ความสำคัญทางโบราณคดี ของ วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้

แม่น้ำแยงซีเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียทอดข้ามแผ่นดินจีน 6,000 กม. แม้ว่าจะมีความยาวและขนาดพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเกินกว่าแม่น้ำหวง แต่อารยธรรมโบราณที่ถือกำเนิดในลุ่มแม่น้ำแยงซีไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน เนื่องจากผู้คนเชื่อมาโดยตลอดว่าต้นกำเนิดของอารยธรรมจีน คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำหวง มีเพียงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำหวงเท่านั้นที่เป็นกระแสหลักของประวัติศาสตร์ แต่การค้นพบที่น่าตื่นเต้นของแหล่งวัฒนธรรมในตอนล่างของแม่น้ำแยงซียังคงปรากฏอยู่เรื่อยมา

วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ถูกค้นพบครั้งแรกในปีพ.ศ. 2516 และมีการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้สองครั้งในปีพ.ศ. 2516 - 2517 และ 2520 - 2521 ลักษณะสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาในวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ คือ เครื่องปั้นดินเผาสีดำ

หัตถกรรมจากกระดูกของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้มีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น หัวฉมวก ขอเบ็ด หัวลูกดอก นกหวีด กริชสั้น กรวย เครื่องถ้วย เลื่อย ฯลฯ ได้รับการขัดเกลาอย่างประณีตโดยเฉพาะการพบลายนกสลักบนตัวเครื่องใช้เหล่านั้น เครื่องมือกสิกรรมที่พบมากและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ คือ เสียม

ในแง่ของสถาปัตยกรรมมีการพบซากอาคารยกพื้นจำนวนมากในพื้นที่ รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ส่วนใหญ่เป็นอาคารยกพื้นมีโครงเสาไม้ (干栏式建筑) เป็นรูปแบบเฉพาะของทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีในประเทศจีนตั้งแต่ยุคหินใหม่ ซึ่งแตกต่างจากบ้านกึ่งห้องใต้ดินในช่วงเวลาเดียวกันในภาคเหนือ ดังนั้นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซีจึงเป็นอีกสายอารยธรรมหลักของจีนที่สำคัญที่แสดงถึงการพัฒนาของอารยธรรมจีนโบราณซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมหย่างเฉาในที่ราบตอนกลาง

ในบรรดามรดกทางวัฒนธรรมที่ขุดพบจำนวนมากของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ ที่สำคัญที่สุดคือ การค้นพบข้าวที่มาจากการเพาะปลูกจำนวนมาก มีการขุดพบแกลบจำนวนมากจากพื้นที่ระหว่างการสำรวจในปี 2530 ตามรายงานพบว่ามีปริมาณรวมถึง 150 ตัน ผลการวิเคราะห์พบว่าแกลบเหล่านี้มีอายุ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล การปลูกข้าวทำให้เกิดการสะสมเมล็ดพืชส่วนเกินจำนวนมากในสังคมได้ และการเกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งของวัฒนธรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการไปสู่ การเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน [9] (และการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง)

ถึงปัจจุบัน เหอหมู่ตู้เป็นแหล่งวัฒนธรรมข้าวที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การค้นพบนี้ได้เปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าข้าวที่ปลูกในประเทศจีนนำเข้าจากอนุทวีปอินเดีย[10]