พระราชประวัติ ของ สมิงทอพุทธกิตติ

สมิงทอพุทธกิตติ เคยผนวชเป็นพระภิกษุศึกษาไตรเพทและพยากรณ์จนแตกฉานแล้วสึกออกมารับราชการ มองซวยเยนะระทาเจ้าเมืองหงสาวดีตั้งให้เป็นสมิงทอ[2] ภายหลังธอระแซงมูขุนนางเชื้อสายไทใหญ่ได้จับเจ้าเมืองหงสาวดีฆ่าเสีย แล้วถวายราชสมบัติแก่สมิงทอซึ่งเฉลิมพระนามเป็นพระเจ้าทอพุทธเกษี (อักษรพม่าสะกดว่าพุทธกิตติ) ส่วนธอระแซงมูได้รับแต่งตั้งเป็นพญาทะละ[3] ใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่า สมิงทอมีพระมเหสีสองพระองค์ คือนางเทพลิลาบุตรี ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นมเหสีฝ่ายซ้าย และนางพังพูเป็นมเหสีฝ่ายขวา[4] ส่วน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ว่า มเหสีฝ่ายซ้ายชื่อนางเทพลิลา ธิดาขององค์จันทร์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่วนมเหสีฝ่ายขวาชื่อนางคุ้ง ธิดากรมช้าง[5]

สมิงทอปรับตัวให้เข้ากับชีวิตของพระมหากษัตริย์ได้ยาก และเนื่องด้วยพระองค์มีเชื้อสายพม่าจึงมักไม่เต็มใจที่จะรับผิดชอบการปกครองหรือเป็นผู้บัญชาการกองทัพ และมักไม่อยู่ในเมืองหลวง[6] ส่วนใหญ่การปกครองจะให้อยู่ในการดูแลของพญาทะละ ทำให้พญาทะละคิดกบฏ

ต่อมาสมิงทอถูกพญาทะละยึดราชสมบัติ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1747 พระองค์จึงเดินทางไปยังแคว้นเชียงใหม่ และหนีเข้ามาในเขตอาณาจักรอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงให้รับตัวมาอยู่กรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อสมิงทอเริ่มมีพวกมากขึ้นก็ทรงไม่ไว้พระทัยจึงให้จำคุกไว้ จนกระทั่งพญาทะละส่งพระราชสาส์นมาขอให้ส่งตัวสมิงทอกับพรรคพวกกลับกรุงหงสาวดี แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเห็นว่าสมิงทอหนีตายมาพึ่งพระบารมี ไม่ควรส่งกลับไปตาย แต่เพื่อรักษาพระราชไมตรี[7]จึงให้เนรเทศลงสำเภาไปปล่อยที่เมืองกวางตุ้ง[8] ภายหลังพระองค์ได้เดินทางกลับเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง[9]:284–290 พระเจ้าเชียงใหม่องค์จันทร์โปรดให้สมิงทอประทับกับพระราชบุตรพระราชธิดาดังเดิม โดยพระราชทานราชกุลให้ว่า หม่องตาวงศ์ แต่ไม่อนุญาตให้ยกทัพไปตีเมืองมอญอีก ภายหลังสมิงทอได้ลาพระเจ้าเชียงใหม่ไปเข้ารับราชการเป็นขุนนางมอญในกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระราชธิดาได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้าในราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีบุตรีทรงพระนามว่าหม่อมทองคำหรือที่รู้จักกันในชื่อท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) พระมารดาของเจ้าจอมมารดาทิม[10]