สถาปัตยกรรม ของ วัดเทพพุทธาราม

วิหารพระรัตนตรัย

ประตูทางเข้าวิหารด้านหน้ามีจารึกด้วยธารณีมนต์ภาษาทิเบต และ ภาษาจีน ด้านหน้าประตูทางเข้า จะมีวิหารท้าวจตุโลกบาล ตรงกลางมีวิหารระหว่างประตูเป็นวิหารพระศรีอริยเมตไตรย ด้านหลังพระศรีอาริยเมตไตรประดิษฐานพระเวทโพธิสัตว์หรือพระสกันทโพธิสัตว์ ภายในวิหารซึ่งประกอบด้วย พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า เป็นประธาน และพร้อมด้วยอัครสาวกทั้งสอง คือ พระอานนท์เถระ และพระมหากัสสปะมหาเถระ ด้านหน้าพระประธานมีแผ่นป้ายไม้แกะสลัก ซึ่งบันทึกโดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาพิพัฒนธนากร ได้จารึกไว้ว่าวัดนี้สร้างเสร็จในปีพุทธศักราช 2480 ภายในพระวิหารเป็นศิลปะจีนแท้ ซึ่งเขียนลวดลายและรูปภาพตามความเชื่อของชาวจีน ด้านซ้ายมือของพระประธานเป็นที่ประดิษฐานของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ปางสหัสรภุชสหัสรเนตร และด้านขวามือเป็นที่ประดิษฐานของบูรพาจารย์นิกายฌาน คือ พระสังฆนายกมหาโพธิธรรม (หรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ) และพระสังฆปริณายกฮุ่ยเหนิง (หรือเว่ยหลาง) ด้านข้างทั้งสองของวิหารประดิษฐานพระอรหันต์ทั้งสิบแปดองค์ (สิบแปดอรหันต์) ด้านซ้ายมือเป็นวิหารเทพเจ้าต่าง ๆ ตามความเชื่อของคนจีน และด้านขวามือเป็นสำนักงานเจ้าอาวาส และห้องเก็บพระคัมภีร์

พระอุโบสถ

ตัวอุโบสถก่อสร้างด้วยศิลปจีนแท้ ประยุกต์ทิเบต ก่อสร้างเป็นรูปเจดีย์ทรงจีนสูง 7 ชั้น ด้านหน้าตรงข้ามประตูทางขึ้นพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระเวทย์โพธิสัตว์ ด้านในเจดีย์มีพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นประธาน พร้อมด้วยพระอัครโพธิสัตวสาวก คือ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ อยู่ด้านข้างทั้งสองข้าง สถาปัตยกรรมนี้สร้างขึ้นตามคติความเชื่อในพระสูตรมหายาน ชื่อพระสูตรว่า "อวตังสกคัณฑวยูหสูตร" ภายในเป็นภาพเขียนสีพระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน และพุทธภาษิตฝ่ายมหายาน รอบอุโบสถเป็นใบเสมาแกะสลักจากหินเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ศิลปะทิเบต และมีจารึกอักขระภาษาทิเบต ด้านข้างของพระอุโบสถเป็นกุฏิสงฆ์ สองชั้น ซึ่งแบ่งเป็นห้อง ๆ ด้านขวามือเป็นหอฉัน และด้านหลังหอฉันเป็น หออาคันตุกะ

วิหารบูรพาจารย์

อยู่ด้านหลังพระอุโบสถเจดีย์ เป็นวิหารบูรพาจารย์ ด้านล่างตรงกลางของวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของสรีระธาตุของพระอริยเจ้าตั๊กฮี้ ปฐมเจ้าอาวาส และป้ายบูรพาจารย์นิกายฌาน หรือ เซน ด้านขวามือเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสัมฤทธิ์พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ด้านซ้ายมือเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสัมฤทธิ์ของพระอาจารย์จีนธรรมนันท์จีนประพัทธ์ (เย็นซิมเถระ)

ด้านบนของวิหารบูรพาจาย์เป็นวิหารที่ประดิษฐานพระวัชรจารย์ฝ่ายวัชรยาน (บูรพาจารย์ฝ่ายวัชรยานทิเบต) ตรงกลางเป็นซุ้มประดิษฐานพระเบญจพุทธ โดยประดิษฐานพระไวโรจนพุทธเจ้าศิลปะผสมปางทิเบตเป็นประธาน และสองข้างตกแต่ง ด้วยรูปภาพของพระบูรพาจารย์ฝ่ายวัชรยาน คือ ท่านคุรุปัทมสมภพ (คุรุรินโปเช่) ท่านมหาสิทธาวิทยธรา ริโวเชดรุปทอป เชนโป ท่านพระมหาวัชราจารย์ชีวินพุทธะนอร่า รินโปเช่ และท่านมหาวัชรจารย์ทริมซินกุนดั๊กรินโปเช่ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) สถาปัตยกรรมภายในตกแต่งแบบทิเบต

ภายนอกของวิหารบูรพาจารย์ ทางด้านซ้ายมือของวิหารเป็นวิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ด้านขวามือเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

โพธิวนาราม

ด้านหลังของวัดเป็นสวนป่าที่เงียบสงบ เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่เศษ ในสวนป่าประกอบด้วยต้นไม้ใหญ่ เต็มไปหมด และมีศาลาทรงจีน เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม กรรมฐาน ในอดีตใช้เป็นที่ฝีกวิปัสสนากรรมฐานของภิกษุสงฆ์ ด้านหลังสวนป่า เป็นหอปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียตริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระอมิตาภพุทธเจ้าและพระอัครสาวกทั้งสอง เป็นประธาน และมีอาคารที่พักสำหรับอาคันตุกะ ที่จะมาพักปฏิบัติธรรมภายในวัด ส่วนด้านล่างของหอปฏิบัติธรรม เป็นสถานที่เก็บอัฐิ

ศาลาเมตตาธรรม

ปี 2521 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ได้พร้อมใจกันสร้างศาลาเมตตาธรรมในสวนโพธิวนารามเพื่อเป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุ และรูปหล่อของท่านหลวงจีนเย็นฮวบ ซึ่งเป็นศิษย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษา และนำเป็นแบบอย่างของความเพียรพยายามปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุมรรคผล ตามวิถีทางแห่งโพธิสัตวมรรค

หลวงจีนเย็นฮวบ

มีนามเดิมว่า ป่วยพวง แซ่โค้ว (เจริญคุปต์) เกิดที่ตำบลเปี่ยเป๋า อำเภอเยี่ยวเพ้ง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน บิดาชื่อนายเยียกเนี้ย มารดาชื่อนางชุงฮ้อ แซ่ตั้ง ปี พศ 2435 เมื่ออายุ 11 ปี ก็สิ้นบุญมารดา เมื่ออายุ 15 ปีจึงได้ติดตามบิดาเดินทางสู่ประเทศไทย ทำงานเดินเรือ กับบิดาและต่อมาทำกิจการค้าขาย จนเมื่อท่านอายุได้ 46 ปี ก็ตั้งร้านค้าขายชื่อร้าน “ชอเฮงหลี” กิจการเจริญเติบโตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อย่างเข้าสู่วัยชราอายุได้ 62 ปี ท่านจึงหลบจากสังคมหาสถานที่สงบ ณ ภูเขาหลังพระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยเมื่อปี 2499 ท่านอายุได้ 65 ปี จึงได้ธรรมจักษุจึงได้สละโลกทางโลกียออกบวช และท่านได้ขออุปสมบท กับพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ณ วัดโพธิ์เย็น จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อท่านได้บวชแล้วจึงได้เร่งความเพียรพยายามเพื่อปฏิบัติธรรมให้สำเร็จ

เมื่ออายุได้ 75 ปี ท่านจึงได้สร้างกุฏิเพื่อเจริญสมาธิภาวนา ณ วัดเทพพุทธาราม จ.ชลบุรี และท่านเป็นพระเคร่งพระวินัยมาก ท่านมักจะสวดมนต์ภาวนา นั่งสมาธิแผ่กุศลไปยังสรรพสัตว์

จนกระทั่ง วันที่ 4 สิงหาคม 2510 ขณะท่านได้เจริญสมาธิ ได้บังเกิดมรณญาณ คือรู้วันเวลาแตกดับของสังขารใกล้เข้ามาแล้ว และท่านจึงจุดเทียนรอบกายท่านแล้วเขียนโศลกบทหนึ่งว่า

“ เมื่อละได้ ก็สามารถไปถึงพุทธเกษตร นั่งดับในท่ามกลางแสงเทียน ได้เฝ้าพระสุคตด้วยตัวเอง”

จากนั้นท่านจึงเข้าฌานสมาธิหน้าพระพุทธรูปในกุฏิแล้วดับสังขารในท่าสมาธิขัดบัลลังก์ รวมสิริอายุได้ 76 ปี 12 พรรษา

ใกล้เคียง

วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร วัดเทพพุทธาราม วัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดเทวสุนทร (สุนทริการาม) วัดเทพพล วัดเทพนิมิตร (จังหวัดปัตตานี) วัดเทียนโห่ว วัดเทพลีลา วัดเทวสังฆาราม