นิกาย ของ ศาสนาพุทธในประเทศกัมพูชา

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) สมเด็จพระสังฆราชคณะมหานิกายกัมพูชา (ขวาสุด) และสมเด็จพระมหาสุธรรมาธิบดี (ภุล เทส อินฺทญาโณ) สมเด็จพระสังฆราชคณะธรรมยุติกนิกายกัมพูชา (ลำดับที่ 2 จากทางขวาของภาพ) ขณะทรงเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสังฆสภาของกัมพูชาประจำปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) ณ วัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ

พระพุทธศาสนาได้รับอิทธิพลด้านนิกายแต่เดิมเป็นในแบบพุทธศาสนามหายาน และเถรวาท ดังปรากฏหลักฐานเป็นศาสนสถานการก่อสร้างปราสาทนครธม ที่เป็นอุดมคติและแนวคิดอันเนื่องด้วยศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ในเวลาเดียวกันพุทธศาสนาในแบบเถรวาทก็ซ้อนทับอยู่กับพุทธมหายาน และศาสนาพราหมณ์และค่อย ๆ พัฒนาตัวเองจนกระทั่งกลายเป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศกัมพูชาพร้อมกับการศูนย์หายไปของพุทธศาสนามหายานในประเทศกัมพูชา แต่ในเวลาเดียวกันพระพุทธศาสนาเถรวาทก็กลายเป็นศาสนาหลักของชาวกัมพูชา จนกระทั่งเมื่อมีการก่อตั้งพุทธศาสนาแบบธรรมยุตินิกาย ด้วยเหตุผลทางการเมือง การปกครองระหว่างไทย กัมพูชา พระพุทธศาสนาในแบบไทย ที่เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย พัฒนา และปฏิรูป ที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย และชนชั้นปกครองกัมพูชาก็เชื่อและคาาดหวังอย่างนั้น จึงทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชารับพระพุทธศาสนาในแบบธรรมยุติกนิกายไปเผยแผ่ในกัมพูชา และกลายเป็นศาสนาสำหรับราชสำนักในกัมพูชาไปพร้อม ๆ กัน จึงทำให้ศาสนานิกายเดิมซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่กลายเป็นอีกนิกายหนึ่งในสังคมกัมพูชาไปโดยปริยาย

มหานิกาย

พุทธศาสนาเถรวาทในกัมพูชามีการแบ่งแยกเป็นครั้งแรกเมื่อมีการนำเอาธรรมยุตินิกาย (ซึ่งเน้นที่การทำให้พระธรรมวินัยบริสุทธิ์ตามที่มีมาในพระไตรปิฎก) จนสยามเข้ามาเมื่อ ค.ศ.1864 คณะธรรมยุติกนิกายในกัมพูชามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์เช่นเดียวกับที่เป็นในสยามแต่คณะธรรมยุติกนิกายในกัมพูชามีส่วนนำความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยมาสู่ชาวกัมพูชาที่ไม่ใช่เจ้านายและชนชั้นสูง อีกทั้งไม่ได้มีมีบทบาทในการนำความทันสมัยมาสู่สังคมกัมพูชาดังเช่นที่เป็นในสยาม ในขณะที่มหานิกายซึ่งเป็นนิกายดั้งเดิมซึ่งมีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยน้อยกว่า กลับมีบทบาทที่โดดเด่นกว่าคณะธรรมยุติกนิกาย

เมื่อมีการตั้งโรงเรียนบาลีระดับมัธยมขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ใน ค.ศ.1914 ก็เกิดแรงกระตุ้นให้มีการศึกษาศาสนากันใหม่ อันนำมาซึ่งความแตกแยกของคณะมหานิกายในทศวรรษที่ 1920 ระหว่างพระสงฆ์ตามแบบจารีตกับพระสงฆ์หัวสมัยใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์ตะวันตกและนิยมการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งต้องการให้มีการทำความเข้าใจคัมภีร์ทางศาสนากันใหม่ กลุ่มหัวสมัยใหม่รู้จักกันในภายหลังว่า คณะธรรมกายซึ่งก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านฝรั่งเศสร่วมกับปัญญาชนคนกลุ่มใหม่ของกัมพูชา

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) อดีตสมเด็จพระสังฆราชคณะมหานิกายกัมพูชา สถิต ณ วัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ

รายนามประมุขสงฆ์กัมพูชาฝ่ายคณะมหานิกายมีดังนี้

  • สมเด็จพระมหาสังฆราช (เนิล เตียง (เที่ยง) สุวณฺณเกสโร) ค.ศ. 1857-1913[7]
  • สมเด็จพระธรรมลิขิต (แก อุก อินฺทตฺเถโร) ค.ศ. 1914-1930
  • สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ปรัก ฮิน สุธมฺมตฺเถโร) ค.ศ. 1930-1947
  • สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) ค.ศ. 1948–1969[8]
  • สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ฮวต ตาต วชิรปญฺโญ) ค.ศ. 1969–1975[8]
  • พระมหาโฆสนันทะ (Preah Maha Ghosananda) ค.ศ. 1988–2007[9] ทั้งนี้ เป็นการคัดเลือกกันของกลุ่มพระในต่างประเทศที่ลี้ภัยทางการเมืองภายใต้ระบบเขมรแดง และสงครามกลางเมืองในช่วงเวียดนามยึดครอง โดยไม่ยอมรับสมเด็จเทพ วงษ์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลฮุน เซน ให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช การคัดเลือกนี้จึงเป็นการคัดเลือกผ่านกลุ่มคนที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลที่พนมเปญแต่อย่างใด
  • สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี (เทพ วงษ์) ค.ศ.1981–ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานการกสงฆ์กัมพูชาระหว่าง ค.ศ.1981–1991, สังฆราชคณะมหานิกาย ค.ศ. 1991–2006 และอัครมหาสังฆราชาธิบดี ค.ศ. 2006–ปัจจุบัน
  • สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (นนท์ แงด) ค.ศ. 2006–ปัจจุบัน จำพรรษาที่วัดปทุมวดีราชวราราม โดยวัดแห่งนี้แต่เดิมเป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติ แต่เมื่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาหมดไปจากดินแดนกัมพูชาใน ค.ศ. 1975-1979 ทำให้วัดแห่งนี้ร้างไปโดยปริยาย และเมื่อมีการบวชพระภิกษุภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์หลังค.ศ.1979 ไม่มีธรรมยุติและมหานิกาย วัดแห่งนี้จึงมีคณะสงฆ์มหานิกายจำพรรษาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อธรรมยุติกนิกายถูกฟื้นคืนมาอีกครั้ง รัฐบาลจึงได้แบ่งวัดแห่งนี้เป็นสองส่วน คือวัดส่วนหนึ่งเป็นของคณะสงฆ์มหานิกาย และวัดส่วนหนึ่งเป็นของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ ปัจจุบันสมเด็จพระสังฆราชทั้ง 2 นิกายจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้

ธรรมยุติกนิกาย

สมเด็จพระอภิสิริสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี (บัวร์ กรี) สมเด็จพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกายองค์ปัจจุบัน จำพรรษาอยู่วัดปทุมวดีราชวราราม กรุงพนมเปญ

ธรรมยุติกนิกาย เป็นพุทธศาสนาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อพระองค์ยังทรงผนวชในรัชกาลที่ 3 ต่อมาสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ได้ขอพระราชทานธรรมยุติกนิกายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนในประเทศกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) และพระมหาปาน (Preah Saukonn Pan, Maha Pan)[10]ซึ่งเป็นภิกษุชาวกัมพูชาที่เข้ามาบวชในคณะธรรมยุตให้กลับตั้งคณะธรรมยุตที่กัมพูชา ต่อมาพระมหาปานได้เป็นพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกายพระองค์แรกของกัมพูชา [11]

ปัจจุบันสมเด็จพระอภิสิริสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี (บัวร์ กรี) (11 มกราคม ค.ศ.1945-ปัจจุบัน, อายุ 79 ปี) ทรงเป็นพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกายพระองค์ที่ 2 (คู่กับพระสังฆราชฝ่ายมหานิกาย) แห่งกัมพูชา

รายพระนามของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกายแห่งกัมพูชามีดังนี้

  • สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน ปญฺญาสีโล) ค.ศ.1855–1893[12][13]
  • สมเด็จพระมงคลเทพาจารย์ (เอี่ยม ภทฺทคู) ค.ศ. 1893-1922
  • สมเด็จพระมงคลเทพาจารย์ (สุก ปญฺญาทีโป) ค.ศ. 1923-1943
  • สมเด็จพระสุธรรมาธิบดี (อุง สะเรย พุทฺธนาโค) ค.ศ. 1943-1956
  • สมเด็จพระมหาสุธรรมาธิบดี (ภุล เทส อินฺทญาโณ) ค.ศ. 1956-1966
  • สมเด็จพระมหาสุธรรมาธิบดี (เทพ เลือง คนฺธโร) ค.ศ. 1966-1975
  • สมเด็จพระสังฆราช (ฮี เจีย) ค.ศ. 1975 (ดำรงตำแหน่งในสมัยระบอบเขมรแดงได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์)
  • สมเด็จพระอภิสิริสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี (บัวร์ กรี) ค.ศ. 1991 – ปัจจุบัน ทั้งนี้ ทรงดำรงสมณศักดิ์ "สมเด็จพระสุคนธาธิบดี" เมื่อปี ค.ศ. 1991 จนถึงปี ค.ศ. 2007 จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นที่อัครมหาสังฆราชาธิบดีอีกพระองค์หนึ่ง ในพระนาม "สมเด็จพระอภิสิริสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี"