ที่มาและความหมายของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันไทยคดีศึกษา ของ สถาบันไทยคดีศึกษา_มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชื่อ “ไทยคดีศึกษา”

คำว่า “ไทยคดีศึกษา” เป็นศัพท์ที่ศาสตราจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น ได้ทรงบัญญัติเป็นภาษาไทยขึ้นมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Thai Studies” เพื่อประทานแก่หน่วยงานแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กำลังจะก่อตั้งและยังไม่มีชื่อเรียก

สำหรับเรื่องที่มาของชื่อนั้น ตามบันทึกความเห็นของคณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของอธิการบดี เรื่อง การจัดตั้งสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2520 คณะกรรมการวิจัยหลายท่านมีความเห็นว่าคำนี้มีความหมายเฉพาะ หากเปลี่ยนชื่อสถาบันเป็นสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจผิดได้ นอกจากนี้ กรรมการบางท่านยังเห็นว่า ชื่อของสถาบันไทยคดีนั้น กว้างขวางและครอบคลุมพอสมควร เนื่องด้วยการวิจัยส่วนใหญ่กระทำอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือในประเทศไทยเป็นสำคัญ อีกทั้งยังเป็นชื่อที่เสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ประทานมาให้อีกด้วย

ทั้งนี้ คำว่า “ไทยคดีศึกษา” ก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ไทยศึกษา” คือการศึกษาเรื่องของไทยในสาขาต่างๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ ตัวอย่างหน่วยงานด้านไทยศึกษา เช่น สถาบันไทยศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Thai Studies Chulalongkorn University) อีกทั้งไทยคดีศึกษายังไปปรากฏเป็นชื่อหลักสูตรหรือรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตรการเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วย

ตราสัญลักษณ์

"ตราอภิรุม" มีรูปทรงคล้ายรูปหยดน้ำ ประกอบด้วย รูปวงกลมที่ภายในมีภาพพานรัฐธรรมนูญวางอยู่กึ่งกลางของวงกลม เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์ ได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า พานรัฐธรรมนูญนี้ น่าจะมีความหมายแทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใต้ภาพพานรัฐธรรมนูญ มีอักษรภาษาไทยเขียนไว้ว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ด้านบนของภาพพานรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่า "สถาบันไทยคดีศึกษา" ส่วนภายนอกเส้นรอบวงกลม ครึ่งล่างล้อมไว้ด้วยอักษรภาษาอังกฤษว่า "Thai Khadi Research Institute" ส่วนบนของเส้นรอบวงกลมปกคลุมด้วยรูปฉัตรสามชั้น มียอดแหลม ประดับตกแต่งด้วยลายกนกไทยที่อ่อนช้อยงดงาม ให้ความรู้สึกและแรงบันดาลใจถึงศิลปะทางล้านนา จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันที่ศึกษาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องสังคมการเมืองไทย และความเป็นศิลปะ - วัฒนธรรม

โดยผู้ที่ออกแบบตราสัญลักษณ์ดังกล่าว รศ.กมล ฉายาวัฒนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ผู้ที่ออกแบบคือ อาจารย์อวบ สาณะเสน อดีตอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นกรรมการบริหารโครงการไทยคดีศึกษาในเวลานั้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายที่เป็นศิลปะของทางภาคเหนือ [3]

ตัวอักษร

ตัวอักษรประดิษฐ์นาม "สถาบันไทยคดีศึกษา" เป็นฝีมือการออกแบบโดย "อังคาร กัลยาณพงศ์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. 2532 ซึ่งมีคุณูปการต่อสถาบันไทยคดีศึกษามาตลอด เช่น เมื่อสถาบันฯจัดกิจกรรมทางด้านวิชาการต่างๆ อาทิ ครบรอบ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน, ครบรอบ ๒๐๐ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ฯลฯ สถาบันฯขอให้ท่านอังคารแต่งบทประพันธ์สรรเสริญเกียรติคุณของบุคคลท่านนั้นๆ เมื่อแต่งเสร็จแล้ว ยังได้กรุณามาอ่านบทประพันธ์ที่ท่านประพันธ์ขึ้นมาในที่ประชุมสัมมนาด้วย

โดยท่านอังคารได้กล่าวถึงเบื้องหลังของการออกแบบตัวหนังสือนามสถาบันไว้ว่า[4]

ท่านเขียนตั้งแต่ตอนเย็นและไปเสร็จเอาย่ำรุ่งของวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านคัดมาให้เลือกสิบกว่าแบบจากที่เขียนเป็นจำนวนมาก การเขียน Drawing สีถ่านนั้น กระดาษเป็นรีมประมาณสี่ห้าร้อยแผ่น บางครั้งเขียนได้ภาพที่ถูกใจเพียงไม่กี่ภาพ

ภาพตัวอักษรประดิษฐ์นาม "สถาบันไทยคดีศึกษา" ออกแบบโดย อังคาร กัลยาณพงศ์

ใกล้เคียง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันการบินพลเรือน สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ สถาบันวิทยาลัยชุมชน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สถาบันพระบรมราชชนก