เป็นสิ่งเสพติด" และทำให้ผู้ได้รับประโยชน์ตกสู่ "การเกื้อกูล"[9][10]

อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบของธนาคารโลกกลับสรุปว่าโครงการนี้มิได้ทำให้คนทำงานลดลง หรือทำให้คนไม่สนใจเลื่อนฐานะทางสังคม ในทางกลับกัน เบเนดิกต์ เดอ ลา บรีแยร์ ผู้รับผิดชอบการเฝ้าติดตามโครงการระบุว่า "งานผู้ใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการโอนรายได้ ในบางกรณี คนกลับยิ่งทำงานหนักขึ้นเพราะการมีหลักประกันอันนี้ทำให้พวกเขารับความเสี่ยงในกิจกรรมได้มากขึ้นด้วยซ้ำ"[11]

การสำรวจและการวิจัย

การสำรวจของรัฐบาลกลางบราซิลพบว่าผู้ได้ประโยชน์ใช้จ่ายเงินจากมากไปน้อยตามลำดับดังนี้ อาหาร อุปกรณ์การเรียน เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า[12] การศึกษาของมหาวิทยาลัยเปร์นัมบูกูใช้วิธีการทางสถิติที่ซับซ้อนอนุมานว่าประชากรในชนบทใช้เงินร้อยละ 87 เพื่อซื้ออาหาร[13]

จากการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยบางแห่งและสถาบันภูมิศาสตร์และสถิติแห่งบราซิล พบว่าโครงการได้มีส่วนอย่างชัดเจนในผลที่ดีขึ้นในการต่อสู้กับความยากจนของบราซิล การประเมินเศรษฐมิติของโครงการพบว่ามีผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการเข้าเรียนและจำนวนเด็กที่ใช้แรงงานเด็ก[14][15]

ธนาคารโลกซึ่งให้เงินกู้แก่รัฐบาลบราซิลในการจัดการโครงการ[16] ประกาศว่า "แม้โครงการยังมีอายุค่อนข้างน้อย แต่ผลลัพธ์บางอย่างประจักษ์แล้ว รวมทั้ง [...] การมีส่วนต่อผลลัพธ์การศึกษาที่ดีขึ้น และผลกระทบต่อการเติบโตของเด็ก การบริโภคอาหาร และคุณภาพอาหาร"[17]

การศึกษาของศูนย์นโยบายระหว่างประเทศสำหรับการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (International Policy Centre for Inclusive Growth) พบว่า สิทธิประโยชน์กว่าร้อยละ 80 ของโครงการตกแก่ครอบครัวยากจน[18]

แหล่งที่มา

WikiPedia: รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าในประเทศบราซิล http://veja.abril.com.br/idade/exclusivo/bolsa_fam... http://www.cartacapital.com.br/educacao/renda-mini... http://www.dji.com.br/decretos/2004-005209/2004-00... http://www.estadao.com.br/noticias/impresso,miseri... http://terramagazine.terra.com.br/interna/0,,OI190... http://www.bnb.gov.br/content/aplicacao/Eventos/Fo... http://www.planalto.gov.br/ccivil_03/_ato2004-2006... http://www.senado.gov.br/senadores/Senador/esuplic... http://cmapiai.sp.gov.br/portal/?p=3099 http://www.cnbb.org.br/site/articulistas/dom-crist...