มาตรการ ของ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

การปิดเว็บไซต์และสถานีประชาชน

วันที่ 8 เมษายน ภายหลังที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปแจ้งให้ไทยคมระงับการแพร่สัญญาณภาพและเสียงของสถานีประชาชน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณสถานีไทยคม ที่ตั้งอยู่ถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และสถานีไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลาดหลุมแก้ว-วัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณ[25]

วันที่ 9 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานีไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลาดหลุมแก้ว-วัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณการออกอากาศของสถานีประชาชน โดยได้มีการนำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา แต่ไม่บรรลุผล จากนั้นเหตุการณ์ได้สงบลงภายในเวลา 15 นาที โดยแกนนำพยายามควบคุมมวลชนไม่ให้บุกเข้าไปภายในตัวอาคาร จนกระทั่งมีการเจรจาให้ทหารถอนกำลังเดินแถวออกจากสถานีไทยคม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ได้มีการนำอาวุธที่ได้ยึดมาจากทหาร ที่ประกอบด้วยปืนเอ็ม 16, ปืนลูกซองยาว พร้อมลูกระเบิดแก๊สน้ำตา หมวกกันน็อค เสื้อเกราะ โล่ กระบอง มาให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพเอาไว้ รวมทั้งยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาอีกจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม[26]

หลังจากที่มีการยืนยันว่าทางสถานีประชาชนจะมีการออกอากาศอย่างแน่นอน กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนกลับไปยังที่ตั้ง[27] หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 22.20 น.ได้มีการเข้าระงับการออกอากาศของทางสถานีอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดเผยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ทางการเมืองขึ้น ศอฉ.มีคำสั่งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายปลุกระดมและปิดแล้ว 1,900 เว็บไซต์ จากสัปดาห์ที่ผ่านมามีเพียง 1,150 เว็บไซต์ ส่วนเว็บไซต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประชุม ศอฉ. มีมติว่า ทุกทวิตเตอร์ หากมีข้อความยั่วยุ ปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก หรือหมิ่นสถาบันฯ ก็ต้องดำเนินการปิดกั้นทั้งหมด แม้จะอยู่ในกลุ่มของโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ตาม เพราะอยู่ภายใต้อำนาจพรก.ฉุกเฉิน[28]

แผนปรองดอง

วันที่ 3 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าจะมาพูดถึงการคลี่คลายสถานการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เป็นการสะสมปัญหามาเป็นระยะเวลานานหลายปี ที่สะสมมาทั้งหมดทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึก คำตอบทางการเมืองที่อยากบอกประชาชนในวันนี้ คือการสร้างกระบวนการปรองดองขึ้นมา หากแผนการปรองดองและทำบ้านเมืองให้สงบสุข การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลพร้อมดำเนินการ โดยแผนปรองดองดังกล่าวมีองค์ประกอบดังนี้

  1. ประเทศไทยเราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวหลอมรวมคนไทยทั้งชาติ แต่น่าเสียดายที่มีคนกลุ่มหนึ่งดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา มีความพยายามดึงสถาบันลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง การที่จะทำให้สังคมไทยเป็นปกติสุขต้องช่วยกัน ไม่ให้ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา แผนการ คือ ทุกฝ่ายต้องลงมาช่วยกันทำงานเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานแก่ประชาชน ไม่ว่าเรื่องรู้รักสามัคคี อยากเชิญชวนทุกฝ่ายมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้ถูกดึงมาเป็นเครื่องมือความขัดแย้งทางการเมือง
  2. การปฏิรูปประเทศ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอาจจะถูกมองว่าเป็นการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมของเรื่องเศรษฐกิจ หลายคนที่มาชุมนุมอาจจะสัมผัสโดยตรงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดโอกาส ถูกรังแก สิ่งที่เราจะช่วยกันทำ คือ ไม่ปล่อยให้เป็นเหมือนในอดีตที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ทำให้ระบบเกิดความไม่เป็นธรรม
  3. ในยุคปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร จริงอยู่ที่เราต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อำนาจของสื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย แม้กระทั่งสถานีของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่านำไปเสนอให้เกิดความขัดแย้ง สื่อต้องมีเสรีภาพ แม้จะมีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จะไม่สร้างความขัดแย้งภายในประเทศ สร้างความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรง
  4. หลังจากชุมนุมเคลื่อนไหว มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงและสูญเสีย เกิดข้อสงสัยต่างๆนาๆ ไม่ว่าการสูญเสียเหตุการณ์ 10 เมษายน เหตุการณ์ที่สีลม หรือที่ดอนเมือง กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน ทุกเหตุการณ์จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ต้องมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆและให้เกิดความเป็นจริงต่อสังคม
  5. เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แม้นักการเมืองจะเป็นคนกลุ่มเล็ก แต่เป็นตัวแทนของประชาชน ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมในหลายด้าน ทั้ง รัฐธรรมนูญ กฎหมายบางฉบับ การลิดรอนสิทธิไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอน หรือการตัด หรือการเพิกถอนสิทธิ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเมือง ถึงเวลาเอามาวาง และมีกลไกให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เรื่องรัฐธรรมนูญ จนถึงความผิดการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ[29]

วันที่ 4 พฤษภาคม นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงผลการประชุมแกนนำ นปช.ที่เวทีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ เกี่ยวกับข้อเสนอแผนการปรองดอง 5 ข้อของนายกรัฐมนตรี หลังใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมงว่า มีข้อสรุป 4 ข้อประกอบด้วย

  1. นปช.ยินดีรับข้อเสนอ แต่ขอให้รัฐบาลไปหาความชัดเจนมาก่อนว่าจะยุบสภาวันไหนคุยกันให้จบเสียก่อน
  2. นปช.ต้องการความจริงใจที่รัฐบาลสามารถแสดงออกได้ด้วยการยกเลิกการคุกตามทุกรูปแบบ
  3. นปช.ไม่ขอนิรโทษกรรมให้แก่ นปช.เองในข้อหาโค่นล้มสถาบันและการก่อการร้ายอย่างเด็ดขาดพร้อมสู้คดี
  4. ต้องยุติการนำสถาบันกษัตริย์ลงสู่ความขัดแย้งในทุกมิติ

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงบนเวทีปราศรัยว่า ขอให้ทางรัฐบาลไปหาความความชัดเจนในการยุบสภาต้องระบุวันให้ชัดเจนมาก่อน และแกนนำคนเสื้อแดงไม่ปฏิเสธเข้าร่วมกับแผนโรดแมปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บล้มตาย ทางกลุ่มคนเสื้อแดงยืนยันว่าเรื่องการนิรโทษกรรม เรื่องการกล่าวหาความผิดก่อนหน้านี้ทางเสื้อแดงไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไข หากรัฐบาลกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเป็นการก่อการร้ายทางผู้ชุมนุมจะสู้ถึงที่สุด หากกล่าวหาว่าโค่นล้มสถาบันทางเสื้อแดงพร้อมที่จะสู้เช่นเดียวกัน และขอให้เรียกร้องมาตรฐานเดียวกันกับคดีสั่งสังหารประชาชนในเหตุการณ์เดือนเมษายนจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวขอให้ดีเอสไอรับไปเป็นคดีพิเศษแล้วดำเนินการต่อไป[30]

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 12.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าแผนปรองดองนั้นถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากขณะนั้นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติปฏิเสธข้อเสนอและปฏิเสธที่จะเจรจากับทางรัฐบาลและผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาที่ต้องการให้มีการถอยร่นออกจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จนถึงแยกสารสิน[31]และเพิ่มข้อเรียกร้องให้สุเทพ เทือกสุบรรณ มอบตัวกับตำรวจ ทั้งที่สุเทพ เทือกสุบรรณมอบตัวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว[32]

การตัดระบบสาธารณูปโภค

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุว่า การประชุม ศอฉ.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธาน ได้ติดตามสถานการณ์และรายงานยอดผู้ชุมนุม โดย ศอฉ.จำเป็นต้องใช้มาตรการกดดันผู้ชุมนุมเต็มรูปแบบ เริ่มต้นจากการไม่ใช้กำลัง โดยกำหนดให้มีการตัดน้ำ ตัดไฟ สัญญาณโทรศัพท์ ระบบสาธาณูปโภค การเดินทางสาธารณะต่าง ๆ ทั้งรถโดยสารมวลชน รถไฟฟ้า และการเดินทางทางน้ำบริเวณคลองแสนแสบ เพื่อปิดการเข้าพื้นที่ชุมนุม 100%

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ โดยทหารที่อยู่ในพื้นที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออก พื้นที่ดังกล่าว และมาตรการต่าง ๆ จะเริ่มได้ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป และจะหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องเพิ่มเติมในวันนี้ โดย ศอฉ.ต้องขออภัยประชาชนและทูตประเทศต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว พร้อมย้ำว่า มาตรการกดดันการเข้าพื้นที่ชุมนุมเต็มรูปแบบเป็นมาตรการขั้นเบาที่สุดแล้ว รวมทั้งได้ประสานกับผู้ประกอบการบริเวณดังกล่าวในเบื้องต้น ส่วนมาตรการหลังจากนี้ยังไม่ขอเปิดเผย[33][34]

ต่อมา พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการกดดันผู้ชุมนุมแยกราชประสงค์เต็มรูปแบบ ในการตัดน้ำ ตัดไฟ ระบบสาธารณูปโภค และการเดินทางสาธารณะ ทั้งทางบกและทางน้ำ ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน และต้องหารือร่วมกันอีกครั้งในคืนวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดรายละเอียดว่าจะเป็นพื้นที่ใดบ้าง เพราะบริเวณดังกล่าวมีทั้งโรงพยาบาล และ สถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งต้องมีการประเมินผลกระทบว่าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง กลุ่มใดจะได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนมากกว่า เนื่องจากพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เตรียมมาตรการรองรับในเรื่องการตัดน้ำ ตัดไฟ ส่วนเส้นทางเดินรถเมล์ ใกล้พื้นที่ชุมนุม คงจะมีการพิจารณาให้วิ่งในวงนอกต่อไป และรถแท็กซี่ อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในบริเวณพื้นที่ชุมนุม

พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวของศอฉ.อาจจะไม่ได้ดำเนินการทันทีในเวลา 24.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 และอาจจะเลื่อนเป็นวัน13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขึ้นอยู่กับการหารือกำหนดรายละเอียดและข้อสรุปให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากมีประชาชนทั่วไปโทรศัพท์เข้ามาสอบถามจำนวนมาก เพราะเกรงจะได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการนี้[35]

วันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 11.30 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงผลการประชุม ศอฉ.ช่วงเช้าว่า การกำหนดมาตรการในการปิดล้อมสกัดกั้นพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์อย่างสมบูรณ์ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. พื้นที่ที่มีผลกระทบทางด้านเหนือเริ่มตั้งแต่ แยกราชเทวี ไปตาม ถนนเพชรบุรี จนถึงแยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรี ทางทิศใต้ ตั้งแต่แยกทางขึ้นด่วนเพชรบุรี ตามถนนวิทยุ จนกระทั่งสี่แยกถนนวิทยุ เรื่อยมาจนถึงถนนพระรามที่ 4 จนถึงแยกสามย่าน และขึ้นเหนือไปบรรจบจุดเริ่มต้นตามถนนพญาไท จนกระทั่งถึงแยกราชเทวี ซึ่งเป็นลักษณะกรอบสี่เหลี่ยม การบริการสาธารณะทุกชนิดทั้ง ไฟฟ้า ประปา การจราจร รถประจำทาง เรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 4 สถานี คือ สถานีสยาม สถานีชิดลม สถานีเพลินจิตและสถานีราชดำริ (ปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 19.00 น.)) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 2 สถานี คือ สถานีสีลมและสถานีลุมพีนี (ปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 22.00 น.)) จะมีการระงับเริ่มตั้งแต่ 18.00 น.เป็นต้นไป โดยเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลักสากลจากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน และมีการใช้อาวุธกระสุนจริงด้วย[36]

การประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน

เมื่อเวลา 16.05 น. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดต่อไปนี้

  1. ห้ามมิให้บุคคลใดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม ถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม[37]
  2. ให้พนักงาน และเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ และระยะเวลาที่กำหนด# ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่กลับเข้าสู่เคหสถาน และไม่ออกมายังพื้นที่ที่กำหนด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการ ศอฉ.กำหนดพื้นที่ และรายละเอียดเพิ่มเติมตามสมควรแก่เหตุ[38] และในเวลาต่อมา ศอฉ. ได้ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่ปริมณฑลและจังหวัดอื่นเพิ่มเติม

วันต่อมา ศอฉ. ได้ประกาศกฎหมายว่าด้วยการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเพิ่มเติม โดยขยายจำนวนวันประกาศใช้เพิ่มเป็น 3 วัน คือในวันที่ 20-22 พฤษภาคม แต่ลดระยะเวลาควบคุมเป็น 21.00-05.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้แก่ประชาชนมากขึ้น[ต้องการอ้างอิง]ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้ต้องระวางโทษจำคุก สองปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

การรักษาความปลอดภัยบริเวณโรงพยาบาลศิริราช

กองทัพเรือจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ จัดกำลังรักษาความสงบขึ้นควบคุมทางยุทธการกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) รักษาความปลอดภัยบริเวณโรงพยาบาลศิริราชแม่น้ำเจ้าพระยา และสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ในระหว่างวันที่ 11 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2553[39]

ใกล้เคียง

ศูนย์ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกในประเทศไทย ศูนย์การค้า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์การบินทหารบก

แหล่งที่มา

WikiPedia: ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน http://www.ohbar.com.au/main/view-content.php?id_c... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.prachatai.com/journal/2010/05/29381 http://www.ryt9.com/s/nnd/1016660 http://news.sanook.com/611261-%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E... http://news.sanook.com/982830/ http://sport.sanook.com/927742/%E0%B8%99%E0%B8%9B%... http://thairecent.com/Crime/2010/677434/ http://ronakorn.wordpress.com/2010/04/26/%E0%B8%A8... http://www.youtube.com/watch?v=gDilc5PrrPI