วงจรชีวิตและการแพร่พันธุ์ ของ วงศ์หนู

หนู เป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี กินอาหารได้หลากหลายประเภท แต่จะชอบอาหารประเภท เมล็ดพืชมากที่สุด ดังนั้นจึงมักพบหนูได้แทบทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในป่าดิบ, ทะเลทราย, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนบ้านเรือนของมนุษย์ หนูในบ้านเรือนของมนุษย์เมื่อเทียบกับหนูในแหล่งธรรมชาติแล้ว มีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยกว่ามาก โดยหนูที่ในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ทุ่งนา หรือพื้นที่เกษตรกรรม จะมีใบหูและดวงตาใหญ่กว่าหนูตามแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งมีขนาดหางที่ยาวกว่า และสีขนที่เข้มกว่าด้วย[1]

ในพื้นที่เขตหนาว ก่อนถึงฤดูหนาวหนูจะกักตุนอาหารไว้เพื่อรอถึงเวลา ซึ่งอาจจะถึงติดลบ 10 องศาเซนติเกรด สภาพอากาศในช่วงนี้จะสาหัสมาก แต่หากถ้ายังไม่มีผลใด ๆ ต่อการอาศัยอยู่ของหนูในโพรงดินก็ไม่เป็นไร หนูบางตัวอาจโผล่ขึ้นมาเพื่อหาอาหารเพิ่ม ซึ่งเสี่ยงมากต่อการแข็งตาย[1]

หนูเป็นสัตว์ที่ถือว่าอยู่ในช่วงต้น ๆ ของห่วงโซ่อาหาร ด้วยการเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก จึงมักตกเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่กว่าเสมอ ๆ มีสัตว์หลายชนิดที่กินหนูเป็นอาหาร เช่น แมว, งู, นกเค้าแมว, หมาจิ้งจอก แม้กระทั่งผึ้งบางชนิด ที่ไม่ได้กินหนูเป็นอาหาร แต่ก็มีอันตรายต่อหนูที่อาศัยอยู่ในรูด้วย ซึ่งหนูก็ได้ทดแทนด้วยการเป็นสัตว์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก หนูตัวผู้จะได้ยินเสียงหนูตัวเมียจากเสียงร้อง "จี๊ด ๆ" ที่มีความถี่สูงมาก[1] โดยในบางชนิด เช่น หนูบ้าน (Rattus norvegicus) หรือหนูท้องขาว (R. rattus) สามารถแพร่พันธุ์ออกลูกเมื่ออายุได้เพียง 3-5 เดือน ตั้งท้องนานราว 21-22 วัน โดยสามารถมีลูกติด ๆ กันได้หลายครอก เฉลี่ยปีนึงอาจจะมีลูกได้มากถึง 8 ครอก ครอกหนึ่งประมาณ 5-6 ตัว ลูกหนูเมื่อแรกเกิด ตาจะยังไม่ลืมและยังไม่มีขนปกคลุมลำตัว [2] [3] อีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคร้ายอีกหลายโรคมาสู่มนุษย์ เช่น โรคฉี่หนู, กาฬโรค, ภูมิแพ้, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น โดยเฉพาะกาฬโรคเคยมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงมาแล้วในทวีปยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17