ประวัติ ของ สนมเอกสี่ทิศ

สนมเอกสี่ทิศ คือนักนางสนมทั้งสี่คนในพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา อันได้แก่ ท้าวอินทรสุเรนทรจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ, ท้าวศรีจุฬาลักษณ์จากราชวงศ์พระร่วง, ท้าวอินทรเทวีจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช และท้าวศรีสุดาจันทร์จากราชวงศ์ละโว้-อโยธยา[2] โดยทั้งหมดนี้เป็นชื่อตำแหน่งหาใช่ชื่อตัว และเมื่อได้เป็นสนมเอกก็จะได้ชื่อใดชื่อหนึ่งตามกฎพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง[3] ซึ่งถูกตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[4]

ทั้งนี้นารีผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นสนมเอกนั้นหาได้เป็นสามัญชนคนธรรมดา แต่ต้องสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายที่ปกครองแว่นแคว้นรอบกรุงศรีอยุธยาที่ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาแล้ว ซึ่งเจ้าเมืองเหล่านั้นต้องถวายธิดาเข้าเป็นสนมเอกเพื่อสำแดงอำนาจของกษัตริย์อยุธยาที่มีพระราชอำนาจแผ่ไปยังทิศทั้งสี่[1][4][5][6] หากมีสนมเอกนางใดให้ประสูติกาลพระราชโอรสสืบพระราชสันตติวงศ์ได้ ก็จะมีสถานะที่สูงส่งกว่าสนมเอกอีกสามท่าน[2] ดังรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช สนมเอกนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ มีพระราชโอรสคือพระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์ นางจึงได้รับการยกย่องว่า แม่หยัวเมือง หรือ แม่ยั่วเมือง คือแม่อยู่หัวเมือง เทียบเป็นพระมเหสี[7] มีศักดิ์และสิทธิ์รองลงมาจากพระอัครมเหสีเท่านั้น[8]

ครั้นกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราชสำนักได้มีการสถาปนาตำแหน่งพระมเหสีแน่นอนแล้ว ตำแหน่งดังกล่าวจึงถูกลดเป็นเพียงตำแหน่งของสนมเอก[2]