ประวัติ ของ สนธิ_ลิ้มทองกุล

สนธิ ลิ้มทองกุล (ชื่อเดิม ตั๊บ แซ่ลิ้ม) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่จังหวัดสุโขทัย ประเทศไทย ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่อพยพมาจากเกาะไหหลำ สนธิเป็นบุตรของวิเชียร แซ่ลิ้ม อดีตสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง และผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยหว่างผู่ กับไชย้ง แซ่ลิ้ม ทั้งคู่มาตั้งรกรากทำกิจการโรงพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์จีน จำหน่ายให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร

สนธิจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา รุ่น 18 รุ่นเดียวกับ ทนง พิทยะ หลังจากจบจากโรงเรียนประจำที่อัสสัมชัญศรีราชา สนธิก็ได้ถูกส่งตัวไปเรียนภาษาจีนที่ประเทศไต้หวัน พร้อมกับเรียนวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เป็นเวลาปีเศษ ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ ที่ยูซีแอลเอ เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์สเตต เมืองโลแกน รัฐยูทาห์[5] และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ ที่วิทยาลัยฮาร์ตวิคก์ เมืองโอนีโอนตา รัฐนิวยอร์ก และได้รับปริญญาสาขาประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังจบการศึกษาก็ได้ไปศึกษาต่อในสาขา MBA ที่ประเทศออสเตรเลีย ได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต และได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ การเมือง ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

ต่อมา สนธิได้บริจาคเงินสร้าง The Sondhi Limthongkul Center for Interdependence (The S.L. Center for Interdependence) ให้แก่วิทยาลัยฮาร์ตวิคก์[6]

สนธิสมรสกับจันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล (ช่องดารากุล) ชาวจังหวัดตรัง เมื่อ พ.ศ. 2516 อดีตผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 9 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) มีบุตรคือ จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารกิจการในเครือผู้จัดการ

สนธิทำงานเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย เมื่ออายุ 27 ปี จากนั้นได้ร่วมกับพร (หรือ พอล) สิทธิอำนวย ตั้งบริษัท Advance Media ในเครือพีเอสเอกรุ๊ป ออกหนังสือดิฉัน แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงได้ขายกิจการให้กับปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา สนธิกลับมาโดดเด่นอีกครั้งด้วยการตั้งบริษัท ตะวันออกแมกกาซีน ทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายเดือน เมื่อปี 2526 และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ จากความสำเร็จในการเป็นหนังสือแนวธุรกิจของผู้จัดการรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้สนธิ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2533 ต่อมาหุ้น MGR ถูกตลาดหลักทรัพย์แขวนป้ายระงับการซื้อขาย เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 สนธิได้ส่งมอบการบริหารธุรกิจในเครือผู้จัดการให้กับจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชาย[7]

ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ศาลล้มละลายกลางได้พิพากษาให้สนธิ ลิ้มทองกุลเป็นบุคคลล้มละลาย[8]

สนธิ เคยเป็นที่ปรึกษากลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และอาจารย์พิเศษ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า Media Mogul หรือ Media Tycoon ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2546 สนธิได้เขียนข่าวทำนายว่าเงินดอลล่าร์สหรัฐจะตกต่ำในปี พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลดการส่งออก[9] และขณะเดียวกันแนะนำให้ผู้คนลงทุน ด้วยการซื้อทองสะสมไว้

สนธิ ลิ้มทองกุล เคยอุปสมบท 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541 ที่วัดป่าสามัคคีศิริพัฒนารา จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีพระครูปภัศรคุณ (หลวงปู่ญาท่าน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และนับตั้งแต่นั้นมา สนธิก็ได้ไว้ผมสั้นเกรียน[10] และอีกครั้งที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระอุดมญาณโมลี เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[11] ได้ฉายา สนฺตจิตฺโต หรือ ผู้มีจิตสงบ

เหตุการณ์ 6 ตุลา และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นายสนธิขณะนั้นเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ได้เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อที่จะถ่ายรูปเหตุการณ์ โดยอ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ดาวสยามที่มีจุดยืนอยู่ข้างกลุ่มผู้ต่อต้านกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร และในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 นายสนธิได้พิมพ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับพิเศษ ขนาดแท็บลอยด์ออกเผยแพร่โดยไม่จำหน่ายภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้ผู้คนได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเรียกให้ออกมาชุมนุม จากนั้นนายสนธิได้อ้างว่าถูกคุกคามเอาชีวิตจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จึงได้เดินทางหนีออกนอกประเทศไป โดยมีความคิดถึงขั้นจะตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นที่ต่างแดนเพื่อต่อสู้ และก่อนออกเดินทางนายสนธิได้ออกเช็คฉบับหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชุมนุมด้วย[12]

ใกล้เคียง

สนธิ สนธิ บุญยรัตกลิน สนธิ ลิ้มทองกุล สนธิสัญญาแวร์ซาย สนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440 สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม สนธิสัญญาสันติภาพ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: สนธิ_ลิ้มทองกุล http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=98... http://www.managerradio.com/Radio/DetailRadio.asp?... http://www.naewna.com/news.asp?ID=81724 http://nationmultimedia.com/2007/01/15/headlines/h... http://nationmultimedia.com/2007/07/23/politics/po... http://nationmultimedia.com/option/print.php?newsi... http://blog.nationmultimedia.com/print.php?id=8872 http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.youtube.com/watch?v=QfzrFqn_GFc http://www.hartwick.edu/x11069.xml