ลัทธิทรูแมน

ลัทธิทรูแมน (อังกฤษ: Truman Doctrine) เป็นนโยบายซึ่งเสนอโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฮร์รี เอส. ทรูแมน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1947 โดยกล่าวว่า สหรัฐจะสนับสนุนกรีซและตุรกี โดยให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหาร เพื่อป้องกันมิให้ประเทศทั้งสองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียต[1]ทรูแมนกล่าวว่าทฤษฎีดังกล่าวจะเป็น "นโยบายของสหรัฐอเมริกาเพื่อสนับสนุนอิสรชนผู้ซึ่งกำลังต่อต้านความพยายามปราบปรามโดยชนกลุ่มน้อยติดอาวุธหรือโดยแรงกดดันจากภายนอก" ทรูแมนให้เหตุผลว่า เนื่องจาก "ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ" เหล่านี้บีบบังคับ "อิสรชน" พวกเขาจึงเป็นสัญลักษณ์ของภัยคุกคามต่อสันติภาพสากลและความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ทรูแมนออกแถลงการณ์ดังกล่าวท่ามกลางวิกฤตการณ์สงครามกลางเมืองกรีซ (1946-49) เขาโต้แย้งว่าหากกรีซและตุรกีไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ต้องการโดยด่วนแล้ว ทั้งสองประเทศอาจตกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างแก้คืนไม่ได้และจะสร้างผลกระทบร้ายแรงตลอดภูมิภาคแต่เดิม สหราชอาณาจักรเคยให้การสนับสนุนกรีซมาก่อน แต่ตอนนี้อังกฤษกลับตกอยู่ในสถานะแทบล้มละลายและถูกบังคับให้ลดการให้ความช่วยเหลือลงอย่างมาก ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 สหราชอาณาจักรร้องขออย่างเป็นทางการต่อสหรัฐอเมริกาเพื่อแทนที่ตนในบทบาทการสนับสนุนรัฐบาลกรีซ[2]นโยบายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันซึ่งมีเสียงข้างมากในรัฐสภาสหรัฐอเมริกา และส่งเงินจำนวน 400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐไปยังภูมิภาคดังกล่าว แต่มิได้ส่งกำลังทหารใด ๆ ไป ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวทำให้ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์หมดลงไป และใน ค.ศ. 1952 ทั้งสองประเทศเข้าร่วมกับนาโต พันธมิตรทางการทหารซึ่งรับประกันการคุ้มครองทั้งสองประเทศ[3]ลัทธิดังกล่าวต่อมาแพร่หลายอย่างไม่เป็นทางการจนกลายมาเป็นรากฐานของนโยบายสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็น ตลอดทวีปยุโรปและทั่วโลก[4] โดยเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศที่มีต่อสหภาพโซเวียตจากยุคแห่งการผ่อนคลายความตึงเครียด ไปเป็นนโยบายการจำกัดการขยายตัวของโซเวียต นักประวัติศาสตร์มักถือว่าการประกาศลัทธิทรูแมนเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น