ที่มา ของ สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ

ประวัติ

มุขมณฑลแคนเทอร์เบอรีก่อตั้งในปี ค.ศ. 597 โดยนักบุญออกัสตินแห่งแคนเทอร์เบอรีมหาวิหารรอเชสเตอร์บริหารโดยแคนันประจำมุขมณฑลหว่างปี ค.ศ. 604 ถึงปี ค.ศ. 1076 ต่อมาเป็นอารามคณะเบเนดิกตินจนกระทั่งปี ค.ศ. 1540 จึงเปลี่ยนกลับมาเป็นของนักบวชประจำมุขมณฑลอีกครั้งฉากกางเขนของมหาวิหารเซนต์อัลบันถูกรื้อทิ้ง และมาสร้างใหม่ในปี ค.ศ. 1888 ช่องทางเดินกลางของมหาวิหารซัดเดิร์กสร้างโดยอาร์เธอร์ โบลมฟิลด์ในคริสต์ทศวรรษ 1890

โรมันเป็นผู้นำคริสต์ศาสนาเข้ามาในอังกฤษ และมาเผยแพร่ไปทั่วอังกฤษจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ความนิยมก็ลดถอยลงพร้อมกับการจากไปของโรมัน และการรุกรานของแซ็กซอน ในปี ค.ศ. 597 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 ก็ทรงส่งนักบุญออกัสตินมาเผยแพร่ศาสนาที่แคนเทอร์เบอรี ออกัสตินมาก่อตั้งโบสถ์ของแคนันประจำมุขมณฑล ต่อมากลายเป็นอารามคณะเบเนดิกติน ระหว่างปลายสมัยแซกซันจนถึงปี ค.ศ. 1540 มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีปัจจุบันก็เป็นโบสถ์ประจำตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีผู้นำคริสตจักรแห่งอังกฤษทั้งหมด[1][3]

พระเจ้าอัลเฟรดมหาราชทรงริเริ่มการรวมตัวของอังกฤษในปี ค.ศ. 871 และต่อมาพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ผู้เข้ามายึดอังกฤษในปี ค.ศ. 1066 อังกฤษจึงกลายเป็นชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมืองก่อนประเทศอื่นใดในยุโรป ซึ่งเป็นผลทำให้หน่วยการบริหารของอาณาจักรและคริสตจักรเป็นสถาบันใหญ่ อังกฤษแบ่งออกเป็นสองมุขมณฑลหลัก คือ มุขมณฑลแคนเทอร์เบอรีและมุขมณฑลยอร์กโดยต่างก็มีอาร์ชบิชอปเป็นของตนเอง ระหว่างสมัยกลางอังกฤษมีบิชอปไม่เกิน 17 องค์ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับฝรั่งเศสหรืออิตาลี[2]

ชีวิตอารามวาสีแบบเบเนดิกตินเข้ามาในอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 แต่มาเผยแพร่กันอย่างแพร่หลายหลังจากการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 นอกจากอารามเบเนดิกตินแล้วก็ยังมีแอบบีย์ของคณะซิสเตอร์เชียนบ้างแต่มักจะเป็นแอบบีย์ที่นิยมก่อตั้งอยู่ห่างไกลจากผู้คน และไม่ได้ยกฐานะเป็นมหาวิหาร ขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ของนอร์ม็องดีก็เข้ามาแทนสถาปัตยกรรมแซกซัน สิ่งก่อสร้างใหม่มีขนาดใหญ่และโล่งกว่าเดิม และมักจะเป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้าง (Complex) ตามแบบการสร้างอารามเช่นที่อารามกลูว์นี สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่มารู้จักกันในอังกฤษว่าสถาปัตยกรรมนอร์มันเริ่มวิวัฒนาการมามีลักษณะท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง[1][3]

เรลิกของอาร์ชบิชอปทอมัส เบ็กเก็ตนำความมีชื่อเสียงและความมั่งคั่งเป็นอันมากมาสู่มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในยุคกลางของการเป็นคริสต์ศาสนิกชนคือการสักการบูชานักบุญ ที่ทำได้โดยการแสวงบุญยังสถานที่ที่มี[เรลิก]]ของนักบุญที่ใดก็ได้ตามแต่จะต้องการ ฉะนั้นการได้ครอบครองเรลิกจึงเป็นวิธีหลักในการทำรายได้ให้แก่โบสถ์ ผู้มาแสวงบุญมักจะทำการบริจาคโดยหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือทางใจหรือการช่วยให้หายจากความเจ็บไข้จากเรลิกของนักบุญดังกล่าว

ในบรรดามหาวิหารที่ได้ประโยชน์จากเรลิกก็ได้แก่มหาวิหารเซนต์อัลบันที่เป็นเจ้าของเรลิกของนักบุญอัลบันปฐมมรณสักขีของอังกฤษ มหาวิหารริพพอนที่มีเรลิกของนักบุญวิลฟริดผู้ก่อตั้งมหาวิหาร มหาวิหารเดอรัมที่สร้างสำหรับเป็นที่บรรจุร่างของนักบุญคัธเบิร์ตแห่งลินดิสฟาร์นและนักบุญไอดัน มหาวิหารอีลีมีเรลิกของนักบุญเอเธลเรดา เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เป็นที่ฝังพระศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี และมหาวิหารชิกเชสเตอร์มีเรลิกของนักบุญริชาร์ดแห่งชิกเชสเตอร์

การมีเรลิกนักบุญต่าง ๆ ที่กล่าวเป็นการนำนักแสวงบุญมายังมหาวิหารเหล่านี้แต่เรลิกที่สำคัญที่สุดคือเรลิกนักบุญทอมัส เบ็กเก็ต อดีตอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีที่ถูกลอบสังหารโดยข้าราชสำนักในพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในปี ค.ศ. 1170 ที่ทำให้เบ็คเค็ทได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญ ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีจึงกลายเป็นจุดหมายที่ดึงนักแสวงบุญมาเป็นลำดับสองรองก็แต่การเดินทางไปแสวงบุญที่ซานติอาโกเดอคอมโพสเตลาในสเปน

ในคริสต์ทศวรรษ 1170 สถาปัตยกรรมกอทิกเริ่มเข้ามาในอังกฤษจากฝรั่งเศสโดยเริ่มที่แคนเตอร์บรีและเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมกันในอังกฤษต่อมาอีก 400 ปีบางครั้งก็จะมีการวิวัฒนาการที่คล้ายคลึงกับลักษณะของยุโรปภาคพื้นทวีป แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นลักษณะที่แตกหน่อออกไป ตามความแตกต่างของท้องถิ่นของสิ่งก่อสร้างและที่มา[2][4]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 การปฏิรูปศาสนานำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบการปกครองของมหาวิหาร คริสต์ศาสนสถานบางแห่งที่มีอยู่แล้วก็ได้รับเลื่อนขึ้นเป็นมหาวิหาร แต่บางแห่งก็ถูกทำลายหรือถูกทิ้งร้างเพราะการยุบอารามโดยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ระหว่างปี ค.ศ. 1537 ถึงปี ค.ศ. 1540 แอบบีย์เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ไกลจากชุมชนถูกปล้นล้าง เผา และ/หรือถูกละทิ้ง ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นสมัยของการบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างที่ยังคงเหลืออยู่หรือที่รอดมาจากการถูกทำลาย[2][5]

ระหว่างสมัยเครือจักรภพแห่งอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1649 ถึงปี ค.ศ. 1660 เป็นสมัยของการทำลายรูปสัญลักษณ์ และสิ่งตกแต่งต่าง ๆ ภายในคริสต์ศาสนสถาน เช่น รูปปั้นรูปสลัก ภาพเขียน อนุสรณ์ผู้ตาย และอื่น ๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกทำลายไปหรือทำให้เสียหายไปเป็นจำนวนมาก หน้าต่างประดับกระจกสีจากยุคกลางถูกทุบแตก รูปปั้นถูกทุบทิ้งหรือทำให้เสียหาย ภาพเขียนจากยุคกลางแทบหายไปจากคริสต์ศาสนสถานทุกแห่งในอังกฤษ อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่ปักอย่างงดงามก็ถูกเผา ถ้วยที่ใช้ทำพิธีศาสนาที่หลงเหลือมาจากสมัยการยุบอารามถูกหลอมเอาโลหะ ที่ทำให้ถ้วยที่สร้างก่อนหน้าการปฏิรูปศาสนาเหลืออยู่เพียง 50 ใบเท่านั้น[2][6]

เมื่อมาถึงสมัยการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษในปี ค.ศ. 1660 ก็มีการฟื้นฟูคริสต์ศาสนสถานบ้างเช่นมหาวิหารลิชฟิลด์โดยเซอร์วิลเลียม วิลสัน[1] และการตกแต่งและการสร้างอนุสรณ์อันหรูหราเพิ่มเติม การสูญเสียมหาวิหารเซนต์พอลเก่าไปในเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอนในปี ค.ศ. 1666 ก็เท่ากับเป็นการสร้างมหาวิหารใหม่ทั้งหมด มหาวิหารเซนต์พอลปัจจุบันเป็นสถาปัตยกรรมบาโรกที่ออกแบบโดยเซอร์คริสโตเฟอร์ เรน[2]

โดยทั่วไปแล้วตั้งแต่การปฏิรูปศาสนาเป็นต้นมา นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์ที่จำเป็น และการก่อสร้างอนุสรณ์ส่วนบุคคลแล้ว ก็แทบจะไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใดในสถาปัตยกรรมการก่อสร้างมหาวิหารในอังกฤษ การหยุดยั้งการวิวัฒนาการเกิดขึ้นเป็นเวลาราว 250 ปีที่เป็นผลทำให้สิ่งก่อสร้างเสื่อมโทรมเป็นอันมากลงจากการถูกละเลย ที่สร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างเช่นเมื่อยอดมหาวิหารชิเชสเตอร์พังทลายลงมาในปี ค.ศ. 1861[1][2]

เมื่อมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สถาปัตยกรรมสมัยกลางก็กลับมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งหนึ่ง ความซาบซึ้งในคุณค่าของสถาปัตยกรรมของยุคกลางของอังกฤษเริ่มขึ้นราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่เป็นผลทำให้มีการเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารหลายแห่งโดยสถาปนิกเจมส์ ไวแอ็ทท์ ความกระตือรือร้นของการบูรณปฏิสังขรณ์ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงคริสต์ทศวรรษ 1840 เมื่อกลุ่มนักวิชาการสองกลุ่มที่เรียกตนเองว่าสมาคมออกซฟอร์ด (Oxford Society) และสมาคมเคมบริดจ์แคมเดน (Cambridge Camden Society) ทั้งสองสมาคมประกาศว่าสถาปัตยกรรมแบบเดียวที่เหมาะสมในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานคือกอทิก จอห์น รัสคิน นักวิจารณ์ศิลปะเป็นอีกผู้หนึ่งที่สนับสนุนและเผยแพร่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับสมัยกลางอย่างเต็มตัว สถาปนิกออกัสตัส พิวจินผู้ออกแบบส่วนใหญ่ให้กับคริสตจักรโรมันคาทอลิกสร้างงานที่ไม่แต่เป็นโครงสร้างของคริสต์ศาสนสถานของสมัยกลางแต่ยังใช้การตกแต่งอันวิจิตรและเต็มไปด้วยสีสรรค์ภายในสิ่งก่อสร้างด้วย แต่ก็หายไปแทบทั้งสิ้นและเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งเช่นกระเบื้องไม่กี่แผ่นที่มหาวิหารวินเชสเตอร์ และมหาวิหารแคนเทอร์เบอรี หรือเพดานไม้ที่ทาสีอย่างละเอียดที่มหาวิหารปีเตอร์บะระ[3][7]

สมัยวิกตอเรียเป็นสมัยของการบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารและแอบบีย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ สิ่งก่อสร้างบางแห่งที่ยังสร้างค้างอยู่ก็ได้รับการก่อสร้างให้เสร็จ ที่รวมไปถึงการตกแต่งภายในเช่นหน้าต่างประดับกระจกสี สถาปนิกที่มีบทบาทในยุคนี้ก็ได้แก่จอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ (George Gilbert Scott), จอห์น ลัฟบะระ เพียร์สัน (John Loughborough Pearson) จอร์จ เฟรเดอริก โบดลีย์ (George Frederick Bodley) และ จอร์จ เอ็ดมันด์ สตรีท (George Edmund Street) [2][3]

เนื้อหา

หอประชุมนักบวชของมหาวิหารลิงคอล์นเป็นหอประชุมหลายเหลี่ยมหอแรกที่สร้างขึ้นในอังกฤษ เพดานพัดภายในระเบียงฉันนบถของมหาวิหารกลอสเตอร์ที่เป็นอารามเบเนดิกตินระหว่าง ค.ศ. 1022 ถึง ค.ศ. 1539ภาพพิมพ์มหาวิหารเซนต์พอลเก่า

มหาวิหารที่กล่าวถึงในบทความนี้รวมทั้ง: มหาวิหารบริสตอล, มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี, มหาวิหารคาร์ไล, มหาวิหารเชสเตอร์, มหาวิหารชิคเชสเตอร์, มหาวิหารเดอรัม, มหาวิหารอีลี, มหาวิหารเอ็กซิเตอร์, มหาวิหารกลอสเตอร์, มหาวิหารแฮรฟอร์ด, มหาวิหารลิชฟิลด์, มหาวิหารลิงคอล์น, มหาวิหารนอริช, มหาวิหารออกซฟอร์ด, มหาวิหารปีเตอร์บะระ, มหาวิหารริพพอน, มหาวิหารรอเชสเตอร์, มหาวิหารเซนต์อัลบัน, มหาวิหารซอลสบรี, มหาวิหารซัดเดิร์ก, มหาวิหารเซาท์เวล, มหาวิหารเวลล์ส, มหาวิหารวินเชสเตอร์, มหาวิหารวูสเตอร์ และมหาวิหารยอร์ก นอกจากนั้นก็ยังมีการอ้างอิงถึง เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และมหาวิหารเดิมของกรุงลอนดอนที่รู้จักกันว่ามหาวิหารเซนต์พอลเก่าสิ่งก่อสร้างจากยุคกลางที่ในปัจจุบันเป็นมหาวิหารในอังกฤษแต่เดิมเป็นคริสต์ศาสนสถานของนิกายโรมันคาทอลิกเพราะสร้างมาก่อนการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ ในปัจจุบันมหาวิหารเหล่านี้เป็นของคริสตจักรแห่งอังกฤษที่เป็นผลจากการเปลี่ยนมาเป็นศาสนาอย่างเป็นทางการของรัฐที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1534 ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8

มหาวิหารแบ่งเป็นสามกลุ่มตามระบบการบริหารเดิม:

โบสถ์อื่น ๆ ที่อยู่ในข่ายของเนื้อหาก็ได้แก่: มหาวิหารเซนต์พอลเก่า, มหาวิหารบาธ และแอบบีย์เบเนดิกตินแห่งโคเวนทรีที่ถูกทำลายไประหว่างการยุบอาราม มหาวิหารเซนต์พอลเก่าที่ปกครองโดยเคลอจีประจำมุขมณฑลถูกทำลายระหว่างอัคคีภัยครั้งใหญ่ในลอนดอน ค.ศ. 1666 และมาสร้างแทนด้วยสิ่งก่อสร้างใหม่ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นแบบบาโรกโดยเซอร์คริสโตเฟอร์ เรน มหาวิหารบาธเป็นมหาวิหารร่วมมุขมณฑลบาธและเวลล์สกับมหาวิหารเวลล์ส แม้ว่าจะเป็นวัดขนาดใหญ่แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมก็ไม่เทียมเท่ามหาวิหาร เช่นเดียวกับชาเปลคิงส์คอลเลจ หรือชาเปลเซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์ แอบบีโคเวนทรีเป็นมหารวิหารร่วมของมุขมณฑลลิชฟิลด์แต่มาถูกทำลายระหว่างการยุบอาราม โบสถ์เซนต์ไมเคิลซึ่งเป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชโคเวนทรีจึงกลายมาเป็นมหาวิหารโคเวนทรี แต่ก็มาถูกทำลายในปี ค.ศ. 1918 จากการถูกระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เหลือก็แต่หอสูงที่เป็นงานสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งในอังกฤษ มหาวิหารโคเวนทรีใหม่ที่ออกแบบโดยเซอร์แบซิล สเปนซ์ได้รับการสถาปนาใหม่ในปี ค.ศ. 1962 เป็นสิ่งก่อสร้างที่ผสานซากสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลือจากการถูกระเบิดกับสถาปัตยกรรมใหม่[1][2][8]

บทบาททางศาสนา

ดูบทความหลักที่: มหาวิหาร
กลุ่มนักร้องฝึกร้องเพลงสวดที่มหาวิหารยอร์กช่องทางเดินกลางของมหาวิหารลิงคอล์น

ในทางปฏิบัติแล้วมหาวิหารเป็นสถานที่สำหรับทำพิธีทางศาสนาฉะนั้นการก่อสร้างจึงเป็นไปตามความต้องการทางการใช้สอย ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางของมุขมณฑลของบิชอปโดยเป็นที่ตั้งของคาเทดรา นอกจากที่นั่งของมุขนายกประจำมุขมณฑลแล้วก็จะมีที่นั่งประจำตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ต่างที่รวมทั้งอธิการผู้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่มากที่สุดของมหาวิหาร ผู้อำนวยการด้านเพลงสวด (precentor) ผู้ดูแลสมบัติมีค่าของโบสถ์ (sacristan) อัครพันธบริกร (archdeacon) และนักบวชอื่น ๆ นักบวชเหล่านี้ที่เป็นนักบวชนอกระบบสำนักสงฆ์ที่เดิมเป็นสมาชิกของสำนักสงฆ์มาก่อน และมีหน้าที่ทางศาสนาทุกวัน ฉะนั้นมหาวิหารจึงมักจะมีคูหาชาเปลเล็ก ๆ หลายคูหาภายในตัวมหาวิหาร เพื่อใช้ในการทำพิธีที่เป็นการส่วนตัวหรือสำหรับกลุ่มผู้ศรัทธาย่อยๆ ในอังกฤษการสร้างชาเปลมักจะหันไปทางทิศตะวันออก ฉะนั้นแขนกางเขนของมหาวิหารในอังกฤษจึงมักจะยาวเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และบางครั้งถึงกับมีการสร้างกางเขนซ้อนเพื่อสามารถทำให้สร้างชาเปลที่หันไปทางตะวันออกได้มากขึ้น บริเวณหลักทางด้านตะวันออกสุดเป็นบริเวณสำหรับการทำพิธีและเป็นบริเวณสงฆ์[2]

พิธีศาสนาของมหาวิหารอังกฤษประกอบด้วยเพลงสวดที่เป็นเพลงสดุดีประจำวันและเพลงชาติที่ขับโดยคณะนักร้อง (Choir) ของมหาวิหารราวสามสิบคน ฉะนั้นทางด้านตะวันออกของหอกลางจึงเป็นที่ตั้งของที่นั่งนักดนตรีในบริเวณที่เรียกว่าบริเวณร้องเพลงสวด

ทางปลายด้านตะวันออกของบริเวณร้องเพลงสวดเป็นที่ตั้งของแท่นบูชาซึ่งเป็นที่ทำพิธีมหาสนัท บางครั้งบริเวณร้องเพลงสวดก็จะแยกจากช่องทางเดินกลางด้วยฉากหิน (Pulpitum) ที่มีออร์แกนตั้งอยู่ข้างบน[2]

ช่องทางเดินกลางของมหาวิหารตามปกติแล้วเป็นบริเวณภายในสิ่งก่อสร้างที่ใช้โดยและเปิดให้แก่ประชาชนผู้ศรัทธาและสาธารณชนอื่น ๆ ในมหาวิหารใหญ่ ๆ โดยเฉพาะมหาวิหารที่แบ่งด้วยฉากหินเช่นที่มหาวิหารยอร์ก ก็อาจจะมีแท่นบูชาอีกแท่นบูชาหนึ่งนอกบริเวณสงฆ์ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของช่องทางเดินกลางก่อนจะถึงบริเวณบริเวณร้องเพลงสวดที่ถือว่าเป็นเพรสไบเทอรี เพื่อที่จะให้เป็นที่ทำพิธีสำหรับผู้มีศรัทธาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้วช่องทางเดินกลางก็ยังใช้ในการเดินขบวนพิธี (procession) ภายในวัดด้วย

อุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งสำหรับการทำพิธีคือแท่นอ่าน (lectern) ที่เป็นที่ตั้งคัมภีร์ไบเบิล แท่นเทศน์ซึ่งเป็นที่สำหรับอธิการหรือนักบวชให้การเทศนาจากพระคัมภีร์ ทางด้านตะวันตกจะเป็นที่ตั้งของอ่างศีลจุ่มที่ใช้สำหรับพิธีบัพติศมาโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่เป็นสัญลักษณ์ในการรับเข้ามาเป็นคริสต์ศาสนิกชน อ่างบัพติศมามักจะทำด้วยหินและมักจะเป็นสิ่งที่เก่าที่สุดในมหาวิหารที่อาจสร้างมาตั้งแต่สมัยนอร์มัน

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ http://www.abtei-ottobeuren.de/ http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Bristol... http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Canterb... http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Carlisl... http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Chester... http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Chiches... http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Durham_... http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Ely_Cat... http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Exeter_... http://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Glouces...