ประวัติ ของ สถานเสาวภา

ปี พ.ศ. 2454 หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ถูกสุนัขบ้ากัด จึงจะส่งพระราชธิดาไปรักษาที่ไซ่ง่อน แต่คลาดเวลาเรือออกเดินทาง จึงจัดการรักษาตามแผนโบราณ มีอาการแสดงของโรคพิษสุนัขบ้าและพระอาการกำเริบจนถึงสิ้นชีพิตักษัย นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นมิตรคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้แนะนำพระองค์เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานปาสเตอร์ เพื่อผลิตยารักษาและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วย เพราะทรงเคยเห็นกิจการของสถาบันปาสเตอร์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดตั้งสถาบันปาสเตอร์ โดยอาศัยเงินอุดหนุนที่ได้รับพระราชทานเป็นปฐมฤกษ์จากสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงส่วนหนึ่งกับเงินที่ประชาชนร่วมใจกันบริจาคให้อีกส่วนหนึ่ง

เริ่มแรกจัดตั้งสถานปาสเตอร์ขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทยริมโรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2456 (ในเวลานั้นเรียกว่า ปาสตุระสภา) จนได้โอนมาอยู่ในความดูแลของกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดสยาม ในปี พ.ศ. 2460 ในสถานที่เดิม ต่อมาได้ย้ายที่ทำการใหม่มายังสถานเสาวภาในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465[2]