ประวัติ ของ ลัทธิบัวขาว

ลัทธิบัวขาว มีหลักความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างศาสนามาณีกีกับศาสนาพุทธ มีหลักปฏิบัติคือการกินเจอย่างเคร่งครัด ให้บุรุษกับสตรีมีปฏิสัมพันธ์กันได้ค่อนข้างเสรีซึ่งขัดกับธรรมเนียมจีนสมัยนั้น และปกปิดพิธีกรรมของตนเป็นความลับ โดยให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นเพียงการไหว้เจ้า[1] หลักฐานเกี่ยวกับลัทธิบัวขาวปรากฏครั้งแรกในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตรงกับสมัยราชวงศ์หยวนที่จักรวรรดิมองโกลปกครองแผ่นดินจีน ชาวฮั่นในสมัยนั้นไม่พอใจที่คนต่างชาติมาปกครองอย่างกดขี่ จึงรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสมาคมทางศาสนาและดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมื่อเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการปกครองของคนต่างชาติ ลัทธิบัวขาวมีส่วนร่วมในขบวนการนี้ด้วย จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย[2] แนวทางการเมืองนี้ทำให้ลัทธิบัวขาวถูกทางการปราบปรามอย่างหนัก[3]

ศาสนิกชนของลัทธิบัวขาวได้ร่วมกันก่อกบฏโพกผ้าแดงขึ้นในช่วง ค.ศ. 1351 – 1368 จู หยวนจางกับสมัครพรรคพวกก็เข้าร่วมขบวนการด้วย กลุ่มกบฏสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้เป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา และส่งเสริมราชวงศ์หมิงให้ปกครองแผ่นดินสีบแทน โดยจู หยวนจางได้รับอาณัติสวรรค์ให้ปกครองแผ่นดิน เฉลิมพระนามจักรพรรดิหงหวู่

เมื่อราชวงศ์หมิงล่มสลายและถูกราชวงศ์ชิงขึ้นมาปกครองแทน ลัทธิบัวขาวก็ก่อกบฏบัวขาวอีกครั้งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อต่อต้านราชวงศ์ชิงที่กดขี่เรื่องภาษีและฟื้นฟูราชวงศ์หมิง แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างหนักจนสลายตัวไปในปี ค.ศ. 1804 ศาสนิกชนถูกจับกุมและประหารชีวิต ตำราคัมภีร์ต่าง ๆ ถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก[4]