อายุเวลา ของ วัดกำแพงแลง

การกำหนดอายุเวลาของโบราณสถานวัดกำแพงแลง กำหนดอายุเวลาในการสร้างอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ระหว่างปี พ.ศ. 1724-1773 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชย์ เป็นศิลปะแบบบายนปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดอายุเวลาดังกล่าวมีดังนี้

  • วัสดุในการสร้างปราสาท (ศิลาแลง)

เป็นวัสดุที่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ช่างนิยมใช้กันเนื่องจากเหตุผลบางประการคือ ขาดแคลนหิน และนำวัสดุที่พบง่ายในท้องถิ่นของตัวเองนำเอามาสร้าง สะดวกในการหาใช้ และต้องการความแข็งแรง คงทนก็คือ ศิลาแลง ซึ่งเราหากมองย้อนไปว่าที่เขมรในช่วงสมัยเมืองพระนคร พุทธศตวรรษที่ 16-17 นั้นปราสาทที่สร้างขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะสร้างด้วยหินทรายซึ่งได้มาจากเขาพนมกุเลน พอมาถึงสมัยบายนหินเริ่มขาดแคลนหินที่นำมาก่อสร้างปราสาทบายนนั้นเป็นหินที่ไม่ค่อยมีคุณภาพและเหลือน้อยจึงจำต้องหาวัสดุอื่นมาเสริมก็คือศิลาแลงแต่ก็ใช้ในส่วนที่เป็นฐานเท่านั้น ซึ่งเมื่ออิทธิพลเขมรได้แผ่ขยายเข้าในภาคกลางของประเทศไทยนั้นก็เกิดมีการสร้างปราสาทแบบเขมรจำนวนมาก ปราสาทที่พบร่วมสมัยนี้มักสร้างด้วยศิลาแลงซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นมาใช้ในการก่อสร้าง ดังนั้นการสร้างปราสาทกำแพงแลง ก็เลยนำวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นอันได้แก่ ศิลาแลง นำมาก่อสร้างซึ่งสันนิษฐานอายุเวลาได้ว่าร่วมสมัยกับศิลปะบายน

  • การวางผัง

ลักษณะของการวางผังปราสาททิศเหนือ ปราสาทองค์กลาง และปราสาททิศใต้ เป็นไปในลักษณะการวางตามคติการนับถือพระโพธิสัตว์ 3 องค์สำคัญในลัทธิวัชรยานของกัมพูชา ปราสาทิศเหนือได้แก่พระนางปรัชญาปารมิตา ปราสาทองค์กลาง คือพระวัชรสัตว์นาคปรก และจากปราสาททิศใต้ได้แก่ พระโลเกศวรสี่กร ซึ่งคติการนับถือรูปเคารพทั้งสามรูปเรียงกันในแนวนี้ เป็นคติการนับถือรูปเคารพในลัทธิวัชรยาน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงสามารถกำหนดอายุเวลา ในการสร้างปราสาทกำแพงแลงนี้ได้ว่า ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

  • ลวดลายประดับ

ลายประดับปูนปั้นที่พบนั้น ที่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นลายในศิลปะสมัยบายนนั้นก็คือ ลายดอกไม้วงกลม ซึ่งเป็นลายที่นิยมมากในการประดับอาคารสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยลายนี้ ได้รับอิทธิพลจากผ้าแพรของจีน นอกจากนั้น ในส่วนของลายหน้าบัน ลายพญานาค 5 เศียรสวมกระบังหน้า และการนุ่งผ้าสมพตของภาพบุคคลในกลีบขนุน ก็แสดงถึงเอกลักษณ์ลวดลายของศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

  • ประติมากรรมที่พบ

นอกจากรูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์ 3 องค์สำคัญในลัทธิวัชรยานของกัมพูชา ได้แก่ พระโลเกศวรสี่กร พระวัชรสัตว์นาคปรกและพระนางปรัชญาปารมิตา และรูปเคารพพระโลเกศวรเปล่งรัศมี ที่เป็นตัวยืนยันว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว ยังมีประติมากรรมหัวสะพานรูปครุฑยุดนาค ที่เป็นเอกลักษณ์ของการสร้างปราสาทในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างหัวสะพานของปราสาทบายน ที่เป็นรูปครุฑยุดนาคเช่นกัน ดังนั้นแสดงว่าประติมากรรมที่พบนี้ มีอายุเวลาร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

  • จารึกที่ปราสาทพระขรรค์

จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา กล่าวถึงเมือง “ศรีชัยวัชรปุระ” (เมืองเพชรบุรี) หนึ่งในหกเมืองโบราณในภาคกลางที่มีการกล่าวต่อไปอีกว่าได้มีการส่งพระชัยพุทธมหานาถ 1 ใน 23 องค์จากเมืองพระนครหลวง มาประดิษฐานที่เมืองเพชรบุรีนั่นก็คือปราสาทวัดกำแลง และเมื่อเทียบกับโบราณสถานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ก็คือปราสาทที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ซึ่งปราสาทพระขรรค์ เป็นปราสาทที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: วัดกำแพงแลง http://maps.google.com/maps?ll=13.105494,99.95641&... http://photos1.hi5.com/0056/800/920/1spU9K800920-0... http://photos1.hi5.com/0056/987/904/79vlMQ987904-0... http://photos2.hi5.com/0056/586/877/JP819c586877-0... http://photos2.hi5.com/0057/846/765/jSmBq7846765-0... http://photos2.hi5.com/0058/576/253/9kTQ5W576253-0... http://photos2.hi5.com/0060/717/937/hFe9xu717937-0... http://photos2.hi5.com/0060/740/981/zMHpJF740981-0... http://photos2.hi5.com/0061/500/641/2dDsSR500641-0... http://photos2.hi5.com/0062/398/921/wAhp2Y398921-0...