วงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง
วงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง

วงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง

วงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Crotalinae, อังกฤษ: Rattlesnake, Pit viper) เป็นวงศ์ย่อยของวงศ์ Viperidae ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดและพบกระจายพันธุ์ได้กว้างขวางที่สุดมีลักษณะโดยรวม คือ มีแอ่งรับรู้คลื่นอินฟราเรดระหว่างช่องเปิดจมูกกับตา กระดูกพาลาทีนมีก้านกระดูกโคเอนัลชิ้นเล็ก กระดูกพรีฟรอนทัลไม่มีก้านกระดูกออร์ไบทัล มีขนาดความยาวตั้งแต่ 30 เซนติเมตรจนถึงร่วม 3.7 เมตร กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่ของโลก ตั้งแต่ยุโรปจนถึงทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกาเหนือจนถึงอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในหลากหลายภูมิประเทศ ตั้งแต่ทะเลทรายที่ร้อนและแห้งแล้ง ไปจนถึงที่ราบสูงหรือที่ราบต่ำในป่าดิบหรือบนภูเขาสูงที่ชุ่มชื้น โดยมากจะอาศัยและหากินบนพื้นดิน แต่บางชนิดก็ดำรงชีวิตอยู่บนต้นไม้หรือใช้ชีวิตแบบครึ่งบกครึ่งน้ำ หากินในเวลากลางคืน โดยใช้แอ่งรับรู้คลื่นอินฟราเรดตรงระหว่างตากับจมูกจับความร้อนที่ออกจากร่างกายของเหยื่อ ซึ่งได้แก่ นกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น สัตว์ฟันแทะชนิดต่าง ๆ ในชนิดที่ดำรงชีวิตแบบครึ่งบกครึ่งน้ำก็จับปลาหรือกบกินเป็นอาหาร แพร่พันธุ์ด้วยการออกลูกเป็นตัว ยกเว้นสกุล Calloselasma หรือ งูกะปะ, Lachesis และบางชนิดของสกุล Trimeresurus ที่วางไข่มีทั้งหมด 18 สกุล ประมาณ 155 ชนิด โดยสกุลที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ งูหางกระดิ่งที่อยู่ในสกุล Crotalus และSistrurus ที่มีจุดเด่น คือ ปลายหางเป็นปล้องของสารประกอบเคอราติน เรียงตัวต่อเนื่องกันซึ่งเป็นส่วนของผิวหนังลำตัวที่ยังหลงเหลืออยู่จากการลอกคราบแต่ละครั้ง เมื่อสั่นหางส่วนนี้แล้วจะทำให้เกิดเสียงจากการปล้องแต่ละปล้องนั้นเสียดสีกระทบกัน เพื่อใช้เป็นสัญญาณเตือนและข่มขู่สัตว์ที่ใหญ่กว่าที่คุกคาม สำหรับในประเทศไทย มีงูในวงศ์ย่อยนี้ 16 ชนิด ได้แก่ งูกะปะ (Calloselasma rhodostoma) ที่พบมากในสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันทางภาคใต้, งูหางแฮ่มกาญจน์ (Trimeresurus kanburiensis), งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง (T. trigonocephalus), งูหางแฮ่มภูเขา (Ovophis monticola) เป็นต้น[2]