วิธีกงดอร์แซ
วิธีกงดอร์แซ

วิธีกงดอร์แซ


วิธีกงดอร์แซ (Condorcet method, ออกเสียง ภาษาอังกฤษ: /kɒndɔːrˈseɪ/; ภาษาฝรั่งเศส: [kɔ̃dɔʁsɛ]) คือระบบการลงคะแนนที่ใช้เลือกผู้สมัครที่ชนะคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งแบบตัวต่อตัว (head-to-head election) กับผู้สมัครรายอื่นแต่ละรายจนครบ กล่าวคือผู้สมัครรายนั้นได้รับความนิยมจากผู้ลงคะแนนมากกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งผู้ชนะที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้างต้นนี้เรียกว่า ผู้ชนะทุกคน (beats-all winner) และเรียกอย่างเป็นทางการว่า ผู้ชนะแบบกงดอร์แซ (Condorcet winner)[1] โดยการเลือกตั้งแบบตัวต่อตัวนั้นไม่จำเป็นจะต้องกระทำแยกเป็นครั้งๆ ไป โดยสามารถให้ผู้ลงคะแนนลงคะแนนผู้สมัครเป็นรายคู่โดยใช้ผลลัพธ์จากการจัดลำดับได้[2]ในการเลือกตั้งบางกรณีไม่อาจหาผู้ชนะแบบกงดอร์แซได้เนื่องจากผลการลงคะแนนนั้นอาจจะเป็นวัฏจักร (cyclic) กล่าวคือมีความเป็นไปได้ (แต่พบได้ยาก) ว่าผู้สมัครทุกคนจะมีคู่แข่งที่แพ้ในการแข่งขันเป็นคู่ๆ เสมอกัน[3] (คล้ายกับการเป่ายิ้งฉุบที่การเสี่ยงมือแบบหนึ่งจะชนะแบบหนึ่งและแพ้อีกแบบหนึ่งได้) ความเป็นไปได้ของการเกิดวัฏจักรนั้นเรียกว่า ปฏิทรรศน์กงดอร์แซ (Condorcet paradox) อย่างไรก็ตาม ผู้แข่งขันจากกลุ่มที่เล็กที่สุดที่สามารถเอาชนะผู้สมัครทุกรายที่ไม่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้มักจะเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเรียกกันว่า กลุ่มสมิธ (Smith set) โดยกลุ่มสมิธหากมีอยู่จะสามารถรับรองว่าจะเลือกผู้ชนะของกงดอร์แซได้ ระบบการลงคะแนนแบบกงดอร์แซนั้นตั้งชื่อตามนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส มารี ฌ็อง อ็องตวน นิกอลา การีตา มาร์กี เดอ กงดอร์แซ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นระบบนี้ขึ้นในศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ตามระบบคล้ายกันกับกงดอร์แซได้ถูกใช้ครั้งแรกในปีค.ศ. 1299[4] โดยรามอน ยุล นักปรัชญาชาวมายอร์กา โดยเป็นวิธีเดียวกันกับวิธีของโคปแลนด์ในแบบที่ไม่มีคะแนนเสมอเป็นคู่[5]วิธีกงดอร์แซสามารถใช้บัตรลงคะแนนแบบจัดลำดับ แบบคาร์ดินัล หรือใช้การลงคะแนนอย่างง่ายกับผู้สมัครเป็นคู่ๆ ได้ โดยวิธีส่วนใหญ่มักจะใช้การลงคะแนนแบบจัดลำดับรอบเดียว ซึ่งผู้ลงคะแนนแต่ละคนจะต้องจัดลำดับผู้สมัครทั้งหมดเริ่มตั้งแต่ลำดับที่ชอบมากที่สุด (เริ่มที่ 1) ไปจนถึงลำดับท้ายสุด (เลขจำนวนที่มากขึ้น) การจัดลำดับนี้มักเรียกว่า ลำดับความชอบ (order of preference) ในการนับคะแนนสามารถกระทำได้หลายวิธีเพื่อตัดสินผู้ชนะ ในทุกวิธีของกงดอร์แซจะใช้หาผู้ชนะแบบกงดอร์แซในกรณีที่มีผู้ชนะที่เข้าเกณฑ์ หากไม่มีจะต้องใช้วิธีรองอื่นๆ ที่สามารถเลือกผู้ชนะคนอื่นๆ แทนได้ในกรณีที่เกิดผลเป็นวัฏจักร โดยผลลัพธ์จะออกมาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่เลือกใช้ตามขั้นตอนซึ่งระบุไว้ในข้อบังคับการประชุมของรอเบิร์ต (Robert's Rules of Order) สำหรับการลงมติต่างๆ ก็ยังถือเป็นวิธีกงดอร์แซเช่นกันถึงแม้ว่าผู้ลงคะแนนจะไม่ได้ออกเสียงโดยการจัดลำดับก็ตาม[6] โดยในการลงคะแนนจะเกิดขึ้นหลายรอบ และในแต่ละรอบจะมีการลงคะแนนระหว่างตัวเลือกจำนวนเพียงสองตัวเลือก ผู้แพ้ (ตามเกณฑ์เสียงข้างมาก) ในแต่ละคู่จะตกรอบ และผู้ชนะในคู่นั้นจะถูกจับคู่กับผู้ชนะอีกคู่หนึ่งในรอบต่อไป จนสุดท้ายเหลือเพียงผู้ชนะคนสุดท้ายเพียงคนเดียว ระบบนี้จะเหมือนกับการแข่งขันหาผู้ชนะเป็นรอบๆ (single-winner tournament) กล่าวคือจำนวนการจับคู่แข่งขั้นทั้งหมดเท่ากับจำนวนของตัวเลือกลบด้วยหนึ่ง เนื่องจากผู้ชนะแบบกงดอร์แซชนะโดยเสียงข้างมากในแต่ละคู่ จึงย่อมไม่เคยตกรอบตามข้อบังคับของรอเบิร์ต แต่ในวิธีนี้ไม่สามารถทำให้เห็นปฏิทรรศน์ของการลงคะแนนซึ่งจะไม่มีผู้ชนะเลย และเสียงส่วนใหญ่ชอบผู้สมัครรายที่แพ้ก่อนมากกว่าผู้ชนะในรอบหลัง (ถึงแม้ว่าจะต้องเลือกผู้ชนะคนใดคนหนึ่งจากชุดสมิธก็ตาม) วรรณกรรมส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางเลือกสังคมล้วนกล่าวถึงลักษณะเฉพาะของระบบนี้เพราะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางโดยองค์กรสำคัญต่างๆ (สภานิติบัญญัติ คณะกรรมาธิการ คณะกรรมการ ฯลฯ) อย่างไรก็ตามระบบนี้ไม่เหมาะสมที่จะทำมาใช้สำหรับการเลือกตั้งในทางปฏิบัติ เนื่องจากการลงคะแนนจำนวนหลายรอบนั้นจะทำให้สิ้นเปลืองต่อผู้ลงคะแนน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสำหรับรัฐบาลในการกำกับดูแล

ใกล้เคียง

วิธีกงดอร์แซ วิธีการเข้าถึงหลายช่องทาง วิธีการครอส-เอนโทรปี วิธีการคำนวณของโจนส์ วิธีการปกครอง วิธีการบังคับต่อประเทศอิหร่าน วิธีการบังคับต่อสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย วิธีการของเพทริค วิธีการบังคับต่อประเทศเกาหลีเหนือ วิธีการประเมินและการตัดสินใจ