ปัจจัยในการขยายตัวของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ ของ สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

ที่มา

วัดโรมาเนสก์ซานทคลิเมนต์ที่เมืองทอล (Taüll) ประเทศสเปน

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เผยแพร่ไปทั่วยุโรปในสมัยจักรวรรดิโรมัน ถึงแม้ว่านักประวัติศาสตร์ศิลปะในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะกล่าวว่าสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เป็นสถาปัตยกรรมที่ต่อเนื่องมาจากสถาปัตยกรรมโรมัน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ในช่วงเวลานั้นวิธีการสร้างสิ่งก่อสร้างของโรมันสูญหายไปเกือบหมดสิ้นจากทวีปยุโรปแล้วเมื่อมาถึงสมัยโรมาเนสก์ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของยุโรปซึ่งเกือบจะไม่ใช้วิธีก่อสร้างแบบโรมันนอกจากสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ยิ่งทางสแกนดิเนเวียวิธีก่อสร้างแบบโรมันมิได้เป็นที่รู้จักเลย

การก่อสร้างลักษณะโรมันกับสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์จึงเกือบจะไม่มีความเกี่ยวพันกันกันใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะมีบาซิลิกาใหญ่ๆ ที่สร้างในสมัยโรมันที่ยังใช้กันอยู่ในสมัยนั้นเป็นหลักฐาน สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของสถาปนิกในยุคกลางมิใช่สิ่งก่อสร้างของโรมันแต่เป็นบาซิลิการูปแปดเหลี่ยมแบบไบแซนไทน์ -- บาซิลิกาซานวิทาเล -- ที่เมืองราเวนนา ประเทศอิตาลี ดังเช่น ชาเปลพาเลไทน์ที่มหาวิหารอาเคิน (Palatine Chapel) ที่สร้างโดย จักรพรรดิชาร์เลอมาญ เมื่อปี ค.ศ. 800[4]

ไม่นานหลังจากที่สร้างมหาวิหารอาเคินแล้วก็มีการสร้างแอบบีเซนต์กอลล์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 แผนผังการก่อสร้างของสำนักสงฆ์แห่งนี้ยังอยู่ครบถ้วน ที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในบริเวณสำนักสงฆ์ ตัวตึกที่ใหญ่ที่สุดคือตัววิหารซึ่งเป็นผังแบบเยอรมนี ที่มีมุขทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกซึ่งจะไม่มีทำกันในภูมิภาคอื่น อีกลักษณะหนึ่งของตัวสำนักสงฆ์คือมีสัดส่วนที่เรียบ ทรงสี่เหลี่ยมตรงจุดตัดระหว่างทางเดินกลางกับแขนกางเขนเป็นผังที่ใช้เป็นรากฐานในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นของสำนักสงฆ์ ลักษณะเดียวกันนี้จะพบที่วัดเซนต์ไมเคิลที่ฮินเดสไฮม์ในเยอรมนี ที่สร้างราวร้อยปีต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1001 ถึงปี ค.ศ. 1030[4]

ขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ก็เกิดขึ้นทางด้านเหนือของประเทศอิตาลี บางส่วนของประเทศฝรั่งเศส และ ประเทศสเปน ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสำนักสงฆ์คลูนี สถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์แบบนี้เรียกว่า “โรมาเนสก์ยุคแรก” หรือ “โรมาเนสก์แบบลอมบาร์ด” ซึ่งจะมีลักษณะเด่นเช่นกำแพงหนา ไม่มีรูปปั้น แต่จะมีรายละเอียดตกแต่งสม่ำเสมอรอบโค้งที่เรียก “คาดลอมบาร์ด

การเมือง

วัดเซนต์ลอเรนซ์, แบรดฟอร์ด-ออน-เอวอน ซึ่งเป็นวัดโรมานาสก์แท้ที่มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากผังเดิมตั้งแต่สร้างมา

เมื่อวันคริสต์มาสปี ค.ศ. 800 จักรพรรดิชาร์เลอมาญทรงทำพิธีสวมมงกุฏเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าชาร์เลอมาญก็ยังมีอำนาจปกครองยุโรปต่อมา แต่ต่อมายุโรปก็เริ่มมีการแบ่งแยกเป็นราชอาณาจักร และ แคว้นเล็กแคว้นน้อยมากขึ้นและบางครั้งก็เกิดความขัดแย้งหรือบางครั้งก็รวมตัวกัน เช่นราชอาณาจักรเยอรมนีที่กลายมาเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือการรุกรานอังกฤษของดยุคแห่งนอร์ม็องดีผู้ต่อมาได้เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1066 เมื่อยึดครองอังกฤษได้พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ก็ทรงวางรากฐานสร้างความแข็งแกร่งเพื่อปัองกันการรุกรานโดยการสร้างปราสาทและคริสต์ศาสนสถานหรือซ่อมแซมคริสต์ศาสนสถานที่มีอยู่แล้วทั่วเกาะอังกฤษ

ในสมัยนั้นสิ่งก่อสร้างที่สร้างมาตั้งแต่สมัยโรมันในจักรวรรดิโรมันตะวันตกก็เสื่อมโทรมลงไปมาก กรรมวิธีการก่อสร้างก็สูญหายไป แต่การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างแบบโดมและการแกะสลักหินยังคงมีการทำกันอยู่ แต่ลวดลายวิวัฒนาการไปจากแบบโรมันไปเป็นแบบไบแซนไทน์ สถาปัตยกรรมที่มามีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมยุโรปตะวันตกสมัยนั้นก็คือวัดโดมที่คอนสแตนติโนเปิล ซึ่งมีอิทธิพลต่อสิ่งก่อสร้างในบางเมืองที่มีการติดต่อค้าขายผ่านสงครามครูเสด สิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลไบแซนไทน์ที่กล่าวนี้ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือมหาวิหารซานมาร์โค ที่เวนิส หรือมหาวิหารแซงต์ฟรงต์แห่งเพริกูซ์ในประเทศฝรั่งเศส[5]

ทวีปยุโรปในยุคกลางเป็นการปกครองระบบศักดินา (Feudalism) โดยกสิกรทำมาหากินกับที่ดินที่เป็นของขุนนางและยอมเป็นทหารเมื่อถูกเรียกตัว เป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้รับการพิทักษ์ ฉะนั้นถ้าขุนนางจะไปสงครามก็ระดมพลจากผู้ที่ขึ้นอยู่ในการปกครอง การสงครามนี้มิใช่แต่สงครามท้องถิ่น แต่อาจจะเป็นสงครามที่ต้องเดินทางข้ามทวีปยุโรปไปรบยังตะวันออกกลาง เช่นสงครามครูเสด สงครามครูเสดระหว่างปี ค.ศ. 1095 ถึง ปี ค.ศ. 1270 ทำให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนไปๆ มาๆ ระหว่างยุโรปและตะวันออกกลางเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการเคลื่อนย้ายก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือความรู้ทางช่าง โดยเฉพาะการก่อสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกราน และงานโลหะเพื่อทำอาวุธซึ่งแปลงมาเป็นการตกแต่งทางสถาปัตยกรรมได้ การเคลื่อนไหวของผู้คนที่รวมทั้งชนชั้นปกครอง ขุนนาง บาทหลวง ช่างฝีมือ และเกษตรกร ทำให้การก่อสร้างในยุโรปมีลักษณะใกล้เคียงกันโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นใด ที่เรียกกันว่า “แบบโรมาเนสก์”

ศาสนา

แอบบีเซนองค์ในประเทศฝรั่งเศส ล้อมรอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างจากหลายสมัยผังของแอบบีแซงต์กอลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 12 มีการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานกันขึ้นเป็นอันมาก [6] สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จำนวนมากทั้งเล็กและใหญ่ยังคงตั้งอยู่และยังคงใช้เป็นสถานที่สำหรับการสักการะกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ รวมทั้งคริสต์ศาสนสถานที่เป็นที่รู้จักกันเช่นวัดซานตามาเรียอินคอสเมดิน หรือหอศีลจุ่มซานจิโอวานนิที่ฟลอเร็นซ์ และ บาซิลิกาซานเซโนที่เวโรนาในประเทศอิตาลี

ตัวอย่างของคริสต์ศาสนสถานแบบโรมาเนสก์ในประเทศฝรั่งเศสก็ได้แก่แอบบีดามส์และแอบบีโอมส์ ที่มีชื่อเสียงที่เมืองค็อง นอกจากสำนักสงฆ์แล้วคริสต์ศาสนสถานประจำหมู่บ้านหรือท้องถิ่นทางเหนือของฝรั่งเศสจำนวนมากมีพื้นฐานมาจากสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์

ที่ประเทศสเปนจะพบวัดโรมาเนสก์ได้จากสำนักสงฆ์สำหรับนักแสวงบุญที่สร้างตามรายทางไปซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา และตัวมหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลาเองก็เป็นแบบโรมาเนสก์

ในอังกฤษมหาวิหาร 27 แห่งยกเว้น มหาวิหารซอลสบรี ซึ่งย้ายไปจากโอลด์เซรัม (Old Sarum) ล้วนแต่มีฐานเป็นแบบโรมาเนสก์ทั้งหมด และอีกหลายแห่งเช่น มหาวิหารแคนเตอร์บรีที่สร้างบนฐานแซ็กซอน[7][8] นอกจากมหาวิหารแล้ววัดประจำหมู่บ้านหรือท้องถิ่นในอังกฤษส่วนใหญ่ก็มีพื้นฐานมาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

ในประเทศเยอรมนียังมีคริสต์ศาสนสถานและสำนักสงฆ์ที่สร้างแบบโรมาเนสก์อยู่บ้างตามลุ่มแม่น้ำไรน์เช่นที่ไมนทซ์, เวิมส์ , สเปเยอร์ และแบมเบิร์ก โดยเฉพาะที่โคโลญที่ยังมีคริสต์ศาสนสถานแบบโรมาเนสก์ขนาดใหญ่ในเมืองที่ยังเหลืออยู่ โดยที่โครงสร้างยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

เมื่อมีการเผยแพร่ลัทธิศาสนาเช่นลัทธิออกัสติเนียนหรือลัทธิเบ็นนาดิคตินไปทั่วยุโรปก็มีการสร้างวัดแบบโรมาเนสก์ตามไปเช่นที่ อังกฤษ ประเทศโปแลนด์ ประเทศฮังการี สกอตแลนด์ สแกนดิเนเวีย ประเทศเซอร์เบีย และ ซิซิลี และอีกหลายแห่งที่สร้างในอาณาจักรครูเสด [9][10]

สำนักสงฆ์

เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 6 นักบุญเบ็นเนดิคก่อตั้งสำนักสงฆ์ลัทธิเบ็นนาดิคตินขึ้น ซึ่งเป็นระบบสำนักสงฆ์ที่นักบวชมาอยู่ด้วยกันอย่างชุมชนอิสระและปฏิบัติตามกฎของนักบุญเบ็นเนดิคที่เขียนไว้ สำนักสงฆ์ของลัทธิเบ็นนาดิคตินเผยแพร่ไปตั้งแต่อิตาลีจนไปทั่วยุโรป และไปนิยมกันมากที่สุดในอังกฤษ จากลัทธิเบ็นนาดิคตินก็ตามด้วยลัทธิคลูนี ลัทธิซิสเตอร์เชียน ลัทธิคาร์ทูเซียน ลัทธิออกัสติเนียน ลัทธิที่เกี่ยวกับสงครามครูเสดเช่น ลัทธิเซนต์จอห์น และลัทธิอัศวินเทมพลาร์

สำนักสงฆ์บางครั้งก็จะเป็นมหาวิหาร หรือมหาวิหารบางมหาวิหารก็จะไม่ขึ้นกับสำนักสงฆ์แต่จะเป็นแบบเซ็คคิวลาร์ ที่ปกครองโดยแคนนอน มหาวิหารสมัยนั้นเป็นสถาบันที่มีอำนาจมากในยุโรป พระสังฆราชหรือเจ้าอาวาสของสำนักสงฆ์สำคัญๆ จะมีความเป็นอยู่อย่างเจ้านาย นอกจากนั้นแล้วสำนักสงฆ์เป็นสถานศึกษาสำคัญหลายสาขาไม่เฉพาะแต่ศาสนา เช่นสำนักสงฆ์ลัทธิเบ็นนาดิคตินอาจจะสอนวิชาศิลปะด้วย นอกจากนั้นยังเป็นที่คัดลอกหนังสือสมัยก่อนที่จะมีโรงพิมพ์ แต่ผู้ที่อยู่ภายนอกสำนักสงฆ์ส่วนใหญ่จะไม่มีการศึกษา[2]

ภูมิภาคเบอร์กันดีในประเทศฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางของสำนักสงฆ์ วัดที่มีอำนาจเช่นแอบบีคลูนีเป็นวัดที่สำคัญในการวางรากฐานของการออกแบบสำนักสงฆ์อื่นๆ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมของคลูนีเอง แต่ตัวสำนักสงฆ์คลูนีในปัจจุบันเกือบจะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดใดเหลืออยู่ “คลูนี 2” ที่สร้างเมื่อ ค.ศ. 963 เป็นต้นมาก็ถูกทำลายไปหมด แต่ “คลูนี 3” ที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1088 ถึงปี ค.ศ. 1130 ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะการก่อสร้างซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปจนกระทั่งมาถึงสมัยเรอเนซองส์ มหาวิหารที่ยังเป็นรูปทรงโรมาเนสก์เดิมที่เหลืออยู่คือบาซิลิกาแซงต์แซร์แนง, ตูลูสในประเทศฝรั่งเศสที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1080 ถึงปี ค.ศ. 1120 แสดงให้เห็นลักษณะสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์ที่ดูเทอะทะและใช้โค้งตกแต่งง่ายๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า[4]

การแสวงบุญ และ สงครามครูเสด

แอบบีแซงต์ฟัวที่คองค์ส

สงครามครูเสดเป็นสงครามศาสนาระหว่างผู้นับถือคริสต์ศาสนาจากยุโรป และ ผู้นับถือศาสนาอิสลามในตะวันออกกลาง เนื่องจากผู้นับถือคริสต์ศาสนาต้องการยึดครองกรุงเยรูซาเลมซึ่งถือว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ศาสนา สงครามครูเสดทำให้คริสต์ศาสนิกชนเพิ่มความตื่นตัวทางด้านศาสนากันมากขึ้น โดยมีการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เจ้านายจากยุโรปที่กลับมาจากสงครามโดยปลอดภัยก็อาจจะสร้างวัดฉลองหรือขยายวัดเดิม หรือถ้าไม่กลับมาคนที่อยู่ข้างหลังก็อาจจะสร้างวัดให้เป็นอนุสรณ์

ผลพลอยได้จากสงครามครูเสดอีกอย่างหนึ่งมีการนำวัตถุมงคลของนักบุญหรืออัครสาวกกลับมาด้วย หรือวัดหลายวัดเช่นมหาวิหารแซงต์ฟรงต์แห่งเพริกูซ์ มีวัตถุมงคลของวัดเอง ขณะที่มหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลากล่าวว่าเป็นเจ้าของวัตถุมงคลของอัครสาวก ซานติอาโกเดอคอมโพสเตลาจึงกลายมาเป็นจุดหมายของการแสวงบุญที่สำคัญที่สุดในยุโรป นักแสวงบุญที่เดินทางไปแสวงบุญที่ซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา บางครั้งก็เดินเท้าเปล่าเพื่อเป็นการแสดงความสำนึกผิด เส้นทางแสวงบุญสายนี้เรียกว่า “เส้นทางเซนต์เจมส์” (Way of Saint James) ซึ่งเริ่มจากหลายประเทศทางตอนเหนือของยุโรปมาจนไปสิ้นสุดลงที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปนที่เป็นที่ตั้งของเมืองซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา

“ถนนเซ็นต์เจมส์” มีด้วยกันสี่สายที่ผ่านเมืองต่างๆ เช่น ชูมิเยร์ (Jumieges) , ปารีส, เวเซอเล (Vezelay) , คลูนี, อาร์ลส์ (Arles) ในประเทศฝรั่งเศส และ แซงต์กอล (St. Gall) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนมารวมกันที่เป็นสองสายที่เทือกเขาพิเรนีส และในที่สุดก็รวมเป็นสายเดียวเมื่อเข้าสู่ประเทศสเปน สำนักสงฆ์ที่อยู่บน “ถนนเซนต์เจมส์” เช่นมอยซัค (Moissac) , ทูลูส, คองค์ส, ลิมอชส์ หรือเบอร์โยส ก็ร่ำรวยขึ้นมาจากการค้าขายและการบริการนักแสวงบุญ วัดเช่นวัดที่แซงต์เบนัวท์ดูโซลท์ (Saint-Benoît-du-Sault) เป็นตัวอย่างของวัดที่สร้างเพื่อนักแสวงบุญบน“ถนนเซนต์เจมส์”[2][4]

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ http://www.circuloromanico.com http://t1.sw4i.com/cms/item/info/en/architecture.h... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Colonne.XI... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Dehio_I_31... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Durham_Cat... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Flint_Wall... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Groined_va... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Interieur_... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Nef.eglise... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Quadripart...