ประวัติ ของ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี (วัดแห่งนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานีแต่อย่างใด) ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 มีประวัติความเป็นมานับตั้งแต่ อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ ผู้ชำนาญการวิจัย(Research Specialist) สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) กรุงเทพฯ (ภายหลัง คือ พระเทพญาณมงคล) ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน 4 เพื่อถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ศิษยานุศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ว่า “วิชชาธรรมกาย” (วิชชา=วิทยา, รู้แจ้ง, ปรีชา; ธรรมกาย = กองหรือหมู่แห่งธรรม กล่าวคือ ธรรมที่รวมคุณธรรมของพระอริยเจ้าและของพระพุทธเจ้า) ตามระดับภูมิธรรมและบุญบารมีที่ปฏิบัติได้ โดยได้มอบตัวเป็นศิษย์ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระภาวนาโกศลเถร (ปัจจุบันคือ พระราชพรหมเถร) รองเจ้าอาวาสและอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้เป็นสัทธิวิหาริกและศิษย์โดยตรง ผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายทั้งหมด จากพระเดชพระคุณ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จากนั้นท่านได้ริเริ่มจัดตั้งและบริหาร โครงการให้การศึกษาอบรมและเผยแผ่พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างกว้างขวาง ออกไปทั่วประเทศและในต่างประเทศ ได้แก่

  • โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2518
  • โครงการพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2524
  • มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2524 และ
  • สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2524 (ปัจจุบันย้ายมาตั้งอยู่ ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี)

ทั้ง 4 องค์กรได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมการให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่ธรรมปฏิบัติ ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้า มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นระยะเวลายาวนาน กว่า 25 ปีจนถึงปัจจุบัน ในต้นปี พ.ศ. 2528 เมื่ออาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและวิปัสสนาของสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย มีอายุย่าง 57 ปี ได้ตัดสินใจที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ท่านจึงยื่นหนังสือขอลาออกจากสำนักข่าวสารอเมริกันล่วงหน้า 1 ปี อันเป็นระยะเวลา 3 ปีก่อนวันเกษียณอายุ เพื่อให้สำนักงานได้มีโอกาสหาคนมาทำหน้าที่แทน และให้ท่านได้มีโอกาสฝึกงานแก่พนักงานใหม่ได้ทันเวลา เพราะงานที่ท่านต้องรับผิดชอบทำอยู่ในตำแหน่ง Research Specialist นั้น ต้องรับผิดชอบงานถึง 3 อย่างคือ (1) งานวิจัยและประเมินผล (2) งานจัดการติดตั้งและจัดการดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ (3) การจัดระบบข้อมูลข่าวสารด้วยคอมพิวเตอร์ จึงต้องมีเวลาเพียงพอในการจัดหาบุคลากรและฝึกงานให้ผู้ที่เข้ามารับงานใหม่ให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงได้รับอนุมัติให้ลาออกได้ ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2529 เป็นวันที่อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ มีอายุครบ 57 ปีบริบูรณ์ ท่านได้ลาออกจากสำนักข่าวสารอเมริกันแล้ว ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา มีฉายาว่า "ชยมงฺคโล" ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยมี

  • เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดสามพระยา เป็น พระอุปัชฌาย์
  • เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็น "พระพรหมคุณาภรณ์") เป็น พระกรรมวาจาจารย์
  • เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็น "พระธรรมธีรราชมหามุนี") เป็น พระอนุสาวนาจารย์

ในระหว่างที่พระอาจารย์เสริมชัย ชยมงฺคโล อยู่จำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้รับการศึกษาอบรมทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติภาวนาธรรมอยู่ เป็นเวลา 5 พรรษานั้น ท่านต้องบริหารโครงการให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่ธรรมปฏิบัติทั้ง 2 โครงการ ในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร คือ โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โครงการและสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ทั้งที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และทั้งที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี รวมทั้งจัดการด้านบุคลากร การเงินและทรัพย์สิน ของ มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ทั้งหมด ให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จัดซื้อที่ดินและจัดสร้างเสนาสนะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการก่อสร้างอุโบสถ และจัดให้มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา ให้ได้รับการศึกษาอบรมทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติพระสัทธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ใกล้เคียง

วัดหลวงพ่อโอภาสี วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม วัดหลักสี่ วัดหลวงขุนวิน วัดหลงซาน วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร วัดหลักสาม วัดหลักร้อย วัดหลวง (อำเภอเมืองอุบลราชธานี) วัดหลักสองราษฎร์บำรุง