สนมเอกสี่ทิศ ของ สนมเอกสี่ทิศ

ท้าวอินทรสุเรนทร

ท้าวอินทรสุเรนทร หรือสะกดว่า อินทรสุเรนทร์ หรือ อินสุเรน สุจิตต์ วงษ์เทศได้สันนิษฐานว่าเป็นสนมจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ตัวแทนของทิศตะวันตก ด้วยแคว้นสุพรรณภูมิตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานจากคำว่า "อินทร์" ซึ่งแพร่หลายในแคว้นสุพรรณภูมิ เช่นพระมหากษัตริย์ที่มาจากสุพรรณภูมิก็ว่า สมเด็จพระอินทราชา หรือ เจ้านครอินทร์, เจ้าเมืองเพชรบุรีและชัยนาทซึ่งอยู่ในปริมณฑลของแคว้นสุพรรณภูมิก็มีตำแหน่งว่า ออกพระศรีสุรินทฤๅไชย และออกพระสุรบดินสุรินทฤๅไชย ตามลำดับ ก็จะเห็นได้ว่ามาจากคำ สุร+อินทร เหมือนกัน[9]

ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายว่า น่าจะเป็นตำแหน่งสำหรับสตรีจากนครศรีธรรมราชหรือสุโขทัยเสียมากกว่า[10]

ท้าวศรีสุดาจันทร์

ท้าวศรีสุดาจันทร์ หรือสะกดว่า ศรีสุดาจัน จากราชวงศ์ละโว้-อโยธยา[11] เป็นสนมเอกแห่งทิศตะวันออก ด้วยภูมิสถานของแคว้นละโว้ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา[12]

ท้าวศรีสุดาจันทร์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดประวัติศาสตร์ไทยคือ นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระมเหสีในสมเด็จพระไชยราชาธิราชและขุนวรวงศาธิราช

ท้าวอินทรเทวี

ท้าวอินทรเทวี สุจิตต์ วงษ์เทศได้สันนิษฐานว่าเป็นสนมจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ตัวแทนแห่งทิศใต้ จากภูมิสถานของแคว้นนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา และยังสันนิษฐานว่าแคว้นนี้คงมีความสัมพันธ์กับแคว้นสุพรรณภูมิ โดยตำแหน่ง ท้าวอินทรเทวี นี้ ได้รับการเทียบเคียงกับ ขุนอินทรเทพ ซึ่งเป็นขุนนางจากนครศรีธรรมราช[13]

ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายว่าตำแหน่งดังกล่าวมีไว้สำหรับสตรีจากนครศรีธรรมราชหรือสุโขทัย[10]

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือสะกดว่า ศรีจุฬาลักษ หรือ ศรีจุฬาลักษณะ สุจิตต์ วงษ์เทศได้สันนิษฐานว่าเป็นสนมจากราชวงศ์พระร่วง เป็นตัวแทนแห่งทิศเหนือ จากภูมิสถานของแคว้นสุโขทัยตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงศรีอยุธยา ในจารึกสุโขทัยระบุว่าตำแหน่งนี้เดิมเป็นตำแหน่งมเหสีของกษัตริย์สุโขทัย ปรากฏท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระองค์หนึ่งในจารึกวัดบูรพาราม มีพระนามว่า "สมเด็จพระราชเทวี สรีจุฬาลักษณ์ อัครราชมหิศิเทพ ธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้า ผู้เป็นบาทบริจาริการัตนชายาแด่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช"[14] นอกจากนี้พระมหาธรรมราชาสุโขทัยโอรสพระยาลิไทพระองค์หนึ่งอภิเษกสมรสกับพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งมีพระชาติกำเนิดเป็นเจ้าหญิงในวงศ์สุพรรณภูมิ[15] มีพระโอรสสองพระองค์ คือรามราชากับอโสก[16] ครั้นเมื่อสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาแล้ว เชื้อพระวงศ์สุโขทัยจึงถูกปรับสถานะไปรับราชการในกรุงศรีอยุธยา ส่วนตำแหน่ง "ศรีจุฬาลักษณ์" จึงลดเป็นตำแหน่งสนมเอก[14]

ขณะที่พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ สันนิษฐานว่าตำแหน่งศรีจุฬาลักษณ์นี้น่าจะเป็นตำแหน่งสำหรับสตรีแห่งสุพรรณภูมิ โดยอ้างอิงถึงพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ในพระมหาธรรมราชาพระองค์หนึ่ง และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ล้วนแต่มีพื้นเพมาจากสุพรรณภูมิ[17]

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ถูกประหารจากการลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชา[18]

ใกล้เคียง