ข้อแนะนำการใช้วิกิพีเดีย ของ วิกิพีเดีย:เกี่ยวกับ

การสำรวจวิกิพีเดีย

ผู้เยี่ยมชมจำนวนมากเข้ามายังวิกิพีเดียเพื่อแสวงความรู้ ส่วนคนอื่นเข้ามาเพื่อแบ่งปันความรู้ กระทั่งขณะนี้ บทความหลายสิบบทความกำลังอยู่ระหว่างพัฒนา และบทความใหม่อีกมากกำลังถูกสร้าง คุณสามารถดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวิกิพีเดียได้ในหน้าปรับปรุงล่าสุด คุณยังสุ่มบทความขึ้นมาได้ด้วยคำสั่งสุ่มบทความ มี 181 บทความ ที่ชุมชนวิกิพีเดียคัดเลือกให้เป็นบทความคัดสรร นับเป็นตัวอย่างของบทความคุณภาพดีที่สุดในเว็บ และอีก 157 บทความ ถูกคัดเลือกให้เป็นบทความคุณภาพ ข้อมูลบางส่วนของวิกิพีเดียอยู่ในรูปแบบของบัญชีรายชื่อ วิกิพีเดียยังมีสถานีย่อย ซึ่งรวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องของสถานีย่อยนั้น ๆ คุณยังสามารถสืบค้นบทความได้จากแถบขวาบนของจอภาพในขณะนี้

นอกจากในภาษาไทยแล้ว ปัจจุบันยังมีวิกิพีเดียในภาษาอื่นอีกกว่า 280 ภาษา รวมทั้งโครงการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พจนานุกรม คำคม ตำราและเอกสารต้นฉบับ (ดูที่ โครงการพี่น้อง) ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกบำรุงรักษา อัปเดต และบริหารจัดการโดยชุมชนที่แยกกัน และมักมีเนื้อหาและบทความซึ่งบางครั้งอาจสืบค้นได้ยากในแหล่งข้อมูลอื่นทั่วไป

การนำทางเบื้องต้นในวิกิพีเดีย

บทความทั้งหมดในวิกิพีเดียเชื่อมโยงหรืออ้างอิงระหว่างกัน เมื่อใดก็ตามที่คุณเห็นข้อความที่มีสีเช่นนี้ หมายความว่า มีลิงก์เชื่อมโยงไปยังหน้าบทความในวิกิพีเดีหรือหน้าวิกิพีเดียซึ่งมีข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม การเลื่อนเมาส์ค้างไว้เหนือลิงก์มักแสดงหน้าปลายทางที่ลิงก์จะนำไป ผู้ใช้เพียงคลิกครั้งเดียวก็จะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากลิงก์ที่แนบมา และยังมีลิงก์อื่นในตอนท้ายของบทความ เช่น บทความที่คล้ายกัน เว็บไซต์และหน้าภายนอกที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาอ้างอิง และหมวดหมู่ความรู้ที่มีการจัดระเบียบแล้วซึ่งสามารถถูกสืบค้นและสำรวจในลำดับชั้นหลวม ๆ ให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม บางบทความยังอาจมีลิงก์ไปยังนิยามพจนานุกรม การอ่านหนังสือเสียง คำคม บทความเดียวกันในภาษาอื่น และข้อมูลเพิ่มเติมที่มีอยู่ในโครงการพี่น้องของเรา ลิงก์เพิ่มเติมสามารถสร้างขึ้นได้ง่าย ๆ หากลิงก์ที่เกี่ยวข้องยังขาดหายไป นี่เป็นหนึ่งในวิธีง่าย ๆ ที่จะมีส่วนช่วยเรา

การใช้วิกิพีเดียเป็นเครื่องมือวิจัย

การอ้างอิงวิกิพีเดียในเอกสารวิจัยมักไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะวิกิพีเดียถูกมองว่าเป็นแหล่งอ้างอิงที่ไม่น่าเชื่อถือ[4][5]

ด้วยความเป็นเอกสารวิกิ บทความทั้งหลายจึงไม่เคยถูกจัดว่าเสร็จสมบูรณ์ เพราะอาจมีการแก้ไขปรับปรุงได้ตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้บทความมีแนวโน้มคุณภาพดีขึ้นและมีมติมหาชนที่เติบโตขึ้นในด้านการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นกลางตามเวลา

ผู้ใช้พึงทราบว่าบทความทั้งหมดไม่ได้มีคุณภาพสารานุกรมตั้งแต่ต้น บางบทความอาจมีข้อมูลที่ผิดหรือเป็นปัญหา ซึ่งที่จริงแล้ว บทความจำนวนมากเริ่มต้นจากการนำเสนอเพียงมุมมองเดียว และ หลังจากขบวนการอภิปราย ถกเถียงและโต้แย้งอันยาวนาน บทความเหล่านั้นค่อย ๆ มีมุมมองที่เป็นกลางซึ่งบรรลุผ่านมติมหาชน ขณะที่บางบทความอาจติดขัดกับมุมมองที่ไม่สมดุลอย่างหนักซึ่งต้องใช้เวลานาน บางทีอาจเป็นเดือน เพื่อบรรลุการรายงานหัวเรื่องที่เป็นกลางดีขึ้น บางส่วนเป็นเพราะผู้เขียนมักเขียนเนื้อหาที่ตนมีความสนใจเฉพาะและไม่พยายามให้ผู้อื่นเข้าใจแต่ละบทความที่ตนเขียน อย่างไรก็ดี ในที่สุดจะมีผู้เขียนเพิ่มเติมมาขยายและเขียนบทความและพยายามบรรลุการรายงานที่สมดุลและเข้าใจได้ นอกเหนือจากนี้ วิกิพีเดียดำเนินขบวนการมติภายในจำนวนหนึ่งซึ่งสามารถช่วยได้เมื่อผู้ใช้ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ โดยปกติผู้เขียนจะบรรลุมติในวิถีการพัฒนาบทความได้ในที่สุด

ขณะที่แนวโน้มโดยรวมจะมุ่งสู่พัฒนาการ แต่ยังสำคัญที่จะใช้วิกิพีเดียอย่างระมัดระวังหากตั้งใจจะใช้เป็นแหล่งวิจัย เพราะโดยธรรมชาติ บทความแต่ละบทย่อมมีคุณภาพและความสมบูรณ์แตกต่างกัน มีหน้าแนวปฏิบัติและข้อมูลเพื่อช่วยให้ผู้ใช้และผู้วิจัยใช้วิกิพีเดียเป็นเครื่องมือวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิกิพีเดียเทียบกับสารานุกรมตีพิมพ์

บทความหลัก: วิกิไม่ใช่เอกสาร บนเมทาวิกิ (อังกฤษ)

วิกิพีเดียมีข้อดีเหนือสารานุกรมตีพิมพ์แบบดั้งเดิมหลายประการ กล่าวคือ วิกิพีเดียเสียค่าใช้จ่ายใน "การตีพิมพ์" ต่ำมากสำหรับการเพิ่มหรือขยายความเนื้อหาที่มีอยู่เดิม และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น วิกิพีเดียยังใช้วิกิลิงก์แทนการอธิบายในบรรทัดและยังรวบรวมเนื้อหาโดยสรุปที่ครอบคลุมเนื้อหารายละเอียดอย่างกว้างขวางทั้งหมดเอาไว้ในย่อหน้าแรกของแต่ละบทความ (เรียกว่า "บทนำของบทความ") นอกจากนี้ วัฏจักรการแก้ไขยังสั้นด้วย สารานุกรมตีพิมพ์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะถึงการตีพิมพ์ครั้งถัดไป แต่ผู้ใช้สามารถอัปเดตข้อมูลบนวิกิพีเดียได้ทุกเมื่อ เพื่อให้มั่นใจว่าบทความจะทันสมัยต่อเหตุการณ์ปัจจุบันและวิทยาการล่าสุด

จุดแข็ง จุดอ่อน และคุณภาพบทความวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียเปิดให้บุคคลทั่วไปร่วมพัฒนาวิกิพีเดีย อันเป็นที่มาของจุดแข็ง จุดอ่อน และเอกลักษณ์ของวิกิพีเดีย

จุดแข็งที่สุด จุดอ่อนที่สุด และเอกลักษณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดของวิกิพีเดียเป็นผลจากการที่วิกิพีเดียเปิดกว้างแก่ทุกคน ทำให้มีฐานผู้ร่วมแก้ไขพัฒนาขนาดใหญ่ และบทความเขียนขึ้นจากมติ ตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการแก้ไข

  • วิกิพีเดียเปิดกว้างแก่ฐานผู้ร่วมพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งดึงดูดผู้เขียนจำนวนมากจากภูมิหลังที่หลากหลาย การเปิดกว้างทำให้วิกิพีเดียลดอคติทางภูมิภาคและวัฒนธรรมที่พบในสิ่งพิมพ์เผยแพร่อื่นจำนวนมาก และทำให้เป็นการยากยิ่งที่จะมีกลุ่มบุคคลเซ็นเซอร์หรือสอดแทรกอคติลงไป ฐานผู้ร่วมแก้ไขขนาดใหญ่และมีความหลากหลายยังทำให้สามารถเข้าถึงและขยายใจความสำคัญในเรื่องที่หาไม่แล้วไม่สามารถเข้าถึงได้หรือมีเอกสารประกอบเพียงเล็กน้อย ผู้เขียนจำนวนมากแก้ไขทุกขณะหมายความว่า วิกิพีเดียสามารถสร้างบทความและทรัพยากรครอบคลุมเหตุการณ์ที่เป็นข่าวได้ไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ และยังหมายความว่า วิกิพีเดียอาจสะท้อนอคติทางวัฒนธรรม อายุ สังคมเศรษฐกิจและอื่น ๆ ของผู้เขียน เช่นเดียวกับสิ่งพิมพ์เผยแพร่ทุกสำนัก ไม่มีขบวนการเป็นระบบที่จะประกันว่าหัวข้อที่ "สำคัญอย่างชัดเจน" จะถูกเขียนขึ้น ดังนั้น วิกิพีเดียอาจมีการควบคุมดูแลและการละเลยอย่างไม่คาดคิดได้ ขณะที่ผู้ใดสามารถเปลี่ยนแปลงบทความส่วนใหญ่ได้ ในทางปฏิบัติ การแก้ไขจะถูกดำเนินโดยกลุ่มประชากรกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ (คนหนุ่มเขียนมากกว่าคนแก่ ชายเขียนมากกว่าหญิง คนรวยที่มีเงินซื้อคอมพิวเตอร์มากกว่าคนจน ฯลฯ) ดังนั้น จึงอาจแสดงอคติบ้าง บางเรื่องยังอาจไม่ครอบคลุมดี ขณะที่บางเรื่องครอบคลุมในเชิงลึก
  • การเปิดให้ทุกคนแก้ไขวิกิพีเดีย หมายความว่า เป็นการง่ายที่วิกิพีเดียจะถูกก่อกวนหรือไวต่อข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งต้องนำออก (ดูเพิ่มที่ รายชื่อการก่อกวน) ขณะที่โดยปกติแล้วการก่อกวนที่โจ่งแจ้งถูกตรวจพบได้ง่าย และได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว แต่วิกิพีเดียก็มีปัญหาในการสนับสนุนมุมมองที่แตกต่างกันมากกว่างานอ้างอิงตีพิมพ์ อย่างไรก็ดี อคติที่ไม่ถูกคัดค้านในงานอ้างอิงดั้งเดิมที่สุดแล้วมีแนวโน้มจะถูกคัดค้านหรือถูกพิจารณาในวิกิพีเดีย ขณะที่บทความวิกิพีเดียโดยทั่วไปถึงมาตรฐานที่ดีหลังจากแก้ไขแล้ว แต่สำคัญที่ต้องหมายเหตุว่า บทความที่ยังมีอายุไม่มากและที่มีการเฝ้าสังเกตน้อยอาจไวต่อการก่อกวนและการสอดแทรกข้อมูลเท็จ การเปิดเต็มที่ของวิกิพีเดียยังหมายความว่า ทุก ๆ บทความในทุกขณะอาจอยู่ในสภาพเลวได้ เช่น อยู่ในระหว่างการแก้ไขขนาดใหญ่ หรือการเขียนใหม่ซึ่งเป็นที่พิพาท ผู้เขียนจำนวนมากยังไม่ปฏิบัติตามนโยบายอย่างสมบูรณ์ หรืออาจเพิ่มข้อมูลโดยปราศจากแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้ การนำเสนอแบบเปิดเผยของวิกิพีเดียเพิ่มโอกาสที่ความผิดพลาดในข้อเท็จจริงหรือข้อความที่ชี้นำให้เข้าใจผิดจะถูกแก้ไขให้ถูกต้องได้ค่อนข้างเร็วอย่างมาก ผู้เขียนหลายคนกำลังเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงล่าสุดและการแก้ไขบทความบนหน้ารายการเฝ้าดูของพวกเขา
  • วิกิพีเดียถูกเขียนขึ้นโดยมติที่เปิดเผยและโปร่งใส การบรรลุซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ยากมากที่การเซ็นเซอร์หรือการเพิ่มมุมมอง "อย่างเป็นทางการ" จะสำเร็จ และมักล้มเหลวหลังเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ท้ายที่สุดสำหรับบทความส่วนใหญ่ มุมมองที่โดดเด่นทั้งหมดจะได้รับการอธิบายอย่างยุติธรรมและมีการบรรลุมุมมองที่เป็นกลาง ในความเป็นจริง ขบวนการบรรลุมติอาจยืดเยื้อยาวนาน โดยมีการแก้ไขบทความอยู่เรื่อย ๆ เป็นเวลานานขณะที่พวกเขาตกลง "การนำเสนอที่เป็นกลาง" ที่ทุกฝ่ายสามารถตกลงกัน การบรรลุความเป็นกลางบางโอกาสถูกรบกวนโดยผู้เขียนที่มีมุมมองสุดโต่ง วิกิพีเดียดำเนินขบวนการระงับข้อพิพาทผู้เขียนเต็มรูปแบบ ด้านหนึ่งเป็นการให้เวลาแก่การอภิปรายและการระงับในเชิงลึก แต่อีกด้านหนึ่งก็ให้ความไม่เห็นพ้องกินเวลานานหลายเดือนกว่าการแก้ไขคุณภาพเลวหรือมีอคติจะถูกนำออก ข้อสรุปโดยทั่วไปคือ วิกิพีเดียเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและให้จุดอ้างอิงที่ดีในเรื่องนั้น
    • กล่าวคือ บทความและขอบเขตเรื่องบางครั้งอาจเผชิญกับการละเลยอย่างสำคัญ และขณะที่ข้อมูลที่ผิดและการก่อกวนโดยปกติจะถูกแก้ไขให้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป มีตัวอย่างว่า มีผู้สอดแทรกข้อมูลชีวประวัติเท็จเชื่อมโยงผู้สื่อข่าวชื่อดังคนหนึ่งกับการลอบสังหารเคนเนดีและโซเวียตรัสเซีย เป็นเรื่องตลกแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งไม่ถูกตรวจพบนานถึงสี่เดือน โดยเขากล่าวหลังจากนั้นว่า ตน "ไม่ทราบว่าวิกิพีเดียจะถูกใช้เป็นเครื่องมืออ้างอิงจริงจัง"
  • วิกิพีเดียเขียนขึ้นโดยมือสมัครเล่นเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่มีหนังสือรับรองความเชี่ยวชาญไม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในวิกิพีเดีย วิกิพีเดียยังไม่มีการกลั่นกรอง (peer review) บทความทางวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ ข้อดีข้อหนึ่งในการมีมือสมัครเล่นเขียนวิกิพีเดีย คือ พวกเขามีเวลาว่าง ฉะนั้น พวกเขาจึงสามารถเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทันเหตุการณ์ปัจจุบัน ยิ่งสาธารณชนสนใจในหัวเรื่องมากเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะดึงดูดการแก้ไขจากผู้ที่มิใช่ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นเท่านั้น

ซอฟต์แวร์มีเดียวิกิซึ่งดำเนินงานวิกิพีเดียได้เก็บประวัติการแก้ไขและการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ฉะนั้น ข้อมูลที่เพิ่มเข้ามายังวิกิพีเดียไม่สูญหายไป หน้าอภิปรายเป็นทรัพยากรสำคัญในหัวเรื่องที่มีข้อพิพาท ดังนั้น ผู้วิจัยจริงจังมักจะพบความขะมักเขม้นหรือมุมมองสนับสนุนอย่างรอบคอบอย่างกว้างขวาง ที่ไม่ถูกนำเสนอในหน้าบทความตามมติ ข้อมูลในวิกิพีเดียควรถูกตรวจสอบ เช่นเดียวกับแหล่งข้อมูลอื่น ๆ บทบรรณาธิการเมื่อ พ.ศ. 2548 โดยนักเขียนเทคโนโลยีของบีบีซีเคยตั้งข้อสังเกตว่า การอภิปรายในลักษณะนี้อาจมาเป็นเครื่องหมายของวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วแหล่งข้อมูลทุกแห่ง (ทั้งในเซิร์จเอนจินและสื่อต่าง ๆ) และอาจนำไปสู่ "สำนึกที่ดีกว่าในการประเมินค่าของแหล่งข้อมูลสารสนเทศ"[6]

ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

การใช้วิกิพีเดียมีความเสี่ยง

ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบวิกิพีเดียมีผลใช้กับทุกหน้าบนวิกิพีเดีย ซึ่งดูได้จากลิงก์ล่างสุดของทุกหน้า วิกิพีเดียมีข้อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ต่างจากอีกหลายเว็บไซต์ ที่ผู้วิจารณ์มักหยิบยกไปสนับสนุนมุมมองที่ว่าวิกิพีเดียไม่น่าเชื่อถือ แต่ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบคล้ายกันยังมีในแหล่งข้อมูลที่มักถูกมองว่าน่าเชื่อถือ (รวมถึงแหล่งข้อมูลอย่างสารานุกรมบริตานิกา และพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด)

ใกล้เคียง

วิกิพีเดียภาษาไทย วิกิพีเดีย วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ วิกิพจนานุกรม วิกิพีเดียภาษาสเปน วิกิพีเดียภาษาคาซัค วิกิพีเดียภาษาไซลีเชีย วิกิพีเดียภาษาอินโดนีเซีย วิกิพีเดียภาษารัสเซีย วิกิพีเดียภาษากาตาลา

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกิพีเดีย:เกี่ยวกับ http://www.oreilly.com/catalog/9780596515164/?CMP=... http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC294798... http://www.mediawiki.org/wiki/MediaWiki http://th.wikibooks.org/ http://www.wikidata.org/wiki/Wikidata:%E0%B8%AB%E0... http://commons.wikimedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%... http://meta.wikimedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%99%... http://species.wikimedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%... http://en.wikipedia.org/wikistats/EN/TablesWikiped... http://www.wikipedia.org/wiki/Wikipedia:Announceme...