ประติมากรรม ของ ศิลปะอยุธยา

ศิลปะอยุธยายุคต้นสืบต่อจากศิลปะอู่ทองตอนปลาย รูปประติมากรรมมีทั้งรูปเทพเจ้าและพระพุทธรูป ลักษณะส่วนใหญ่เข้มแข็ง บึกบึน มีลักษณะผสมทั้งลพบุรี อู่ทองและสุโขทัย พระพุทธรูปมีพระวรกายทั้งหนาและบาง มีลักษณะท่าทางขึงขัง บัวรองฐานทำเป็นฐานแอ่นโค้ง

พระพุทธรูปยุคกลางได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย มักทำวงพระพักตร์และพระรัศมีตามแบบสุโขทัย แต่มีไรพระศกเส้นเล็ก ๆ ทำสังฆาฏิขนาดใหญ่ ชายสังฆาฏิตัด ป็นเส้นตรง พระพุทธรูปทำจากปูนปั้น สลักหิน และหล่อด้วยโลหะ ส่วนมากนิยมทำพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระอิริยาบถแบบต่าง ๆ ตามแบบสุโขทัย

พระพุทธรูปยุคปลายมีการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระมหากษัตริย์ โดยมีอยู่ 2 แบบคือ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ศิลปะการสลักไม้และปั้นปูนประดับพุทธสถานของสมัยอยุธยายุคปลาย มีความงามสูงสุด ลวดลายทำเป็นลายกระหนก อ่อนพลิ้วซ้อนกัน ปลายกนกสะบัดปลาย บิดไปมาราวกับธรรมชาติของเถาไม้และใบไม้ที่อ่อนไหว ลวดลายต่าง ๆ เริ่มประดิษฐ์เป็นแบบแผนเฉพาะตัวของไทยมากขึ้น[2]