ความผูกพันกับมนุษย์ ของ วงศ์เพียงพอน

รูปวาด "สตรีกับเออร์มิน" (Lady with an ermine) (จริง ๆ แล้วคือ เฟอเรท)

สัตว์ในวงศ์เพียงพอนมีความผูกพันกับมนุษย์อย่างมาก ตั้งแต่อดีตด้วยการไล่ล่าเอาหนังและขนมาทำเป็นเสื้อขนสัตว์ เช่น มิงค์, นาก, เพียงพอน, เออร์มิน หรือหมาไม้ แต่ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นการทำเสื้อขนสัตว์หนึ่งตัว ต้องใช้จำนวนมิงค์หรือนากถึง 40 ตัว จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1975 กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยกเลิกการค้าหนังนาก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้นากได้รับความคุ้มครอง แต่กระนั้นในบางพื้นที่ก็ยังคงมีการลักลอบกันอยู่จนถึงปัจจุบัน[10][11]

ในบางจำพวกอย่าง หมาไม้ หรือเพียงพอน เป็นสัตว์รังควานในพื้นที่ยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่สร้างความเสียหายให้แก่เครื่องเรือนและเครื่องยนต์ของรถในบ้านเรือน ด้วยการที่เป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่ได้เป็นอย่างดี[12][13][14] แต่จากการที่เป็นสัตว์กินเนื้อ และชอบล่าสัตว์เล็ก ๆ เช่น หนู หรือกระต่าย ทำให้มีการใช้เฟอเรทสำหรับล่าหนูที่สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ทางการเกษตรในบางพื้นที่ เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทย ของเหลวคล้ายน้ำมันกลิ่นฉุนจากต่อมใกล้ทวารของหมูหริ่ง หรือ หมาหริ่งใช้ทำยาในการแพทย์แผนไทยได้ด้วย[15]

ที่นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ เป็นที่ ๆ มีสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียวอยู่อย่างหลากหลาย โดยที่ไม่มีสัตว์ผู้ล่าอยู่เลย แต่ทว่าเมื่อชาวตะวันตกเข้าไปบุกเบิก เออร์มิน หรือสโทธก็ได้ติดเข้าไปด้วย และกลายมาเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานการขยายพันธุ์ของนกที่บินไม่ได้หลายชนิดที่นั่น เช่น นกกีวี ทำให้อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ในปัจจุบัน[16]

ที่เวียดนามมีการให้เพียงพอนกินเมล็ดกาแฟ แล้วให้เอนไซม์ในกระบวนการย่อยของเพียงพอนถ่ายมูลออกมา เพื่อเก็บขายในราคาที่สูงมาก เรียกว่า "กาแฟขี้เพียงพอน" เช่นเดียวกับกาแฟขี้ชะมด ที่ได้จากอีเห็น[17]

อีกทั้งยังมีการนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง โดยการศึกษาทางดีเอ็นเอพบว่ามีการเลี้ยงเฟอเรทเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์มานานกว่า 2,500 ปีมาแล้ว และมีเฟอเรทปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์โลกมาตั้งแต่อดีต เช่น เป็นสัตว์เลี้ยงของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ และปรากฏในภาพวาดของลีโอนาร์โด ดา วินชี ที่ชื่อ "สตรีกับเออร์มิน" (Lady with an Ermine) เป็นต้น [18]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วงศ์เพียงพอน http://guru.sanook.com/search/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E... http://www.itis.gov/servlet/SingleRpt/SingleRpt?se... http://www.smallcarnivoreconservation.org/sccwiki/... http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?N... http://www.rentokil.co.th/pest-guides/other-wildli... http://www.rentokil.co.th/pest-guides/other-wildli... http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content... http://www.tistr.or.th/t/publication/page_area_sho...