เขตอำนาจ ของ ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์

กฎหมายหลัก มาตรา 20 อนุมาตรา 3 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญย่อมผูกพันอำนาจทั้งสามแห่งรัฐ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยตรง ฉะนั้น ไม่ว่าเป็นการกระทำของอำนาจใด และไม่ว่าจะเป็นเพียงการละเมิดแบบพิธี (เช่น ไม่ปฏิบัติตามกระบวนการ หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจ) หรือเป็นความขัดแย้งที่เป็นสาระสำคัญ (เช่น ไม่เคารพสิทธิพลเมือง) ศาลก็สามารถวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ทั้งสิ้น

อำนาจของศาลนั้นมีบัญญัติไว้ในกฎหมายหลัก มาตรา 93[2] แต่รายละเอียดนั้นกำหนดอยู่ในกฎหมายส่วนกลาง คือ รัฐบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ (Bundesverfassungsgerichts-Gesetz; Federal Constitutional Court Act) รัฐบัญญัตินี้ยังระบุวิธีบังคับตามคำวินิจฉัยของศาลด้วย โดยนัยดังกล่าว ศาลจึงมีวิธีพิจารณาที่เคร่งครัด และเรื่องที่อยู่ในอำนาจมีดังนี้

  • การร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ (Verfassungsbeschwerde; constitutional complaint) เป็นกรณีที่บุคคลสามารถร้องทุกข์ต่อศาลว่า ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่น้อยครั้งที่ผู้ร้องทุกข์จะชนะคดี เพราะตามสถิติแล้ว ตั้งแต่ปี 1951 มีเพียงร้อยละ 2.5 ที่ชนะคดี แต่หลายคดี ๆ ก็ส่งผลให้กฎหมายจำนวนมากถูกวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร อนึ่ง ตั้งแต่ปี 1957 ถึงปี 2002 มีคดีทำนองนี้ขึ้นสู่ศาลจำนวน 135,968 เรื่อง คดีส่วนใหญ่ของศาลจึงเป็นคดีประเภทนี้
  • การควบคุมกฎแบบนามธรรม (abstract regulation control) เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่ารัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น สามารถเสนอให้ศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายส่วนกลางชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีมีชื่อที่สุด คือ คดีทำแท้งเมื่อปี 1975 ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ให้เลิกเอาผิดกับการทำแท้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
  • การควบคุมกฎแบบเจาะจง (specific regulation control) เป็นกรณีที่ศาลอื่นจะใช้กฎหมายใดแล้วเห็นว่า กฎหมายนั้นอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลดังกล่าวสามารถงดการพิจารณาแล้วเสนอให้ศาลวินิจฉัยได้
  • การพิพาทส่วนกลาง (federal dispute) เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐบาลกลาง รวมถึงสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) สามารถเสนอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องอำนาจหน้าที่หรือวิธีปฏิบัติราชการภายในหน่วยงานนั้นได้
  • การพิพาทส่วนท้องถิ่น (state–federal dispute) เป็นกรณีที่รัฐ (Länder) ในประเทศเยอรมนีสามารถเสนอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐบาลกลางว่าด้วยอำนาจหน้าที่หรือวิธีปฏิบัติราชการได้
  • การควบคุมคณะกรรมการสืบสวน (investigation committee control)
  • การตรวจสอบการเลือกตั้งส่วนกลาง (federal election scrutiny) เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถเสนอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายเลือกตั้งได้
  • การขับเจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากตำแหน่ง (impeachment) เป็นกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนรัฐ (Bundesrat) หรือรัฐบาลกลาง สามารถขอให้ศาลขับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ เช่น ประธานาธิบดี หรือตุลาการ ออกจากตำแหน่งเพราะละเมิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายส่วนกลางได้
  • การยุบพรรคการเมือง (prohibition of political party) เป็นอำนาจของศาลนี้ศาลเดียวในประเทศเยอรมนี การยุบพรรคการเมืองเกิดมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้ง 2 ครั้งเกิดในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ครั้งแรก ยุบพรรคชาติสังคมนิยม (Socialist Reich Party) ของฝ่ายนาซีใหม่ เมื่อปี 1952 ครั้งที่ 2 ยุบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (Communist Party of Germany) เมื่อปี 1956 การขอให้ยุบพรรคการเมืองเป็นครั้งที่ 3 มีขึ้นในปี 2003 ศาลวิจิฉัยว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติเยอรมนี (National Democratic Party of Germany) เป็นอุปนิกขิตที่หน่วยงานลับของรัฐบาลส่งเข้ามาแฝงตัว ตุลาการลงมติ 4 ต่อ 4 และตามธรรมนูญศาลแล้ว ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ถือว่า ยกคำร้อง พรรคดังกล่าวจึงไม่ถูกยุบ

ตั้งแต่ปี 2009 สืบมา กฎหมายที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นมีมากกว่า 600 ฉบับ[3]

ใกล้เคียง

ศาลรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย) ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ (อิตาลี) ศาลรัฐมนตรีสภา (ประเทศฝรั่งเศส) ศาลรัฐมนตรีสภา (ประเทศเนเธอร์แลนด์) ศกลรัตน์ วรอุไร ศาลชั้นต้น (ประเทศไทย) ศาลภัญชิกา ศาลจังหวัด

แหล่งที่มา

WikiPedia: ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ http://www.bundesverfassungsgericht.de/ http://www.bundesverfassungsgericht.de/en/index.ht... http://www.bundesverfassungsgericht.de/en/library.... http://bundesrecht.juris.de/bundesrecht/bverfgg/ http://www.iuscomp.org/gla/statutes/BVerfGG.htm //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://www.btg-bestellservice.de/pdf/80201000.pdf https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Bundes...