การดำเนินการเพื่อยุติความขัดแย้ง ของ วิกฤตการณ์_ร.ศ._112

เมื่อเกิดการสู้รบกันขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาในตอนเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 แล้ว Auguste Pavie ได้รายงานเหตุการณ์ไปยังกรุงปารีสโดยทันที และในวันที่ 14 กรกฎาคม 2436 ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้โทรเลขแจ้งให้ Auguste Pavie ขอคำอธิบายจากเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของสยามโดยทันที และแจ้งด้วยว่าได้สั่งการไปยังนายพลเรือ ฮูมานน์ ให้เรือหยุดอยู่ที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งทูลให้พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ทรงทราบว่าสยามจะต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

ขณะที่ทางพระนคร เหตุการณ์ตึงเครียด ได้พยายามทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายเพื่อมิให้เกิดการสู้รบกันขึ้นอีก ขณะฝ่ายฝรั่งเศสคงยืนยัน และบีบบังคับให้สยามตกลงยินยอมตามคำเรียกร้องของตน โดยมีเรือรบลอยลำอยู่ในพระนคร และยังมีกองเรือในบังคับบัญชาของนายพลเรือ ฮูมานน์ เป็นกำลังคอยสนับสนุนอยู่ในทะเลอีกด้วย เป็นการแสดงกำลังเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาทางการทูตให้แก่ฝรั่งเศส พร้อมกันนี้ รัฐสภาของฝรั่งเศสได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน เพื่อกำหนดท่าทีให้รัฐบาลดำเนินอย่างแข็งกร้าวต่อสยาม

วันที่ 18 กรกฎาคม 2436 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ประชุมพิจารณาและลงมติมอบอำนาจให้รัฐบาลดำเนินการให้รัฐบาลสยามรับรองและเคารพสิทธิของฝรั่งเศส และรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องให้สยามดำเนินการดังนี้

1. เคารพสิทธิของญวน และเขมร เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายลำน้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้

2. ถอนทหารสยามที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน

3. เสียค่าปรับไหมให้แก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน และความเสียหายแก่เรือและทหารประจำเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา

4. ลงโทษผู้กระทำความผิดและเสียเงินค่าทำขวัญแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตชาวฝรั่งเศสและคนในบังคับฝรั่งเศส

5. เสียเงิน 2,000,000 ฟรังค์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดแก่ฝรั่งเศส

6. จ่ายเงิน 3,000,000 ฟรังค์ ชำระทันที เป็นการมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเงินค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถจ่ายได้ จำต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ ทั้งนี้ เร่งรัดให้รัฐบาลสยามตอบภายใน 48 ชั่วโมง

เมื่อได้รับแจ้งดังนี้แล้ว วันที่ 22 กรกฎาคม 2436 รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แจ้งให้ Auguste Pavie ทราบ ดังนี้

1. รัฐบาลสยามยังไม่ได้รับคำอธิบายอย่างแจ้งชัดเรื่องสิทธิของญวน และเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในข้อนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า จะยอมโอนกรรมสิทธิเหนือดินแดนส่วนใด ๆ ให้ ถ้าหากฝรั่งเศสแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่าญวนและเขมรมีสิทธิโดยชอบอยู่ เหนือดินแดนนั้นอย่างไร ตลอดเวลา 5 เดือนที่รัฐบาลสยามขอร้องให้นำกรณีพิพาทนี้ขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้สันติภาพเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ และให้เกิดความปลอดภัยแก่ผลประโยชน์ทางการค้าพาณิชย์ การที่ต่างประเทศที่มีกิจการได้กระทำอยู่ในประเทศสยาม แต่หาได้รับความร่วมมือจากฝรั่งเศสไม่

2. กองทหารสยามที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ 1 จะได้ถอยกลับมาสิ้นภายใน 1 เดือน

3. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอแสดงความเสียพระราชหฤทัย ในกรณีอันนำมาซึ่งความเสียหายร่วมกันแก่ฝ่ายสยามและฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน (แก่งเจ๊ก) และทั้งที่ได้เกิดกระทบกระทั่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย และปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสอื่น ๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าจำเป็น โดยอนุโลมตามลักษณะแห่งความยุติธรรม และตามความเป็นเอกราชของประเทศสยาม ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสว่าจะเคารพนั้น

4. บุคคลใดที่ต้องหาว่าได้ทำการย่ำยีชนชาติฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัวในคดีใดก็ดี อันปรากฏว่าละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะลงโทษตามรูปคดีนั้น ๆ หรือหากว่าสมควรจะชดใช้เป็นค่าทำขวัญ ก็จะได้ชำระให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้นให้เสร็จสิ้นไป

5. รัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลสยามได้โต้แย้งกันมาเป็นเวลานานในเรื่องเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศสที่ได้รับความเสียหาย โดยขอเรียกร้องให้ชำระเงินที่ตนต้องได้รับความเสียหาย เพราะข้าราชการสยามดำเนินการผิดนั้น ข้อนี้ในนามแห่งรัฐบาลสยามขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไม่ควรยึดหลักอันใดมาคัดค้านข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงยินยอมชำระเงิน 2,000,000 ฟรังค์ ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส แต่ทรงมีพระราชดำริว่าควรที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการผสมพิจารณาเงินค่าทำขวัญในกรณีที่ได้อ้างมาในข้อ 4 นั้นด้วย

6. ที่จะให้จ่ายเงินจำนวน 3,000,000 ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญโดยทันทีที่เพื่อมัดจำในการที่จะต้องชดใช้ค่าทำขวัญ และค่าปรับไหม ดังนั้น ถ้าได้พิจารณาให้ละเอียดเป็นราย ๆ ตามสมควรแก่การแล้ว รัฐบาลสยามเชื่อในความยุติธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะได้รับเงินจำนวนที่เหลือคืนจากที่ได้จ่ายไปจริง เท่าที่ได้เรียกร้องในกรณีทั้งปวงโดยครบถ้วน

จากคำตอบที่ได้รับ ฝรั่งเศสเห็นว่ามิได้เป็นไปตามข้อเสนอจึงตัดสัมพันธ์ทางการทูต และสั่งการให้นาวาเอก เรอกุลุซ์ ผู้บังคับการเรือลาดตระเวนฟอร์แฟต์ ซึ่งออกเดินทางจากไซ่ง่อนติดตามเรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต ได้จอดคุมเชิงอยู่ภายนอกสันดอน ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2436 และได้ส่งทหารจำนวนหนึ่งขึ้นยึดเกาะสีชัง แล้วออกประกาศปิดอ่าวสยาม สั่งการให้บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีกับสยามให้เวลาอีกสามวัน เพื่อถอยออกไปจากอ่าวสยาม หากเรือลำใดที่พยายามฝ่าฝืนเข้ามาจะได้รับการตอบโต้ตามอำนาจที่ฝรั่งเศสพึงมี

เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ สยามไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องยอมรับคำขาด พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ได้นำหนังสือในนามรัฐบาลสยามไปยื่นแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลว่า เพื่อระงับและขจัดเหตุความวุ่นวายในพระนครอันจะนำมาซึ่งสันติสุขของพลเมือง สันติภาพของภูมิภาค รักษาผลประโยชน์ทางการค้าพาณิชย์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสคงเป็นอยู่ดังเดิม

เมื่อได้รับคำตอบและได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสยอมสงบศึกและสั่งการให้นายพลเรือ ฮูมานน์ยกเลิกการปิดอ่าวสยามตั้งแต่เวลา 12.00 นาฬิกา ของวันที่ 3 สิงหาคม 2436 เป็นต้นไป

ใกล้เคียง

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2549 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907 วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป